ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมวัดมหาธาตุสุโขทัย
วัดมหาธาตุสุโขทัยตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย สภาพปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุมั่นคงถาวร เช่น อิฐ หิน ศิลาแลง พื้นที่วัดล้อมรอบด้วยแนวกำแพงสี่เหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศตะวันออกส่วนที่สำคัญที่สุดคือองค์พระมหาธาตุ ตั้งอยู่กึ่งกลางวัด เป็นเจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม หรือยอดทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แวดล้อมด้วยเจดีย์รายแปดองค์ ด้านหน้าเป็นวิหารหลวง ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ในตำแหน่งแกนกลางของวัด ทางทิศใต้ ตะวันตก และเหนือของแกนกลางนี้มีซากเจดีย์และซากฐานอาคารหลายหลังกระจัดกระจายอยู่ สำหรับอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านเหนือของบริเวณวัด
สถาปัตยกรรมพระสมุทรเจดีย์
พระสมุทรเจดีย์มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงที่มีช้างล้อม ถัดขึ้นไปเป็นฐานประทักษิณ 2 ฐาน ซึ่งมีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน จากนั้นเป็นชั้นฐานบัวคว่ำ บัวหงายที่ประดับบัวลูกแก้ว 2 เส้น ในผังกลม และประดับจระนำทั้งสี่ทิศที่ชั้นฐานนี้ จากนั้นจึงต่อด้วยชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายตามระเบียบของเจดีย์ทรงระฆังในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีชุดมาลัยเถา 3 ชั้น ชั้นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ 1 ชุด แทนตำแหน่งบัวปากระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนและเสาหาร ปล้องไฉนทรงกรวยและปลียอด ความสูงของพระสมุทรเจดีย์เป็นผลจากการที่องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีความสูง 2 ชั้น ซึ่งอยู่ในผังแปดเหลี่ยม มีบันไดทางขึ้น โดยฐานประทักษิณชั้นล่างเป็นฐานช้างล้อม การเพิ่มสัดส่วนความสูงด้วยชั้นฐานที่มากขึ้นนั้นเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลจากการที่พระสมุทรเจดีย์นั้นเดิมตั้งในบริเวณที่เป็นเกาะกลางน้ำจึงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องน้ำท่วม รวมทั้งเพื่อให้เป็นจุดสังเกตที่สำคัญในการสัญจร
สถาปัตยกรรมเขาคลังนอก
เขาคลังนอกเป็นเจดีย์ที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ไม่มีปูนฉาบหรือปูนปั้นประดับ เฉพาะองค์เจดีย์ประธานที่ตั้งอยู่บนลานยอดเท่านั้นที่ใช้อิฐเป็นวัสดุหลักเขาคลังนอกมีลักษณะเป็นฐานขนาดใหญ่ซ้อนชั้นกัน บนลานยอดสุดมีเจดีย์ 1 องค์ แผนผังของฐานขนาดใหญ่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จ 5 เก็จ โดยแต่ละด้านจะประกอบด้วยเก็จกึ่งกลางที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เก็จที่ขนาบเก็จกึ่งกลางมี 2 เก็จขนาดเล็กที่สุด และเก็จที่มุม 2 เก็จ ทุกด้านมีแนวบันไดทางขึ้นสู่ลานยอดพาดผ่านจากเก็จใหญ่ที่กึ่งกลาง ผนังของฐานมีลวดบัวหลายเส้นซ้อนลดหลั่นกัน โดยลวดบัวสำคัญที่แสดงถึงความเป็นศิลปะทวารวดี ได้แก่ บัววลัย หรือกลศ นอกจากนี้ยังประดับตกแต่งผนังของฐานด้วยวิมานหรือปราสาทจำลอง แต่ละด้านมีวิมาน 8 หลังประดับอยู่ที่เก็จขนาบเก็จกึ่งกลาง เก็จมุม และผนังระหว่างเก็จ รูปแบบของลวดบัวทำหนึกถึงลวดบัวในศิลปะปาละตอนต้น ในขณะที่วิมานทำให้นึกถึงศิลปะโจฬะตอนต้น ลานยอดมีเจดีย์ก่ออิฐ 1 องค์ สร้างด้วยอิฐแบบทวารวดีที่ผสมแกลบข้าวในเนื้ออิฐค่อนข้างมาก สภาพปรักหักพังจนศึกษารายละเอียดได้ลำบาก มีแนวหลุมเสากลมล้อมรอบเจดีย์แสดงว่าครั้งหนึ่งเคยมีหลังคาคลุมลานยอดนี้
สถาปัตยกรรมเขาคลังใน
เขาคลังนอกเป็นเจดีย์ศิลาแลง แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ มีบันไดทางขึ้นสู่ลานด้านบนทางทิศตะวันออกสภาพปัจจุบันปรักหักพังมาก หลักฐานที่เหลืออยู่เป็นเพียงส่วนฐานขนาดใหญ่ ไม่ทราบส่วนยอดที่แท้ตั้งหรือรูปแบบอาคารบนลานด้านบนว่าเป็นอย่างไร พบงานปูนปั้นประดับส่วนฐานบ้าง โดยเฉพาะทางด้านใต้ โดยปั้นเป็นรูปคนแคระแบกและพรรณพฤกษา
สถาปัตยกรรมพระประโทณเจดีย์
พระประโทณเจดีย์เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ฐานซ้อนชั้นซึ่งสร้างขึ้นแต่ครั้งทวารวดี และปรางค์ซึ่งตั้งอยู่ด้านบนสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และซ่อมแซมครั้งใหญ่หรือสร้างใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ฐานซ้อนชั้นมีแผนผังด้านล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นที่ด้านทั้งสี่ ถัดขึ้นมาเป็นฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมรวม 3 เก็จ องค์ประกอบสำคัญของฐานนี้ คือ บัววลัย และผนังที่ตกแต่งด้วยเสาเป็นระยะ ทำให้พื้นที่ระหว่างเสากลายเป็นช่องสี่เหลี่ยม เสาหรือช่องสี่เหลี่ยมนี้ซ้อนกัน 2 ชั้น โดยชั้นล่างใหญ่กว่าชั้นบน ถัดขึ้นไปเป็นฐานอีกชั้นหนึ่งซึ่งองค์ประกอบหลักไม่ต่างไปจากฐานด้านล่างนัก ยกเว้นทำยกเก็จ 2 ชั้น ฐานชั้นสุดท้ายซึ่งเดิมทีอาจเป็นส่วนเรือนธาตุประดับด้วยซุ้มจระนำเรียงรายโดยรอบ สำหรับปรางค์ที่อยู่ด้านบนสุดมีฐานแปดเหลี่ยมซ้อนชั้นกันต่อด้วยเรือนธาตุเพิ่มมุม ยอดมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกตั้งตรงขึ้นไป
สถาปัตยกรรมพระปฐมเจดีย์
พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลมที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบองค์เจดีย์ โดยมีวิหารทิศทั้ง 4 คั่นจังหวะ ได้แก่ วิหารทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปตอนประสูติ วิหารทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนตรัสรู้ วิหารทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปฐมเทศนา และวิหารทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปรินิพพาน องค์พระปฐมเจดีย์ประกอบด้วยส่วนฐานซึ่งเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถารองรับองค์ระฆังขนาดใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนที่มีเสาหาร ปล้องไฉน และปลียอดที่มีลักษณะอ้วนป้อม
สถาปัตยกรรมปรางค์สามยอด
พระปรางค์สามยอดเป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมรที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก มีหินทรายก่อเป็นหน้าบันและองค์ประกอบอื่นๆ อิฐสมัยกรุงศรีอยุธยานำมาก่อปิดช่องหน้าต่าง ปูนปั้นประดับหลุดล่วงเป็นส่วนใหญ่อาคารประธานเป็นปราสาทสามหลังเรียงตัวกันตามแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ละองค์เชื่อมต่อกันโดยฉนวน ทั้งสามหลังมีองค์ประกอบแบบเดียวกัน เพียงแต่องค์กลางสูงใหญ่กว่าเล็กน้อย แผนผังเพิ่มมุม ออกมุขที่ด้านทั้งสี่ ภายในปราสาทแต่ละหลังมีแท่นฐานประดิษฐานรูปเคารพ แต่รูปเคารพเดิมเคลื่อนย้ายหมดแล้ว หลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ต่อด้วยบัวกลุ่ม นภศูลหักหายไปแล้ว ด้านหน้าปราสาทองค์กลางมีวิหารก่ออิฐแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ก่อประตูเป็นวงโค้ง
สถาปัตยกรรมปรางค์แขก
ปรางค์แขกเป็นปราสาทอิฐ 3 หลังวางเรียงกันตามแนวเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังกลางมีความสูงและใหญ่กว่าอีก 2 หลัง จากการขุดตรวจโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง ได้พบว่าปราสาททั้งสามหลังตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกันปราสาททั้ง 3 หลังมีรูปแบบทำนองเดียวกัน คือ แผนผังเพิ่มมุม ทางด้านตะวันออกเป็นประตูสู่ครรภคฤหะ ผนังด้านเหนือ ใต้ และตะวันตก เป็นประตูหลอก เหนือเรือนธาตุเป็นหลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน ปูนฉาบหลุดล่วงออกไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ทางด้านหน้าหรือทิศตะวันออกของปราสาทหลังกลางมีวิหารก่ออิฐผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำซุ้มประตูทรงโค้งแหลมหรือ Pointed Arch ทางด้านใต้ของวิหารมีอาคารที่เชื่อว่าเป็นถังเก็บน้ำตั้งอยู่