ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ปรางค์แขก

คำสำคัญ : ปราสาทหิน, ปราสาทเขมร, ปรางค์แขก, ลพบุรี, ศิลปะเขมรในประเทศไทย

ชื่อหลักปรางค์แขก
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลท่าหิน
อำเภอเมือง
จังหวัดลพบุรี
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.802295
Long : 100.611642
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 673441.76
N : 1637082.54
ตำแหน่งงานศิลปะกลางศาสนสถาน

ประวัติการสร้าง

ไม่พบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบศิลปกรรมที่พบจากปราสาทประธาน 3 หลัง เช่น การทำเสาอิงหรือเสาหลอกที่มุมประธาน การทำซุ้มประดิษฐานรูปเคารพภายในครรภคฤหะโดยซุ้มประกอบด้วยวงโค้งสามวง เป็นรูปแบบที่พบได้ในปราสาทเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 จึงเชื่อว่าปรางค์แขกคงสร้างขึ้นในระยะเวลานี้

จากนั้นมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีการเสริมอิฐที่ปราสาททั้งสาม สร้างวิหารทางด้านหน้า และสร้างอาคารเก็บกักน้ำ ทั้งนี้สำหรับปราสาทหลังเหนือมีนักวิชาการบางท่าน เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง ให้ความเห็นว่าน่าจะสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในสมัยกรุงศรีอยุธยาบนแทนที่ปราสาทหลังเดิมที่พังทลายไปแล้ว
ประวัติการอนุรักษ์

ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 27 กันยายน พ.ศ. 2478

ปราสาทหลังนี้ผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2494 มีการเสริมความมั่นคงด้วยการเทคอนกรีตเสริมเหล็กค้ำยันไว้ เพราะเกิดการแยกของอิฐทำให้ผนังเรือนธาตุบริเวณประตูทางเข้าปราสาทองค์กลาง ก่อนจะมีการบูรณะอีกครั้งในปีพ.ศ. 2504 โดยใช้ปูนสอในส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมให้มีสภาพดังเดิม และใช้เหล็กเส้นขนาดใหญ่รัดโดยรอบองค์ และมีการบูรณะอีกครั้งในระหว่างปีพ.ศ. 2521 – 2522 มีการขุดแต่งรอบๆฐานทั้งหมดและเสริมความมั่นคงของรากฐานปราสาทโดยเทคอนกรีตเสริมเหล็กไว้ บริเวณฐานและเรือนธาตุได้มีการรื้ออิฐที่ชำรุดออกและก่อเสริมเข้าไปใหม่โดยใช้ปูนสอ บริเวณเสาติดผนังได้เสริมแกนเหล็กภายใน สำหรับส่วนบน เช่น หน้าบันและยอดได้ทำการซ่อมแซมโดยใช้ปูนสอและก่อกลีบขนุนที่หักหายไปขึ้นใหม่
ลักษณะทางศิลปกรรม

ปรางค์แขกเป็นปราสาทอิฐ 3 หลังวางเรียงกันตามแนวเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังกลางมีความสูงและใหญ่กว่าอีก 2 หลัง จากการขุดตรวจโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง ได้พบว่าปราสาททั้งสามหลังตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน

ปราสาททั้ง 3 หลังมีรูปแบบทำนองเดียวกัน คือ แผนผังเพิ่มมุม ทางด้านตะวันออกเป็นประตูสู่ครรภคฤหะ ผนังด้านเหนือ ใต้ และตะวันตก เป็นประตูหลอก เหนือเรือนธาตุเป็นหลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน ปูนฉาบหลุดล่วงออกไปแล้วเป็นส่วนใหญ่

ทางด้านหน้าหรือทิศตะวันออกของปราสาทหลังกลางมีวิหารก่ออิฐผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำซุ้มประตูทรงโค้งแหลมหรือ Pointed Arch ทางด้านใต้ของวิหารมีอาคารที่เชื่อว่าเป็นถังเก็บน้ำตั้งอยู่
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ปราสาทปรางค์แขกเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรในภาคกลางที่เก่าแก่ที่สุด กำหนดอายุได้ราว พ.ศ. 1450-1500 หรือหลังจากนี้เล็กน้อย เป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าระยะเวลานั้นวัฒนธรรมและอาจเป็นเรื่องการเมืองจากกัมพูชาได้เข้ามายังภาคกลางของไทยแล้ว โดยลพบุรีน่าจะเป็นเมืองแรกที่อยู่ภายใต้กระแสธารทางวัฒนธรรมดังกล่าวชัดเจนที่สุด

พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาเมื่อปีขาล พ.ศ. 2421 เรียกศาสนสถานแห่งนี้ว่า “เทวสถาน” พระองค์ทรงพรรณนาไว้ว่า “...ที่เทวสถานนั้นก่อเปนปรางค์อยู่สามยอดเหมือนกัน แต่ไม่ได้ชักถึงกัน พื้นต่อแต่ช่องประตูก่ออุดเสียสามด้าน เปิดไว้ด้านเดียว ในพระปรางค์องค์กลางตามผนังข้างในก่อชักอิฐเปนคูหา ผนังไม่ได้ถือปูน ก่ออิฐแล้วขัดเรียบเหมือนกระเบื้องหน้าวัวไม่เห็นปูน ตั้งแต่ใต้เพดานจนถึงพื้น บนเพดานขึ้นไปก่อตามธรรมเนียม เพดานนั้นยังเหลืออยู่บ้าง ใช้พื้นทาสีดาวจำหลักลายปิดทอง ที่ในกลางปรางค์มีถานก่ออิฐขึ้นไปสูงประมาณศอกหนึ่ง ศิลารางโม่วางอยู่ครึ่งแท่งเปนของหักกลาง อีกแผ่นหนึ่งนั้นไปทิ้งอยู่ที่ประตูทางที่จะเข้าในปรางค์ เห็นจะเปนพระศิวลึงค์ตั้งบนรางโม่ใหญ่ทีเดียว แต่พระศิวลึงค์นั้นหายไปหาเห็นไม่ เทวสถานนี้เห็นจะเปนของเก่าสำหรับเมืองลพบุรีสืบมาแต่โบราณ ริมเทวสถานมีหอพื้นสองชั้นเปนฝีมือเดียวกันกับวังอยู่ริมนั้น อีกหอหนึ่งเห็นจะเปนหอเชือกหรือโรงพิธีพราหมณในการคชกรรม...”

สำหรับชื่อ “ปรางค์แขก” เป็นชื่อที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกขานกันมานานแล้วเช่นกัน เห็นได้จากบันทึกของพันตรี ลูเนต์ เดอ ลาฌองกีแยร์ ที่ทำขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, เขมรในประเทศไทย
อายุพ.ศ.1450-1500 หรือหลังจากนี้เล็กน้อย
ศาสนาพราหมณ์

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-08-21
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม, ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.

สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง, “ปรางค์แขกเมืองลพบุรีกับประเด็นศึกษาใหม่,” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า, ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.