ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 17 ถึง 24 จาก 198 รายการ, 25 หน้า
พระพุทธรูปปางกดรอยพระบาท
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางกดรอยพระบาท

พระพุทธรูปองค์ประทับยืนในอิริยาบถลีลา พระพักตร์เล็ก ขมวดพระเกศาใหญ่ อุษณีษะทรงสูงอย่างมาก ยอดอุษณีษะเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระวรกายเพรียวบาง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภีปลายตัดตรง พระกรทั้งสองข้างปล่อยลงไปตรงๆ พระบาทขวากดประทับลงบนฐานที่มีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่ 3 รอย

พระบฏวัดดอกเงิน
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมพระบฏวัดดอกเงิน

พระบฏผืนนี้เขียนเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่เมืองสังกัสสะ สีที่ใช้มีหลายสี เช่น สีเขียว สีน้ำเงิน สีแดง สีขาว สีดินเหลืองและสีดำ ปิดทองเฉพาะองค์พระพุทธเจ้า ภาพแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงบนสุดเป็นภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แสดงภาพเทวดาประคองอัญชลี มีต้นปาริชาติ เจดีย์จุฬามณี และวิมาน 2 หลังคือเวชยันต์ปราสาทและสุธรรมเทวสภา ชั้นที่สองเป็นภาพพระพุทธเจ้าขนาดใหญ่อิริยาบถลีลาลงจากบันไดแก้ว มีพระอาทิตย์และพระจันทร์ขนาบสองข้างพระเศียร ด้านซ้ายแสดงภาพเทวดาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เสด็จลงบันไดเงิน ด้านขวาแสดงภาพพรหมเสด็จลงบันไดทอง ขอบทั้งสองด้านแสดงภาพเทวดาชั้นรองถือเครื่องสักการะเหาะตามมา ชั้นที่สามแสดงภาพเมืองสังกัสสะ ฝั่งขวาคือแถวพระสงฆ์ ฝั่งซ้ายคือกลุ่มกษัตริย์ยืนรอรับเสด็จ และยังมีภาพบุคคลอื่นๆ เช่น พราหมณ์ ขุนนางประคองอัญชลีและมีภาพปราสาท ด้านล่างสุดเป็นภาพน้ำ มีมนุษยนาคประคองอัญชลี ฉากหลังเป็นดอกมณฑารพ มีจารึกอักษรฝักขามตามตำแหน่งต่างๆ

พระใส
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระใส

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลวไฟ พระพักตร์ค่อนข้างใหญ่ พระเนตรใหญ่หรี่ลงต่ำ พระนาสิกใหญ่มากส่วนยอดพระนาสิกตัด พระโอษฐ์กว้างยิ้มแบบล้านช้าง พระหัตถ์ค่อนข้างใหญ่เทอะทะ นิ้วพระหัตถ์ค่อนข้างใหญ่ยาวเท่ากัน

พระเสริม
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระเสริม

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลวไฟ พระพักตร์รูปไข่และเล็ก พระนลาฏแคบ พระขนงโก่ง พระนาสิกเล็กและโด่ง พระวรกายบอบบาง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวถึงพระนาภีปลายคล้ายเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์เล็กเรียวยาวเสมอกัน

ทับหลังแบบถาลาบริวัต
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมทับหลังแบบถาลาบริวัต

มีสภาพชำรุดโดยมีบางส่วนนั้นหักหายไป ส่วนที่เหลือนั้นแสดงภาพหัวมกรขนาดใหญ่คายวงโค้งออกมาหนึ่งวง วงโค้งนี้มีลายประคำประดับอยู่สองข้าง ตรงกึ่งกลางของทับหลังมีลายวงรูปไข่หรือวงรูปเหรียญขนาดใหญ่วงเดียวมีรูปครุฑยุดนาคอยู่ภายใน วงรูปเหรียญมีขอบขมวดเป็นลายก้นหอยแทนลายลูกประคำ ครุฑซึ่งอยู่ภายในวงรูปเหรียญนี้มีใบหน้าเหมือนบุคคลไว้ผมเป็นขมวด สวมตุ้มหูเป็นห่วงกลมขนาดใหญ่ รูปร่างอ้วนท้องพลุ้ย คาดเข็มขัดมีชายผ้าห้อยอยู่ด้านหน้าและใช้มือยุดนาคเศียรเดียวสองตัวด้วยมือแต่ละข้าง ส่วนขานั้นทำเลียนแบบขาของนกอยู่บนขอบวงรูปเหรียญ ทางเบื้องล่างใต้วงโค้งซึ่งออกมาจากปากของมกรและวงรูปเหรียญจำหลักเป็นลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงอุบะ โดยที่อุบะพวงกลางใต้วงรูปเหรียญมีขนาดใหญ่กว่าอุบะพวงอื่นๆ ซึ่งเป็นลายอุบะแบบเก่าที่นิยมใช้บนทับหลังแบบถาลาบริวัติรุ่นแรกๆ

หุ่นวังหน้า
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมหุ่นวังหน้า

โครงหุ่นแกะเหลาด้วยไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบาคว้านเจาะให้กลวงตลอดลำตัวเพื่อร้อยเชือกสำหรับชักให้อวัยวะบางส่วนเคลื่อนไหวได้หัวหุ่นโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อนเช่นเดียวกับตัวหุ่นแล้วปั้นเสริมรายละเอียดบนใบหน้าด้วยรักปิดกระดาษเขียนสีตัดเส้นวิธีเดียวกับหัวโขนส่วนคอของหุ่นมีก้านไม้เล็กๆ ต่อยาวลงไปทางช่องกลวงกลางลำตัวสำหรับบังคับหุ่นให้หันหน้าไปมาได้ขณะที่เชิดอวัยวะส่วนต่างๆของหุ่นยึดด้วยเชือกเส้นเล็กๆมีสายเชือกสำหรับชักหุ่นโดยปลายสายชักมีห่วงสำหรับคนเชิดสอดนิ้วบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหวหุ่นตัวพระที่สำคัญเช่นพระรามสีเขียวสวมชฎายอดบัดเครื่องประดับศีรษะหุ่นตัวพระมีทั้งชฎาเครื่องยอดและสวมกะบังหน้าประกอบกรรเจียกจอน เครื่องแต่งกายประกอบด้วยอินทรธนูสังวาลตาบทิศทับทรวงสวมสนับเพลาทับด้วยผ้าโจงมีผ้าห้อยหน้าผ้าห้อยข้างการแต่งกายของตัวพระคล้ายกับโขนหุ่นตัวนาง หากเป็นหญิงสูงศักดิ์เครื่องประดับศีรษะจะสวมชฎาหากเป็นยักษ์สวมรัดเกล้ายักษ์ที่มีศักดิ์ใช้รัดเกล้ายอดส่วนนางกำนัลใช้รัดเกล้าเปลว แต่งกายยืนเครื่อง นุ่งผ้าจีบยาวถึงข้อเท้า ห่มสไบสะพักสองบ่า สวมเครื่องประดับต่างๆ เช่นเดียวกับการแสดงโขนหุ่นตัวยักษ์มีการกำหนดศิราภรณ์ให้มียอดแตกต่างกันและมีสีกายรูปแบบของปากตาและอาวุธแตกต่างกัน โดยมีลักษณะเช่นเดียวกับการแสดงโขน เช่น ทศกัณฐ์กายสีเขียว หน้ายักษ์ตาโพลงปากแสยะเขี้ยวโง้ง เป็นต้น เช่นเดียวกับหุ่นลิงที่มีการกำหนดสีกายและลักษณะหัวโขนแตกต่างกันในแต่ละตัว

จิตรกรรมเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน

ภาพพระราชพิธีในแต่ละเดือนเขียนขึ้นที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง โดยปรากฏอิทธิพลการเขียนภาพแบบตะวันตกแล้ว กล่าวคือ มีการใช้เส้นขอบฟ้า กำหนดมิติของภาพให้เกิดระยะที่ใกล้-ไกล ภาพทิวทัศน์ เช่น ท้องฟ้า ก้อนเมฆ ต้นไม้เขียนขึ้นโดยคำนึงถึงความสมจริง ภาพอาคารสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีมักเป็นพระมหาปราสาทและอาคารต่างๆที่มีอยู่จริงในพระบรมมหาราชวังและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ที่ประกอบด้วยป้อมและหมู่พระที่นั่งต่างๆ ซึ่งปัจจุบันไม่เหลือหลักฐานแล้ว ภาพการโล้ชิงช้าที่เสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ เป็นต้น ภาพบุคคลแต่งกายตามสถานภาพ มีทั้งที่เป็นทหารใส่เครื่องแบบที่พัฒนาการตะวันตก ภาพชาววังและชาวบ้านที่แต่งกายตามสมัยนิยม รวมทั้งชาวต่างชาติที่มีอยู่ในสังคมขณะนั้น การลงสีมีการแรเงา ไล่น้ำหนักสีอ่อนแก่ ภาพบุคคลมีขนาดเล็กเมือเทียบกับภาพสถาปัตยกรรม มีความพยายามเขียนภาพเหมือนบุคคลขนาดเล็กด้วย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นประติมากรรมลอยตัว สิ่งสำคัญคือ รัฐธรรมนูญซึ่งมีลักษณะเป็นสมุดไทยประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า สร้างด้วยทองแดง มีความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน ตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ รอบนอกลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบน อยู่ 4 ทิศ ที่โคนครีบ มีภาพปูนปั้นนูนต่ำ และมีรั้วเตี้ย ๆ กั้นโดยรอบลานอนุสาวรีย์ รั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมาเป็นเสาแล้วคล้องโซ่เชื่อมต่อกัน โดยองค์ประกอบต่างๆของอนุสาวรีย์มีความหมายดังนี้ 1.ครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2.พานทูนฉบับรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดป้อม กลางตัวอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน (ขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ตรงกับเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น และหมายถึง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) 3.ปืนใหญ่ที่มีปากกระบอกฝังลงในพื้นดินจำนวน 75 กระบอก รอบฐานของอนุสาวรีย์ที่มีโซ่เหล็กคล้องไว้ หมายถึง พ.ศ.2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนโซ่ที่คล้องไว้ด้วยกันหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ 4.ลายปูนปั้นนูนต่ำที่ฐานครีบทั้ง 4 เน้นถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎรตอนที่นัดหมายและแยกย้ายกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 5.พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร อ่างตรงฐานปีกทั้ง 4 ด้านเป็นรูปงูใหญ่ หมายถึง ปีมะโรงซึ่งเป็นปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง