ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ป้อมพระสุเมรุ
คำสำคัญ : ป้อมพระสุเมร, ถนนพระอาทิตย์, ป้อมมหากาฬ
ชื่อหลัก | ถนนพระอาทิตย์ |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ชนะสงคราม |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.763988 Long : 100.495756 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661708.36 N : 1522125.99 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ถนนพระอาทิตย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา |
ประวัติการสร้าง | ป้อมพระสุเมรสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2326 เพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันพระนครซึ่งได้สร้างขึ้นทั้งหมดจำนวน 14 ป้อม แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้สร้างวังเจ้านายไว้ที่บริเวณริมป้อมที่สำคัญ สำหรับป้อมพระสุเมรุมีวังริมป้อมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา เพื่อให้มีหน้าที่รักษาพระนครทางด้านปากคลองบางลำพูบน ซึ่งเป็นมุมพระนครด้านเหนือ และวังริมป้อมจักรเพชรเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เพื่อรักษามุมพระนครด้านใต้ |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ก่ออิฐถือปูน |
ประวัติการอนุรักษ์ | พ.ศ. 2524 กรมศิลปากรได้บูรณะขึ้นใหม่เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี โดยอาศัยรูปถ่ายของเดิมครั้งรัชกาลที่ 5 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนป้อมพระสุเมรุพร้อมด้วยปราการเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | ป้อมพระสุเมรุเป็นป้อมก่ออิฐถือปูน ทรงแปดเหลี่ยม หันหน้าออกริมคลองบางลำพู ลักษณะเป็นป้อม 3 ชั้นมีบันไดขึ้นป้อมจากด้านในกำแพงจำนวน 3 แห่ง มีเชิงเทินและแผงบังปืน ป้อมชั้นล่างแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยมีกำแพงใบเสมาชนิดปลายแหลมกั้นระหว่างผนังป้อมชั้นล่างและชั้นบน มีประตูออกไปสู่ส่วนหน้าของป้อม ส่วนหน้าของป้อมชั้นล่างมีกำแพงซึ่งมีใบเสมาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ แต่ละเสมาเจาะช่องกากบาทเล็กๆหลายช่อง ป้อมชั้นที่สองมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางส่วนหลังของป้อมชั้นล่าง กำแพงของป้อมชั้นที่สองมีใบเสมาชนิดปลายแหลม ต่ำจากใบเสมาลงมาเจาะเป็นช่องโค้งปลายแหลม ด้านละ 4 ช่อง ตรงกลางป้อมก่อผนังแบ่งเป็นห้องๆ เพื่อเก็บกระสุนดินดำและอาวุธ ส่วนบนสุดเป็นหอรบ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันพระนคร รวมทั้งสิ้น 14 แห่ง แต่ในปัจจุบันเหลือป้อมปราการที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เพียง 2 แห่ง คือ ป้อมพระสุเมรุ และป้อมหากาฬ โดยป้อมพระสุเมรุตั้งอยู่บริเวณมุมถนนพระอาทิตย์และถนนพระสุเมรุเชื่อมต่อกัน ติดแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางลำพูหรือคลองรอบกรุงด้านเหนือ เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก นับเป็นป้อมปราการที่มีอายุเก่าแก่และแสดงถึงให้เห็นถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมประเภทป้อมปราการในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ |
ข้อสังเกตอื่นๆ | รากฐานของป้อมและกำแพงเป็นฐานแผ่อยู่ต่ำกว่าระดับผิวดิน 2 เมตร วัดจากด้านเหนือไปใต้กว้าง 45 เมตร สูงจากพื้นดินถึงยอดใบเสมาบนป้อม 10.50 เมตร และจากพื้นป้อมชั้นบนถึงหลังคาหอรบ 18.90 เมตร |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24 |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | ป้อมมหากาฬ |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-06-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | เทพชู ทับทอง. กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ 200 ปี. กรุงเทพฯ : เทพพิทักษ์การพิมพ์, 2524. ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณ. "ป้อมพระสุเมรุ : การขุดตรวจใน พ.ศ. 2542 ". เมืองโบราณ. 28 : 1 (ม.ค. - มี.ค. 2545), หน้า 128-129. สมเกียรติ วัฒนะศักดิ์ประภา และคณะ. ป้อม คู ประตูเมือง ในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2543. |