ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมหุ่นวังหน้า
โครงหุ่นแกะเหลาด้วยไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบาคว้านเจาะให้กลวงตลอดลำตัวเพื่อร้อยเชือกสำหรับชักให้อวัยวะบางส่วนเคลื่อนไหวได้หัวหุ่นโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อนเช่นเดียวกับตัวหุ่นแล้วปั้นเสริมรายละเอียดบนใบหน้าด้วยรักปิดกระดาษเขียนสีตัดเส้นวิธีเดียวกับหัวโขนส่วนคอของหุ่นมีก้านไม้เล็กๆ ต่อยาวลงไปทางช่องกลวงกลางลำตัวสำหรับบังคับหุ่นให้หันหน้าไปมาได้ขณะที่เชิดอวัยวะส่วนต่างๆของหุ่นยึดด้วยเชือกเส้นเล็กๆมีสายเชือกสำหรับชักหุ่นโดยปลายสายชักมีห่วงสำหรับคนเชิดสอดนิ้วบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหวหุ่นตัวพระที่สำคัญเช่นพระรามสีเขียวสวมชฎายอดบัดเครื่องประดับศีรษะหุ่นตัวพระมีทั้งชฎาเครื่องยอดและสวมกะบังหน้าประกอบกรรเจียกจอน เครื่องแต่งกายประกอบด้วยอินทรธนูสังวาลตาบทิศทับทรวงสวมสนับเพลาทับด้วยผ้าโจงมีผ้าห้อยหน้าผ้าห้อยข้างการแต่งกายของตัวพระคล้ายกับโขนหุ่นตัวนาง หากเป็นหญิงสูงศักดิ์เครื่องประดับศีรษะจะสวมชฎาหากเป็นยักษ์สวมรัดเกล้ายักษ์ที่มีศักดิ์ใช้รัดเกล้ายอดส่วนนางกำนัลใช้รัดเกล้าเปลว แต่งกายยืนเครื่อง นุ่งผ้าจีบยาวถึงข้อเท้า ห่มสไบสะพักสองบ่า สวมเครื่องประดับต่างๆ เช่นเดียวกับการแสดงโขนหุ่นตัวยักษ์มีการกำหนดศิราภรณ์ให้มียอดแตกต่างกันและมีสีกายรูปแบบของปากตาและอาวุธแตกต่างกัน โดยมีลักษณะเช่นเดียวกับการแสดงโขน เช่น ทศกัณฐ์กายสีเขียว หน้ายักษ์ตาโพลงปากแสยะเขี้ยวโง้ง เป็นต้น เช่นเดียวกับหุ่นลิงที่มีการกำหนดสีกายและลักษณะหัวโขนแตกต่างกันในแต่ละตัว
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์
จิตรกรรมแบบไทยประเพณีผสมผสานกับเทคนิคการเขียนภาพแบบสมัยใหม่ ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ได้แก่ ภาพบุคคลในเรื่องที่เป็นตัวละคนสำคัญแต่งกายยืนเครื่องเช่นเดียวกับการแต่งกายในการแสดงโขน กิริยาอาการอยู่ในท่านาฏลักษณ์ มีการปิดทองคำเปลวที่เครื่องทรงของตัวละครที่สำคัญ เป็นต้น ส่วนเทคนิคการเขียนภาพแบบใหม่ที่แตกต่างจากจิตรกรรมไทยประเพณี ได้แก่ การกำหนดเส้นขอบฟ้าและวางระยะของวัตถุในภาพทำให้เกิดมิติ การเขียนภาพเหมือนของอาคารสถานที่ที่มีอยู่จริง เช่น พระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง และการเขียนภาพทิวทัศน์ต่างๆ อย่างเหมือนจริง นอกจากนี้ ยังมีการสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตชาววัง ชาวบ้าน และอารมณ์ขันต่างๆ ผ่านตัวละครประกอบของเรื่อง จิตรกรรมฝาผนังมีทั้งสิ้น 178 ห้องภาพ ใต้ภาพมีโคลงเรื่องรามเกียรติ์ประกอบ รวมทั้งสิ้น 224 บท
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนัง หอไตรวัดระฆังโฆสิตาราม
จิตรกรรมฝาผนังมีรูปแบบอย่างจิตรกรรมไทยประเพณีที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา เขียนด้วยสีฝุ่นบนผนังพื้นไม้ มีลักษณะสำคัญ เช่น ใช้เส้นสินเทาคั่นฉาก โดยใช้สีแดงเป็นพื้นหลัง เพื่อขับเน้นให้ภาพบุคคลและวัตถุอื่นซึ่งมีสีอ่อนกว่าโดดเด่นขึ้น การเขียนภาพเป็นแบบระบายสีและตัดเส้น ภาพบุคลสำคัญใช้สีอ่อน ส่วนภาพบุคคลชั้นรองใช้สีเข้มกว่า
ประติมากรรมหน้าบันสลักภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ตอน โมกขศักดิ์
หน้าบันมีลักษณะยืดสูงเป็นทรงสามเหลี่ยม มีกรอบซุ้มเป็นซุ้มคดโค้ง กล่าวคือมีการทำกรอบโค้งเข้าโค้งออกอย่างสวยงาม ปลายกรอบซุ้มเป็นรูปนาคหลายเศียรตามแบบหน้าบันในสมัยพระนครตอนปลาย ตรงกลางหน้าบันปรากฏภาพสลักเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ตอน โมกขศักดิ์