ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

คำสำคัญ : รัชกาลที่ 5, วัดราชบพิธ, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, สุสานหลวง, สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ชื่อเรียกอื่นสุสานหลวง
ชื่อหลักวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ชื่ออื่นวัดราชบพิธ
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลวัดราชบพิธ
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.749078
Long : 100.496708
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661821.16
N : 1520481.06
ตำแหน่งงานศิลปะทิศตะวันตกของวัด

ประวัติการสร้าง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์เป็นแม่กองก่อสร้างขึ้นในที่รอบๆ ชานกำแพงด้านทิศตะวันตกของวัด และเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2440 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้านิลวรรณ เป็นแม่กองก่อสร้างสืบต่อมา

ลักษณะทางศิลปกรรม

อนุสาวรีย์ต่างๆ ในสุสานหลวงมีทั้งหมด 34 องค์

อนุสาวรีย์ที่เป็นประธาน ได้แก่ สุนันทานุสาวรีย์, รังษีวัฒนา, เสาวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์

  • 1.สุนันทานุเสาวรีย์ เป็นอาคารโถงที่มีส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง บุด้วยโมเสคสีทอง เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดา
  • 2. รังษีวัฒนา อาคารประธานเป็นผังแบบจตุรมุข ที่มีมุขกระสันเชื่อมไปยังมุขทิศเหนือและใต้ส่วนบนของมุขกลางเป็นเจดีย์ทรงระฆังบุด้วยโมเสคสีทองส่วนบนของมุขทิศเหนือและใต้เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีขาว เป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรังคารสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชโอรส พระราชธิดาและราชกุลในพระองค์
  • 3.เสาวภาประดิษฐานมีลักษณะเหมือนกับอนุสาวรีย์รังษีวัฒนา คืออาคารประธานเป็นผังแบบจตุรมุข ที่มีมุขกระสันเชื่อมไปยังมุขทิศเหนือและใต้ส่วนบนของมุขกลางเป็นเจดีย์ทรงระฆังบุด้วยโมเสคสีทองส่วนบนของมุขทิศเหนือและใต้เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีขาว เป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรังคารสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดา และราชกุลในพระองค์
  • 4.สุขุมาลนฤมิตร์เป็นอาคารโถงที่มีส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆังบุด้วยโมเสคสีทอง เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และเจ้าคุณจอมมารดาสำลี บุนนาคพร้อมทั้งพระประยูรญาติแห่งราชสกุลบริพัตร
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุสานหลวงที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อเป็นสุสานหลวงแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ภายในสุสานหลวงเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคาร ของพระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา ตลอดจน พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา และพระราชปนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิดกันได้อยู่ร่วมกันหลังจากที่ได้ล่วงลับไปแล้ว รูปแบบสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์ต่างๆ ภายในสุสานหลวงแห่งนี้มีทั้งที่เป็นพระเจดีย์ พระปรางค์ พระวิหาร และอาคารต่างๆ ทั้งที่เป็นศิลปะแบบยุโรป ศิลปะแบบขอม และศิลปะแบบไทย ซึ่งนับเป็นแนวคิดและรูปแบบศิลปกรรมไทยที่มีความหลากหลายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่สำคัญในสุสานหลวง คือ พระเจดีย์สีทอง 4 องค์ ที่เป็นประธานของสุสานเรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ได้แก่ สุนันทานุสาวรีย์, รังษีวัฒนา, เสาวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์ ทรงสร้างอุทิศพระราชทานแก่พระมเหสีเทวี 4 พระองค์

ข้อสังเกตอื่นๆ

แต่เดิมสุสานหลวงมีพื้นที่ 4 ไร่กว่า ต่อมาในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และทางกรุงเทพมหานครได้ตัดถนนอัษฎางค์ซึ่งกินพื้นที่สุสานหลวงไปบางส่วน ปัจจุบันสุสานหลวงเหลือพื้นที่เพียง 2 ไร่ครึ่ง

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-01
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ตำนานสุสานหลวงและพรรณไม้ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม.

กรุงเทพฯ : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, 2551.

สุสานหลวง : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2536.