ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมวัดศรีสวาย
ตั้งหันหน้าไปทางทิศใต้ มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กึ่งกลางกำแพงด้านทิศใต้มีซุ้มประตูเข้าออก 1 แห่ง ถัดเข้าไปเป็นวิหารโถงชั้นนอกต่อเนื่องด้วยวิหารทึบชั้นในในแนนวเหนือใต้ ถัดจากนั้นเป็นปราสาท 3 หลังเรียงกันในแนวตะวันตก-ตะวันออก หลังกลางสูงกว่าหลังที่ขนาบทั้งสองข้าง สภาพปัจจุบันแสดงให้เห็นร่องรอยการก่อสร้างและดัดแปลงมาแล้วหลายครั้ง ส่วนฐานนั้นจมดินอยู่ ก่อด้วยศิลาแลงมาจนถึงเรือนธาตุ แต่ส่วนหลังคาที่ซ้อนเป็นชั้นก่อด้วยอิฐ ประดับกลีบขนุนรูปครุฑยุดนาค เทวดา อัปสร นาคโคนกรอบซุ้ม ซึ่งคลี่คลายจากศิลปะเขมรผสมผสากับศิลปะสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีร่องรอยสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ได้แก่ แนวระเบียงล้อมรอบปราสาท ฐานอาคาร 3 หลังกระจายล้อมรอบปราสาทประธานพื้นที่ระหว่างกำแพงวัดและกำแพงแก้วมีสระน้ำอยู่ด้านหลังปราสาท ซึ่งในอดีตน่าจะเป็นรูปตัว U คว่ำ ต่อมาได้มีการถมบริเวณทิศตะวันตกและปรากฏวิหารน้อยก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง ด้านหน้าวิหารน้อยปรากฏฐานเจดีย์ 1 องค์ ส่วนด้านหลังกำแพงวัดด้านทิศเหนือยังปรากฏฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ค้นพบได้ในวัด ได้แก่ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แผ่นหินสลักรูปพระนารายณ์ประทับยืน พระพุทธรูปสำริดทรงเครื่อง กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18 จึงสันนิษฐานว่าเมื่อแรกสร้างวัดศรีสวายนี้เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์หรือพุทธมหายาน ต่อมาเมื่อสุโขทัยมีอำนาจเหนือขอมในพุทธศตวรรษที่ 19 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานพุทธเถรวาท
สถาปัตยกรรมปราสาทวัดเจ้าจันทร์
ประกอบด้วยปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมุม และมีปูนฉาบประดับตกแต่งผิว ฐานชั้นล่างสุดเป็นชุดบัวคว่ำ-บัวหงาย ที่เรือนธาตุมีซุ้มประกอบทั้งสี่ด้าน มีประตูทางเข้าด้านหน้าทางทิศตะวันออกเพียงทางเดียวด้านหน้ามีห้องสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ ส่วนด้านอื่นๆ ตกแต่งเป็นประตูหลอก ถัดขึ้นไปเป็นชุดเครื่องบนของปราสาทสอบคล้ายรูปพุ่มและมีกลศประดับเป็นเครื่องยอด ต่อมาในสมัยสุโขทัย ศาสนสถานแห่งนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา โดยการถมบริเวณโดยรอบของฐานปราสาท ทำให้ฐานชุดบัวคว่ำ-บัวหงายจมอยู่ใต้ดิน แล้วจึงสร้างวิหารศิลาแลงขึ้นที่ด้านหน้าของปรางค์ปราสาทพร้อมกับมณฑปศิลาแลงสำหรับประดิษฐานพระอัฏฐารศขึ้นทางทิศเหนือของปรางค์ ในมณฑปมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปยืนพระหัตถ์แนบลำพระองค์ ๑ องค์ หลังคาที่เป็นเครื่องไม้ได้ผุพังไป พบเพียงชิ้นส่วนของกระเบื้องดินเผาสำหรับมุงหลังคาตกกระจายอยู่โดยรอบ ต่อมากรมศิลปากรได้ขุดพบพระพิมพ์ทำด้วยชิน ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ และเมื่อขุดลึกลงไปอีกในระดับลึกพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เครื่องถ้วยหริภุญไชย ลูกปัดแก้ว และชิ้นส่วนโครงกระดูกคน
ประติมากรรมทับหลังแบบถาลาบริวัต
มีสภาพชำรุดโดยมีบางส่วนนั้นหักหายไป ส่วนที่เหลือนั้นแสดงภาพหัวมกรขนาดใหญ่คายวงโค้งออกมาหนึ่งวง วงโค้งนี้มีลายประคำประดับอยู่สองข้าง ตรงกึ่งกลางของทับหลังมีลายวงรูปไข่หรือวงรูปเหรียญขนาดใหญ่วงเดียวมีรูปครุฑยุดนาคอยู่ภายใน วงรูปเหรียญมีขอบขมวดเป็นลายก้นหอยแทนลายลูกประคำ ครุฑซึ่งอยู่ภายในวงรูปเหรียญนี้มีใบหน้าเหมือนบุคคลไว้ผมเป็นขมวด สวมตุ้มหูเป็นห่วงกลมขนาดใหญ่ รูปร่างอ้วนท้องพลุ้ย คาดเข็มขัดมีชายผ้าห้อยอยู่ด้านหน้าและใช้มือยุดนาคเศียรเดียวสองตัวด้วยมือแต่ละข้าง ส่วนขานั้นทำเลียนแบบขาของนกอยู่บนขอบวงรูปเหรียญ ทางเบื้องล่างใต้วงโค้งซึ่งออกมาจากปากของมกรและวงรูปเหรียญจำหลักเป็นลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงอุบะ โดยที่อุบะพวงกลางใต้วงรูปเหรียญมีขนาดใหญ่กว่าอุบะพวงอื่นๆ ซึ่งเป็นลายอุบะแบบเก่าที่นิยมใช้บนทับหลังแบบถาลาบริวัติรุ่นแรกๆ
ประติมากรรมหุ่นวังหน้า
โครงหุ่นแกะเหลาด้วยไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบาคว้านเจาะให้กลวงตลอดลำตัวเพื่อร้อยเชือกสำหรับชักให้อวัยวะบางส่วนเคลื่อนไหวได้หัวหุ่นโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อนเช่นเดียวกับตัวหุ่นแล้วปั้นเสริมรายละเอียดบนใบหน้าด้วยรักปิดกระดาษเขียนสีตัดเส้นวิธีเดียวกับหัวโขนส่วนคอของหุ่นมีก้านไม้เล็กๆ ต่อยาวลงไปทางช่องกลวงกลางลำตัวสำหรับบังคับหุ่นให้หันหน้าไปมาได้ขณะที่เชิดอวัยวะส่วนต่างๆของหุ่นยึดด้วยเชือกเส้นเล็กๆมีสายเชือกสำหรับชักหุ่นโดยปลายสายชักมีห่วงสำหรับคนเชิดสอดนิ้วบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหวหุ่นตัวพระที่สำคัญเช่นพระรามสีเขียวสวมชฎายอดบัดเครื่องประดับศีรษะหุ่นตัวพระมีทั้งชฎาเครื่องยอดและสวมกะบังหน้าประกอบกรรเจียกจอน เครื่องแต่งกายประกอบด้วยอินทรธนูสังวาลตาบทิศทับทรวงสวมสนับเพลาทับด้วยผ้าโจงมีผ้าห้อยหน้าผ้าห้อยข้างการแต่งกายของตัวพระคล้ายกับโขนหุ่นตัวนาง หากเป็นหญิงสูงศักดิ์เครื่องประดับศีรษะจะสวมชฎาหากเป็นยักษ์สวมรัดเกล้ายักษ์ที่มีศักดิ์ใช้รัดเกล้ายอดส่วนนางกำนัลใช้รัดเกล้าเปลว แต่งกายยืนเครื่อง นุ่งผ้าจีบยาวถึงข้อเท้า ห่มสไบสะพักสองบ่า สวมเครื่องประดับต่างๆ เช่นเดียวกับการแสดงโขนหุ่นตัวยักษ์มีการกำหนดศิราภรณ์ให้มียอดแตกต่างกันและมีสีกายรูปแบบของปากตาและอาวุธแตกต่างกัน โดยมีลักษณะเช่นเดียวกับการแสดงโขน เช่น ทศกัณฐ์กายสีเขียว หน้ายักษ์ตาโพลงปากแสยะเขี้ยวโง้ง เป็นต้น เช่นเดียวกับหุ่นลิงที่มีการกำหนดสีกายและลักษณะหัวโขนแตกต่างกันในแต่ละตัว
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน
ภาพพระราชพิธีในแต่ละเดือนเขียนขึ้นที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง โดยปรากฏอิทธิพลการเขียนภาพแบบตะวันตกแล้ว กล่าวคือ มีการใช้เส้นขอบฟ้า กำหนดมิติของภาพให้เกิดระยะที่ใกล้-ไกล ภาพทิวทัศน์ เช่น ท้องฟ้า ก้อนเมฆ ต้นไม้เขียนขึ้นโดยคำนึงถึงความสมจริง ภาพอาคารสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีมักเป็นพระมหาปราสาทและอาคารต่างๆที่มีอยู่จริงในพระบรมมหาราชวังและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ที่ประกอบด้วยป้อมและหมู่พระที่นั่งต่างๆ ซึ่งปัจจุบันไม่เหลือหลักฐานแล้ว ภาพการโล้ชิงช้าที่เสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ เป็นต้น ภาพบุคคลแต่งกายตามสถานภาพ มีทั้งที่เป็นทหารใส่เครื่องแบบที่พัฒนาการตะวันตก ภาพชาววังและชาวบ้านที่แต่งกายตามสมัยนิยม รวมทั้งชาวต่างชาติที่มีอยู่ในสังคมขณะนั้น การลงสีมีการแรเงา ไล่น้ำหนักสีอ่อนแก่ ภาพบุคคลมีขนาดเล็กเมือเทียบกับภาพสถาปัตยกรรม มีความพยายามเขียนภาพเหมือนบุคคลขนาดเล็กด้วย
สถาปัตยกรรมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นประติมากรรมลอยตัว สิ่งสำคัญคือ รัฐธรรมนูญซึ่งมีลักษณะเป็นสมุดไทยประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า สร้างด้วยทองแดง มีความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน ตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ รอบนอกลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบน อยู่ 4 ทิศ ที่โคนครีบ มีภาพปูนปั้นนูนต่ำ และมีรั้วเตี้ย ๆ กั้นโดยรอบลานอนุสาวรีย์ รั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมาเป็นเสาแล้วคล้องโซ่เชื่อมต่อกัน โดยองค์ประกอบต่างๆของอนุสาวรีย์มีความหมายดังนี้ 1.ครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2.พานทูนฉบับรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดป้อม กลางตัวอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน (ขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ตรงกับเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น และหมายถึง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) 3.ปืนใหญ่ที่มีปากกระบอกฝังลงในพื้นดินจำนวน 75 กระบอก รอบฐานของอนุสาวรีย์ที่มีโซ่เหล็กคล้องไว้ หมายถึง พ.ศ.2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนโซ่ที่คล้องไว้ด้วยกันหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ 4.ลายปูนปั้นนูนต่ำที่ฐานครีบทั้ง 4 เน้นถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎรตอนที่นัดหมายและแยกย้ายกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 5.พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร อ่างตรงฐานปีกทั้ง 4 ด้านเป็นรูปงูใหญ่ หมายถึง ปีมะโรงซึ่งเป็นปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง
สถาปัตยกรรมสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
อนุสาวรีย์ต่างๆ ในสุสานหลวงมีทั้งหมด 34 องค์อนุสาวรีย์ที่เป็นประธาน ได้แก่ สุนันทานุสาวรีย์, รังษีวัฒนา, เสาวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์ 1.สุนันทานุเสาวรีย์ เป็นอาคารโถงที่มีส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง บุด้วยโมเสคสีทอง เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดา 2. รังษีวัฒนา อาคารประธานเป็นผังแบบจตุรมุข ที่มีมุขกระสันเชื่อมไปยังมุขทิศเหนือและใต้ส่วนบนของมุขกลางเป็นเจดีย์ทรงระฆังบุด้วยโมเสคสีทองส่วนบนของมุขทิศเหนือและใต้เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีขาว เป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรังคารสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชโอรส พระราชธิดาและราชกุลในพระองค์ 3.เสาวภาประดิษฐานมีลักษณะเหมือนกับอนุสาวรีย์รังษีวัฒนา คืออาคารประธานเป็นผังแบบจตุรมุข ที่มีมุขกระสันเชื่อมไปยังมุขทิศเหนือและใต้ส่วนบนของมุขกลางเป็นเจดีย์ทรงระฆังบุด้วยโมเสคสีทองส่วนบนของมุขทิศเหนือและใต้เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีขาว เป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรังคารสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดา และราชกุลในพระองค์ 4.สุขุมาลนฤมิตร์เป็นอาคารโถงที่มีส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆังบุด้วยโมเสคสีทอง เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และเจ้าคุณจอมมารดาสำลี บุนนาคพร้อมทั้งพระประยูรญาติแห่งราชสกุลบริพัตร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ภายในพระอุโบสถเป็นแบบยุโรปผสมแบบไทย เพดานเป็นลายเครือเถาสีทอง ที่ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนเป็นรูปดอกไม้ร่วงสีทอง ระหว่างช่องหน้าต่างเป็นรูปอุณาโลมสลับด้วยรูปอักษร “จ”ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหนือซุ้มประตูกลางด้านในเป็นรูปตราแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกว่า ตราอาร์ม ประกอบด้วยสิ่งสำคัญต่างๆ ได้แก่ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ตราจักรีบรมราชวงศ์ รูปช้างเอราวัณ ช้างเผือก และกริชคด เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฉัตร 7 ชั้น ขนาบข้างโดยมีราชสีห์และคชสีห์ประคองผนังส่วนบนระหว่างเสาคูหาเขียนภาพพุทธประวัติ ซึ่งออกแบบโดยหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ช่างหลวงคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทำด้วยสำริดกะไหล่ทองเนื้อแปด ซึ่งเป็นทองคำจากเครื่องแต่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระเยาว์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี เบื้องบนเหนือองค์พระพุทธรูปมีนพปฎลมหาเศวตฉัตรซึ่งเคยกางกั้นพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใต้ฐานชุกชีของพระพุทธอังคีรสเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7