ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

หุ่นวังหน้า

คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, วังหน้า, รัชกาลที่ 5, รามเกียรติ์, หุ่นเล็ก, หุ่นวังหน้า, พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

ชื่อเรียกอื่นหุ่นเล็ก
ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ชื่ออื่นวังหน้า
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.757491
Long : 100.49217
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661323.86
N : 1521406.96
ตำแหน่งงานศิลปะพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

ผู้สร้างสมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ​
ประวัติการสร้าง

สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ไม้เนื้ออ่อนเป็นแกนหุ่น มีเชือกสำหรับชักส่วนต่างๆ ตกแต่งด้วยผ้า กระดาษ

ขนาดความสูงเฉลี่ยประมาณ 50 เซนติเมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

โครงหุ่นแกะเหลาด้วยไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบาคว้านเจาะให้กลวงตลอดลำตัวเพื่อร้อยเชือกสำหรับชักให้อวัยวะบางส่วนเคลื่อนไหวได้หัวหุ่นโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อนเช่นเดียวกับตัวหุ่นแล้วปั้นเสริมรายละเอียดบนใบหน้าด้วยรักปิดกระดาษเขียนสีตัดเส้นวิธีเดียวกับหัวโขนส่วนคอของหุ่นมีก้านไม้เล็กๆ ต่อยาวลงไปทางช่องกลวงกลางลำตัวสำหรับบังคับหุ่นให้หันหน้าไปมาได้ขณะที่เชิดอวัยวะส่วนต่างๆของหุ่นยึดด้วยเชือกเส้นเล็กๆมีสายเชือกสำหรับชักหุ่นโดยปลายสายชักมีห่วงสำหรับคนเชิดสอดนิ้วบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว

หุ่นตัวพระที่สำคัญเช่นพระรามสีเขียวสวมชฎายอดบัดเครื่องประดับศีรษะหุ่นตัวพระมีทั้งชฎาเครื่องยอดและสวมกะบังหน้าประกอบกรรเจียกจอน เครื่องแต่งกายประกอบด้วยอินทรธนูสังวาลตาบทิศทับทรวงสวมสนับเพลาทับด้วยผ้าโจงมีผ้าห้อยหน้าผ้าห้อยข้างการแต่งกายของตัวพระคล้ายกับโขน

หุ่นตัวนาง หากเป็นหญิงสูงศักดิ์เครื่องประดับศีรษะจะสวมชฎาหากเป็นยักษ์สวมรัดเกล้ายักษ์ที่มีศักดิ์ใช้รัดเกล้ายอดส่วนนางกำนัลใช้รัดเกล้าเปลว แต่งกายยืนเครื่อง นุ่งผ้าจีบยาวถึงข้อเท้า ห่มสไบสะพักสองบ่า สวมเครื่องประดับต่างๆ เช่นเดียวกับการแสดงโขน

หุ่นตัวยักษ์มีการกำหนดศิราภรณ์ให้มียอดแตกต่างกันและมีสีกายรูปแบบของปากตาและอาวุธแตกต่างกัน โดยมีลักษณะเช่นเดียวกับการแสดงโขน เช่น ทศกัณฐ์กายสีเขียว หน้ายักษ์ตาโพลงปากแสยะเขี้ยวโง้ง เป็นต้น เช่นเดียวกับหุ่นลิงที่มีการกำหนดสีกายและลักษณะหัวโขนแตกต่างกันในแต่ละตัว

สกุลช่างช่างวังหน้า
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

สมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างหุ่นเพื่อใช้ ประกอบการแสดงขึ้น 2 ชุด เป็นหุ่นไทยสำหรับแสดงเรื่องรามเกียรติ์ เขียนหน้าแบบเดียวกับการแสดงโขน และหุ่นจีนสำหรับแสดงเรื่องสามก๊ก เขียนหน้าหุ่นแบบการแสดงงิ้ว โดยประดิษฐ์หุ่นทั้ง 2 ชุดให้มีขนาดเล็กกว่าหุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่ที่มีขนาดความสูงประมาณ 1 เมตร เป็นหุ่นที่ใช้ในพระราชพิธีของหลวงมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงเรียกหุ่นชุดใหม่นี้ว่าหุ่นเล็ก หรือหุ่นวังหน้า หุ่นเล็กทุกตัวมีแกนไม้สำหรับให้ผู้เชิดถือเชิดอยู่ต่อจากส่วนล่างของโครงลำตัว มีสายเชือกร้อยต่อจากมือ ขา และแขน สำหรับชักให้ส่วนต่างๆ เคลื่อนไหวได้เช่นเดียวกับหุ่นหลวง หุ่นบางตัวมีกลไกในการชักมากกว่า 10 ตำแหน่ง รูปแบบของหุ่นเล็กที่เป็นหุ่นไทยมีทั้งที่เป็นหุ่นตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการแต่งกายยืนเครื่องและหัวโขนที่ใช้ประกอบการแสดงโขน

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

รามเกียรติ์, สามก๊กหุ่นหลวง, หุ่นละครเล็ก

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

หุ่นหลวง, หุ่นละครเล็ก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ศิริรัตน์ ทวีทรัพย์. หุ่นวังหน้า. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.

วันทนีย์ ม่วงบุญ. ลักษณะประติมานวิทยาของหุ่นเรื่องรามเกียรติ์ ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ. กรุงเทพฯ : สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ กรมศิลปากร, 2539