ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมยักษ์วัดพระแก้ว
ประติมากรรมรูปยักษ์ทั้ง 12 ตน ทำด้วยปูนปั้น เครื่องแต่งกายประกอบขึ้นจากกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ทำเป็นมงกุฎที่มียอดแตกต่างกันเช่นเดียวกับหัวโขน สวมเสื้อแขนยาว สนับเพลา ชายไหว รองเท้าปลายแหลม ลักษณะเดียวกับเครื่องแต่งกายโขน ระบายสีผิวพรรณแตกต่างกันโดยใช้สีเช่นเดียวกับหัวโขนของยักษ์แต่ละตน ยักษ์ทั้ง 6 คู่ ประกอบด้วยคู่ที่ 1. สุริยาภพ และอินทรชิต คู่ที่ 2. มังกรกัณฐ์ และวิรุฬหก คู่ที่ 3. ทศคีจันธร และทศคีรีวัน คู่ที่ 4. จักรวรรดิ์ และอัศกรรณมาราสูร คู่ที่ 5. ทศกัณฐ์ และสหัสสเดชะ คู่ที่ 6. ไมยราพ และวิรุฬจำบัง
ประติมากรรมปราสาทนครวัดจำลอง
ปราสาทนครวัดจำลองอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปราสาทประธานอยู่กึ่งกลางของแผนผังโดยมีความสูงมากที่สุด ล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่มีความสูงลดหลั่นลงมา 3 ชั้น ระเบียงคดแต่ละชั้นประกอบด้วยเสาและหลังคาที่ทอดยาวเชื่อมต่อกัน โดยมีโคปุระหรือประตูทางเข้าที่กลางด้าน และที่มุมทั้ง 4 มีหน้าบันซ้อนชั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการจำลองแบบ ดังนั้นสัดส่วนและรายละเอียดต่างๆ จึงแตกต่างจากปราสาทนครวัดในศิลปะเขมร โดยจะพบว่าส่วนยอดของปราสาทประธานและบริวารมีลักษณะคล้ายส่วนยอดของปรางค์ในศิลปะไทย
สถาปัตยกรรมป้อมพระสุเมรุ
ป้อมพระสุเมรุเป็นป้อมก่ออิฐถือปูน ทรงแปดเหลี่ยม หันหน้าออกริมคลองบางลำพู ลักษณะเป็นป้อม 3 ชั้นมีบันไดขึ้นป้อมจากด้านในกำแพงจำนวน 3 แห่ง มีเชิงเทินและแผงบังปืนป้อมชั้นล่างแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยมีกำแพงใบเสมาชนิดปลายแหลมกั้นระหว่างผนังป้อมชั้นล่างและชั้นบน มีประตูออกไปสู่ส่วนหน้าของป้อม ส่วนหน้าของป้อมชั้นล่างมีกำแพงซึ่งมีใบเสมาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ แต่ละเสมาเจาะช่องกากบาทเล็กๆหลายช่อง ป้อมชั้นที่สองมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางส่วนหลังของป้อมชั้นล่าง กำแพงของป้อมชั้นที่สองมีใบเสมาชนิดปลายแหลม ต่ำจากใบเสมาลงมาเจาะเป็นช่องโค้งปลายแหลม ด้านละ 4 ช่อง ตรงกลางป้อมก่อผนังแบ่งเป็นห้องๆ เพื่อเก็บกระสุนดินดำและอาวุธ ส่วนบนสุดเป็นหอรบ
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบจัตุรมุข โดยมีมุขด้านเหนือและใต้ที่ขยายให้ยาวกว่ามุขตะวันออกและตะวันตก ด้านหน้าที่มุขตะวันออกมีสีหบัญชรสำหรับเสด็จออกมหาสมาคม ด้านหลังของพระที่นั่งใช้บันไดประชิดซึ่งเป็นบันไดที่ขนานไปกับตัวอาคารและมีราวบันไดเพียงข้างเดียวสำหรับเป็นบันไดขึ้นสู่พระที่นั่ง โดยมีช่องประตูเตี้ยๆ ใต้บันไดเพื่อเข้าสู่ใต้ชั้นต่ำของพระที่นั่ง หลังคาซ้อนชั้นประกอบด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้อง 2 สี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกสี ส่วนกลางของหลังคาจัตุรมุขประดับเครื่องยอดแบบพระมหาปราสาท
ประติมากรรมพระพุทธรูปแสดงพุทธกิจวัตรประจำวัน
พระพุทธรูปทุกองค์มีรูปแบบอย่างที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 กล่าวคือ มีพระพักตร์สงบนิ่ง อ่อนเยาว์ คล้ายหุ่นละคร เม็ดพระศกเล็ก มีอุษณีษะ และพระรัศมีเปลว ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว มีสังฆาฏิเป็นแผ่นพาดจากพระอังสาซ้ายมาที่กลางพระอุระ ชายสบงยาว มีขอบรัดประคดและจีบด้านหน้าเป็นแถบสี่เหลี่ยม นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทยาวเสมอกัน พระพุทธรูปแต่ละองค์มีอิริยาบถที่แตกต่างกันดังนี้1.พระพุทธรูปไสยาสน์ ประดิษฐานบนพระแท่นศิลาสลักแบบจีนในศาลามุมหน้าด้านขวา พระพุทธรูปประทับนอนตะแคงขวา พระหัตถ์ขวารองรับพระเศียรโดยมีหมอนสามเหลี่ยมอยู่ด้านหลัง พระบาทซ้อนเสมอกัน2.พระพุทธรูปทรงตื่นบรรทม ประทับนั่งห้อยพระบาท มีดอกบัวรองรับ บนพระแท่นศิลาสลักแบบจีน พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางเสมอกันบนพระเพลา3.พระพุทธรูปยืนทรงครองจีวร ประดิษฐานในศาลามุมหลังด้านซ้าย แสดงการครองจีวรโดยยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นยึดชายจีวรที่พระอุระ พระพุทธรูเสวยพระกระยาหาร ประดิษฐานในศาลามุมหลังด้านขวา ประทับขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาหงายอยู่ในระดับพระนาภี พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำเหนือพระชงฆ์
สถาปัตยกรรมสัตตมหาสถาน
1.รัตนบัลลังก์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ ใต้ที่ประทับมีประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำรูปพญามารและบริวารพร้อมประติมากรรมศิลาจีนที่เป็นรูปสัตว์แต่งกายแบบชุดนักรบ หน้าตาท่าทางขึงขัง ซึ่งน่าจะหมายถึงบริวารของพญามาร แสดงถึงตอนตรัสรู้2.อนิมิสเจดีย์ พระพุทธรูปประทับยืนปางถวายเนตร โดยประดิษฐานอยู่ภายในเก๋งจีนที่แกะสลักจากศิลาเป็นรูปปราสาท แสดงถึงเมื่อภายหลังตรัสรู้ ได้ประทับทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรเป็นเวลา 7 วัน3.รัตนจงกรม พระพุทธรูปประทับยืนบนฐานบัว โดยมีพระบาทเหลื่อมกัน พระหัตถ์ขวาวางหน้าพระเพลา พระหัตถ์ซ้ายทอดยาวตามพระวรกาย แสดงถึงตอนที่เสด็จพระดำเนินในจงกรมแก้วเป็นเวลา 7 วัน4.รัตนฆรเจดีย์ พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานบัว ประสานพระหัตถ์ไว้ในพระอุระ ประดิษฐานภายในเก๋งศิลาจีนแทนเรือนแก้ว แสดงถึงเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่ 4 ที่มีเทพยดาได้เนรมิตเรือนแก้วถวายเพื่อให้ทรงพิจารณาธรรม5.อัชปาลนิโครธ พระพุทธรูปประทับนั่งใต้ต้นไทร พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานอภัย มีประติมากรรมรูปธิดาพญามาร 3 นางอยู่เบื้องหน้า และด้านซ้ายขวาของพระพุทธรูป (น่าจะสร้างขึ้นใหม่ในภายหลัง ) แสดงถึงตอนที่ทรงเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 6 ขณะทรงพิจารณาพระอภิธรรม พญามารได้ให้ธิดาทั้ง 3 มายั่วยวนพระพุทธองค์แต่ทรงห้ามไว้6.มุจลินท์ พระพุทธรูปนาคปรกซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากที่อื่น โดยมีขนดนาคล้อมองค์พระจนสูงถึงพระอุระ ประดิษฐานใต้ต้นจิกหรือต้นมุจลินทร์ มีอ่างศิลาปลูกบัว มีปลาและเต่า แสดงถึงเหตุการณ์ตอนที่ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นจิก เกิดพายุฝนลมแรง พญานาคมุจลินท์จึงแผ่พังพานป้องกันพระพุทธองค์7.ราชายตนะ พระพุทธรูปปางรับผลสมอ โดยประทับนั่งขัดสมาธิ ใต้ต้นเกด หรือต้นราชายตนะ พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาหงายบนพระชานุถือผลสมอ ใกล้กันมีศิลาจีนสลักเป็นรูปม้าและโคเทียมเกวียน หมายถึงคาราวานพ่อค้าของตปุสสะและภัลลิกะที่ได้นำข้าวสัตตุมาถวาย แสดงถึงเหตุการณ์ตอนเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 7 ซึ่งพระพุทธองค์ไม่ได้เสวยสิ่งใดเลยตลอด 49 วัน พระอินทร์จึงนำผลสมอซึ่งเป็นทิพยโอสถมาถวาย และพ่อค้าทั้งสองได้นำข้าสัตตุมาถวายเป็นภัตตาหารมื้อแรก
ประติมากรรมพระพุทธรูปท่ามกลางพระอสีติมหาสาวก
พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิบนแท่นฐานบัวเตี้ยๆ แวดล้อมด้วยพระอสีติมหาสาวกจำนวน 80 รูป ซึ่งอยู่ในท่านั่งพับเพียบ พนมมือ นั่งเรียงเป็นแถวซ้ายขวาทางด้านหน้า และล้อมด้านหลังพระพุทธรูป พุทธลักษณะเป็นแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 กล่าวคือ ไม่มีอุษณีษะ โดยมีเพียงขมวดพระเกศาและต่อด้วยพระรัศมีเปลว ขนาดพระวรกายมีความสมจริงใกล้เคียงกับบุคคลโดยทั่วไป ใบพระกรรณหดสั้นคล้ายใบหูมนุษย์มากขึ้น ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ และมีสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่พาดผ่านพระอังสาซ้าย พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างวางพาดบนพระเพลาอย่างเป็นธรรมชาติอันหมายถึงการแสดงพระธรรมเทศนาโดยไม่แสดงวิตรรกมุทรา ระบายสีจีวรด้วยสีเหลือง และระบายสีพระพักตร์และพระฉวีด้วยสีเนื้อ พระขนงและพระเนตรเป็นสีดำตามแนวคิดแบบสมจริง รูปพระสาวกอยู่ในท่านั่งพนมมือ ครองจีวรห่มเฉียงระบายสีเหลือง โดยมีสังฆาฏิแผ่นใหญ่พาดทับบ่าซ้ายเช่นเดียวกันทั้งหมด ศีรษะโล้นเรียบระบายด้วยสีดำ แต่พระอสีติมหาสาวกทั้ง 80 รูปก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป เช่น สีผิว รายละเอียดบนใบหน้า รอยยับของจีวร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม
รูปแบบพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน เครื่องหลังคาแบบไทยประเพณี ประดับด้วยเครื่องลำยอง ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ หน้าบันประดับด้วยงานไม้แกะสลัก ปิดทอง ประดับกระจกสี โดยรอบอาคารใช้เสาพาไลสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ทึบตัน ไม่ประดับคันทวยและบัวหัวเสา รองรับน้ำหนักซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 พระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานสิงห์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซึ่งมีซุ้มประตูทางเข้า 8 แห่ง และเกยสำหรับโปรยทาน 8 แห่งซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่พบในพระอุโบสถแห่งอื่น รูปแบบซุ้มประตูเป็นแบบตะวันตกผสมผสานกับศิลปะไทย