ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนัง หอไตรวัดระฆังโฆสิตาราม
จิตรกรรมฝาผนังมีรูปแบบอย่างจิตรกรรมไทยประเพณีที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา เขียนด้วยสีฝุ่นบนผนังพื้นไม้ มีลักษณะสำคัญ เช่น ใช้เส้นสินเทาคั่นฉาก โดยใช้สีแดงเป็นพื้นหลัง เพื่อขับเน้นให้ภาพบุคคลและวัตถุอื่นซึ่งมีสีอ่อนกว่าโดดเด่นขึ้น การเขียนภาพเป็นแบบระบายสีและตัดเส้น ภาพบุคลสำคัญใช้สีอ่อน ส่วนภาพบุคคลชั้นรองใช้สีเข้มกว่า
สถาปัตยกรรมหอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม
หอไตรวัดระฆังโฆสิตารามเป็นเรือนแฝด 3 หลัง อย่างเรือนไทยโบราณเครื่องสับฝาปะกน ฝาเรือนภายในเรียบเสมอกันเหมาะแก่การเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ตัวเรือนยกพื้น มีใต้ถุนสูง ประตูเรือนเป็นไม้แกะสลักรูปนกวายุภักษ์จับลายกระหนก พื้นปูไม้กระดานขนาดใหญ่ ช่องหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ หย่องหน้าต่างเป็นลูกมะหวดกลึง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ปั้นลมโบกปูนหุ้มไว้ ไม่ประดับเครื่องลำยอง มีชานชาลายื่นออกมาที่ด้านหน้าเรือนต่อกับบันไดทางขึ้น ชานชาลามีซุ้มประตูและบานประตูไม้แกะสลักเป็นลายกระหนกและนาคพัน ปิดทองประดับกระจก คันทวยรับชายคาสลักเป็นรูปนาคปิดทองประดับกระจก เช่นเดียวกับกรอบหน้าต่างและลูกกรงหน้าต่าง
สถาปัตยกรรมพระตำหนักแดง
ตำหนักแดงมีลักษณะเป็นตำหนักหลังเดียว ความยาว 7 ห้อง มีเฉลียงที่ด้านหน้า มีเสารองรับชายคาจำนวน 15 ต้น หลังคาชั้นเดียวไม่มีมุขลด ทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันกรุด้วยไม้แบบลูกฟักหน้าพรหม กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ฝาเรือนเป็นฝาปะกนลูกฟัก บานประตูหน้าต่างมีอกเลา ลักษณะเด่นของตำหนักแดงคือ พระแกลหรือหน้าต่างที่มีฐานสิงห์ประกอบอยู่ที่ตอนล่าง ซึ่งจะไม่ปรากฏในเรือนสามัญชน รูปแบบของพระตำหนักแดงเป็นตัวอย่างสำคัญของพระตำหนักที่ประทับที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ประติมากรรมเสาชิงช้า
เสาชิงช้าตั้งอยู่บนฐานกลมมีบันไดทางขึ้น ตัวเสาประกอบด้วยเสาหลัก 2 ต้น แต่ละต้นขนาบด้วยเสาตะเกียบหัวเม็ดทรงมัณฑ์ที่โคนต้นละ 2 เสา ด้านบนมีแนวคานสำหรับคล้องชิงช้า ส่วนบนสุดประดับยอดเกี้ยวหูช้างแกะสลักเป็นลวดลายดอกพุดตานและพรรณพฤกษา ทาสีแดงชาดโดยตลอด
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารยกพื้นสูง มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ช่อง ซุ้มประตูทรงบรรพแถลง มีเสาพาสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคารและมีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองรองรับชายคา เครื่องหลังคาประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีคอสองหรือผนังที่คั่นจังหวะหลังคาออกเป็น 2 ส่วน หน้าบันพระที่นั่งทำด้วยไม้แกะสลักรูปพระพรหมสถิตในวิมาน 3 หลัง แวดล้อมด้วยลายกระหนกใบไม้ม้วนและเทพนม ปิดทองประดับกระจก
สถาปัตยกรรมวัดบวรสถานสุทธาวาส
พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาสเป็นอาคารแบบไทยประเพณี ก่ออิฐถือปูน แผนผังแบบจัตุรมุข มีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคาร เครื่องหลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องสีเขียวและส้ม ประดับช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และนาคเบือน หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ปิดทองประดับกระจกสี ตัวอาคารมีทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ด้านตะวันออก เหนือ และใต้ ด้านละ 3 ประตู ส่วนด้านตะวันตกมี 2 ประตู บานประตูหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักลายแก้วชิงดวง ปิดทองประดับกระจก ซุ้มเหนือของประตูประดับด้วยลวดลายปูนปั้น โดยรอบพระอุโบสถมีลานระเบียงและกำแพงแก้วล้อมรอบ พนักประดับด้วยกระเบื้องปรุ หัวเสายอดเม็ดทรงมัณฑ์
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์
จิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์เขียนบริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง แบ่งองค์ประกอบภาพเป็นกลุ่มๆโดยมีแนวภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ และสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีทั้งแบบไทย จีน และตะวันตก เป็นแนวแบ่งกลุ่มภาพเพื่อเล่าเหตุการณ์ที่สำคัญของเรื่อง มีภาพธรรมชาติและทิวทัศน์เป็นฉากหลัง มีการแสดงระยะใกล้-ไกล และใช้เส้นขอบฟ้า ซึ่งลักษณะเหล่านี้บ่งบอกถึงอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกที่เข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 3-4
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม
จิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีรูปแบบเป็นงานจิตรกรรมไทยประเพณี เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่างส่วนผนังเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมโดยเหล่าเทพเทวดาแต่งกายยืนเครื่องอยู่ในท่านั่งเรียงเป็นแถว ต่างพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีภาพพระเจดีย์ที่ผนังท้ายพระที่นั่งส่วนผนังด้านหน้าพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธาน เขียนภาพเทวดาชั้นพรหมประทับนั่งเรียงแถวพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระทุสสะเจดีย์ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตเทคนิคการเขียนภาพยังคงเป็นแบบไทยประเพณีที่นิยมในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวคือ ใช้เทคนิคการระบายสีแล้วตัดเส้น ภาพบุคคลสำคัญแสดงออกผ่านกิริยาที่เป็นนาฏลักษณ์ ใช้เส้นสินเทาแบ่งเรื่องราวตอนต่างๆ มีการปิดทองคำเปลวในส่วนสำคัญของภาพ เป็นต้น