ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทำปางสมาธิ ประทับอยู่บนขนดนาค เบื้องหลังมีพังพานนาคปรกไว้พระพักตร์เหลี่ยม สวมเครื่องทรงมากชิ้น ได้แก่ กุณฑลทรงตุ้มแหลม กระบังหน้าและรัดเกล้ากรวยอันประกอบด้วยชั้นลดหลั่นของแถวกลีบบัว เป็นหนึ่งในลักษณะเด่นของพระพุทธรูปศิลปะเขมรแบบบายน สวมกรองศอ พาหุรัด ทองพระกร แม้ว่าพื้นที่ระหว่างพระกรกับพระวรกายจะเจาะทะลุทำให้เกิดความรู้สึกว่าเปล่าเปลือย อันเป็นลักษณะเด่นของพระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ทว่ากลับปรากฏขอบจีวรเฉวียงพระอุระและชายจีวรสี่เหลี่ยมพาดอยู่บนพระอังสาซ้าย ภายในพระหัตถ์ขวามีตลับกลมวางอยู่ ขนดนาครองรับพระพุทธองค์มี 3 ชั้น ชั้นบนมีขนาดใหญ่ที่สุด จากนั้นจึงลดหลั่นขนาดลงตามลำดับ ตกแต่งลวดลายคล้ายเกร็ดงู นาคมี 7 เศียร รูปทรงดังสามเหลี่ยมหรือใบโพธิ์ เศียรกลางใหญ่ที่สุด เศียรด้านข่างทั้งหกมีขนาดเท่ากันโดยหันขึ้นหาเศียรกลาง
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรยืนตรงบนฐานหน้ากระดาน พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงคมเป็นสัน พระเนตรเบิกโพรง พระนาสิกและพระโอษฐ์สมส่วน สวมกุณฑลทรงตุ้มแหลม สวมกระบังหน้าและรัดเกล้ากรวยเทียบได้กับเทวรูปในศิลปะนครวัด กึ่งกลางของรัดเกล้ามีร่องรอยพระพุทธรูปซึ่งถูกกะเทาะรายละเอียดออก พระพุทธรูปที่รัดเกล้าทำให้เชื่อว่าประติมากรรมนี้เป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกติศวร เพราะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำพระองค์ โดยพระพุทธรูปนี้คือพระธยานิพุทธเจ้าอมิตาภะ ผู้บันดาลให้พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรถือกำเนิดขึ้นมาพระวรกายด้านบนเปล่าเปลือย พระวรกายด้านล่างสวมพตสั้น สลักลายเส้นตรงทำให้เหมือนเป็นผ้าอัดกีบ ชักชายผ้าเป็นวงโค้งบริเวณใต้พระอุทร และมีชายผ้าทรงคล้ายหางปลาพาดลงตรงกลาง ลักษณะผ้านุ่งดังกล่าวนี้เป็นรูปแบบของประติมากรรมในศิลปะแบบนครวัด พระกรทั้งสี่ถือสิ่งของต่างๆ ที่เป็นของประจำพระองค์ กล่าวคือ พระหัตถ์ขวาล่างถือดอกบัว พระหัตถ์ขวาบนถือประคำ พระหัตถ์ซ้ายล่างถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายบนถือสังข์
ประติมากรรมพระไภษัชยคุรุ
ประติมากรรมอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานที่ประดับลายกลีบบัว พระพักตร์ สวมมงกุฎอันประกอบด้วยกระบังหน้าและรัดเกล้ากรวยซ้อนชั้น สวมกุณฑลทรงตุ้มแหลม พระกรกายช่วงบนเปล่าเปลือย พระหัตถ์ทั้งสองประคองหม้อน้ำไว้ในตำแหน่งพระอุทร
ประติมากรรมพระไภษัชยคุรุ
ประติมากรรมอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานที่ประดับลายกลีบบัว พระพักตร์สี่เหลี่ยม สวมมงกุฎอันประกอบด้วยกระบังหน้าและรัดเกล้ากรวยซ้อนชั้น สวมกุณฑลทรงตุ้มแหลม พระกรกายช่วงบนเปล่าเปลือย พระหัตถ์แต่ละข้างถือวัชระโดยวางซ้อนกันบริเวณพระอุทร
ประติมากรรมพระไภษัชยคุรุ
ประติมากรรมอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานที่ประดับลายกลีบบัว พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระขนงทั้งสองข้างคมเป็นสันและเชื่อมต่อกัน พระเนตรเบิกโพรง แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย สวมมงกุฎอันประกอบด้วยกระบังหน้าและรัดเกล้ากรวยซ้อนชั้น สวมกุณฑลทรงตุ้มแหลม พระกรกายช่วงบนเปล่าเปลือย พระหัตถ์แต่ละข้างถือวัชระโดยวางซ้อนกันบริเวณพระอุทร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางสมาธิ
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว พระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระพักตร์แลดูสี่เหลี่ยม สีพระพักตร์สงบ พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงโก่งกว่าพระพุทธรูปศิลปะลพบุรีทั่วไป พระนาสิกและพระโอษฐ์สมส่วน มีพระอุณาโลมกลมอยู่กึ่งกลางพระนลาฏ ปรากฏแถบไรพระศกที่พัฒนามาจากกระบังหน้าคาดอยู่เหนือพระนลาฏ เป็นหนึ่งในจุดสังเกตที่สะท้อนถึงความแตกต่างไปจากศิลปะลพบุรีทั่วไป พระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะเป็นทรงกรวยแหลม ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิสลักนูนเด่นอยู่ในทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่พาดอยู่บนพระอังสาซ้าย ฐานบัวที่รองรับพระพุทธองค์ปรากฏแต่เพียงลายกลีบบัวหงาย
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบอยู่เหนือขนดนาค พระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระพักตร์สี่เหลี่ยม สีพระพักตร์เข้มขรึม พระเนตรเบิกโพรง สวมมงกุฎอันประกอบด้วยกระบังหน้าและรัดเกล้ากรวย สวมกุณฑลทรงตุ้มแหลมพระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือยสังเกตได้จากการปรากฏช่องทะลุระหว่างพระปรัศว์ (สีข้าง) กับพระกรทั้งสองข้าง ขณะเดียวกันก็ปรากฏลายเส้นสลักลึกเป็นรอยจีวรแบบห่มเฉียงและสังฆาฏิสี่เหลี่ยมใหญ่ เข้าใจว่าอาจสลักเพิ่มเติมภายหลัง พระวรกายช่วงล่างครองสบง นาคปรกเบื้องหลังพระเศียรอยู่ในโครงคล้ายใบโพธิ์ มี 7 เศียรโดยเศียรกลางมีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะที่เศียรด้านข้างข้างละ 3 เศียรมีขนาดเล็กกว่า ทั้งหมดหันหน้าเข้าหาเศียรกลาง ขนาดนาคที่รองรับพระพุทธองค์มี 3 ขนด โดยขนดบนมีความกว้างและหนาที่สุด จากนั้นจึงลดหลั่นขนาดลงมาทำให้เส้นรอบนอกเป็นทรงสอบ
สถาปัตยกรรมพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีฐานเขียง 2 ฐานเป็นฐานรองล่างในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม 3 ฐาน โดยฐานชั้นที่ 1 ปรากฏเพียงส่วนบนเท่านั้น มีการประดับด้วยสิงห์นั่งที่พื้น ถัดขึ้นมาคือนรสิงห์บนฐานรองล่าง ต่อด้วยปูรณะฆฏะ 2 ชั้น ด้านบนสุดประดับสถูปิกะ ถัดไปเป็นฐานสี่เหลี่ยมลบมุมต่อด้วยบัวปากระฆัง องค์ระฆังในผังกลมค่อนข้างเตี้ยมีรัดอกประดับลายกระทง ถัดขึ้นไปเป็นกลีบบัวรองรับปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลีสั้น ส่วนยอดสุดประดับฉัตร