ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปรางค์สามยอด
คำสำคัญ : ปรางค์, พระปรางค์สามยอด, พระเจ้าชัยวรมันที่ 7, ลพบุรี, ศิลปะเขมรในประเทศไทย, พระนารายณ์มหาราช
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | ปรางค์สามยอด |
ชื่ออื่น | - |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ท่าหิน |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | ลพบุรี |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 14.803001 Long : 100.614006 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 673695.65 N : 1637162.51 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กลางศาสนสถาน |
ประวัติการสร้าง | ไม่พบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากวัสดุที่ใช้ศิลาแลงเป็นหลัก ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ซึ่งเป็นวัสดุที่พบได้ในปราสาทเขมรในดินแดนไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงเชื่อว่าพระปรางค์สามยอดน่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลานี้เช่นกัน ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีการบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม และสร้างวิหารทางด้านหน้าขึ้น |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 27 กันยายน พ.ศ. 2478 ได้รับการบูรณะในปีพ.ศ. 2536 โดยสภาพโบราณสถานก่อนการบูรณะตัวปราสาทมีรอยร้าวในแนวดิ่งและรอยแยกออกจากกันของศิลาแลง มีการชำรุดเห็นได้ชัด มีการเหลื่อมตัว การทรุดเอียงเล็กน้อยเนื่องจากได้รับแรงสั่นสะเทือนจากรถยนต์และรถไฟ |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระปรางค์สามยอดเป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมรที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก มีหินทรายก่อเป็นหน้าบันและองค์ประกอบอื่นๆ อิฐสมัยกรุงศรีอยุธยานำมาก่อปิดช่องหน้าต่าง ปูนปั้นประดับหลุดล่วงเป็นส่วนใหญ่ อาคารประธานเป็นปราสาทสามหลังเรียงตัวกันตามแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ละองค์เชื่อมต่อกันโดยฉนวน ทั้งสามหลังมีองค์ประกอบแบบเดียวกัน เพียงแต่องค์กลางสูงใหญ่กว่าเล็กน้อย แผนผังเพิ่มมุม ออกมุขที่ด้านทั้งสี่ ภายในปราสาทแต่ละหลังมีแท่นฐานประดิษฐานรูปเคารพ แต่รูปเคารพเดิมเคลื่อนย้ายหมดแล้ว หลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ต่อด้วยบัวกลุ่ม นภศูลหักหายไปแล้ว ด้านหน้าปราสาทองค์กลางมีวิหารก่ออิฐแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ก่อประตูเป็นวงโค้ง |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระปรางค์สามยอดเป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมรที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดลพบุรี เป็นตัวอย่างงานในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่สำคัญที่สุดตัวอย่างหนึ่ง และยังสะท้อนให้เห็นได้ว่าเมืองลพบุรีหรือละโว้มีความสำคัญมากในรัชกาลของพระองค์ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงสันนิษฐานว่าภายในปราสาทหลังกลางประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก หลังใต้ประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หลังเหนือประดิษฐานนางปรัชญาปารมิตา |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | เขมรในประเทศไทย |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 18 รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | มหายาน |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนามหายาน |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-08-21 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ศิลปากร, กรม, ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532. สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547. |