ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระบฏวัดดอกเงิน
คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป, พุทธประวัติ, ศิลปะล้านนา, พระบฎ, วัดดอกเงิน, ศิลปะจีน
ชื่อเรียกอื่น | |
---|---|
ชื่อหลัก | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ |
ประเภทงานศิลปะ | จิตรกรรม |
ตำบล | ชนะสงคราม |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.758939 Long : 100.493969 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661518 N : 1521567.37 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | เดิมอยู่ในหม้อดิน ปัจจุบันจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ |
ประวัติการสร้าง | ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่จากรูปแบบศิลปะสามารถกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 พบในกรุเจดีย์วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ จากการขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีพื้นที่น้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนภูมิพลในปี พ.ศ. 2502 พบครั้งแรกในสภาพถูกม้วนกลมใส่ในหม้อดินร่วมกัยพระพุทธรูปและของมีค่าต่างๆ |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | สีฝุ่นบนผ้า |
ขนาด | กว้าง 1.8 เมตร ยาว 3.4 เมตร |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระบฏผืนนี้เขียนเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่เมืองสังกัสสะ สีที่ใช้มีหลายสี เช่น สีเขียว สีน้ำเงิน สีแดง สีขาว สีดินเหลืองและสีดำ ปิดทองเฉพาะองค์พระพุทธเจ้า ภาพแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงบนสุดเป็นภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แสดงภาพเทวดาประคองอัญชลี มีต้นปาริชาติ เจดีย์จุฬามณี และวิมาน 2 หลังคือเวชยันต์ปราสาทและสุธรรมเทวสภา ชั้นที่สองเป็นภาพพระพุทธเจ้าขนาดใหญ่อิริยาบถลีลาลงจากบันไดแก้ว มีพระอาทิตย์และพระจันทร์ขนาบสองข้างพระเศียร ด้านซ้ายแสดงภาพเทวดาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เสด็จลงบันไดเงิน ด้านขวาแสดงภาพพรหมเสด็จลงบันไดทอง ขอบทั้งสองด้านแสดงภาพเทวดาชั้นรองถือเครื่องสักการะเหาะตามมา ชั้นที่สามแสดงภาพเมืองสังกัสสะ ฝั่งขวาคือแถวพระสงฆ์ ฝั่งซ้ายคือกลุ่มกษัตริย์ยืนรอรับเสด็จ และยังมีภาพบุคคลอื่นๆ เช่น พราหมณ์ ขุนนางประคองอัญชลีและมีภาพปราสาท ด้านล่างสุดเป็นภาพน้ำ มีมนุษยนาคประคองอัญชลี ฉากหลังเป็นดอกมณฑารพ มีจารึกอักษรฝักขามตามตำแหน่งต่างๆ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | หลักฐานงานพระบฏและหลักฐานจิตรกรรมในพุทธศตวรรษที่ 21 |
ข้อสังเกตอื่นๆ | 1. การที่จิตรกรรมฉากนี้ปรากฏภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และเมืองสังกัสสะเบื้องล่าง แสดงว่าฉากนี้คือพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในตอนที่กำลังเสด็จลงมา 2. ดอกมณฑารพแสดงด้วยดอกไม้ที่ได้รับอิทธพลจากศิลปะจีน เช่น ดอกโบตั๋น และศิลปะลังกา เช่น ดอกบัวขาบ 3. อิริยาบถลีลานี้คล้ายกับพระพุทธรูปปางกดรอยพระบาทที่มีจารึกที่ฐานว่าสร้างใน พ.ศง 2025 |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ล้านนา |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 21 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. พระบฏวัดเจดีย์สูง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ พระบฏเก่าแก่ในศิลปะล้านนาที่พบในคราวเดียวกับพระบฏวัดดอกเงินแต่พบในเจดีย์คนละองค์แต่มีอายุสมัยร่วมกันแต่เก่าแก่กว่า 2. จิตรกรรมฝาผนังอุโมงค์ วัดอุโมงค์เถรจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่ หลักฐานจิตรกรรมฝาผนังเพียงแห่งเดียวในพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีโครงสีและเทคนิคแบบเดียวกับพระบฏวัดดอกเงินแต่เขียนภาพธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ นก ที่แสดงถึงอิทธิพลศิลปะจีนเพราะมีลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากลวดลายบนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-05-18 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ภาณุพงษ์ เลาหสม. จิตรกรรมฝาผนังล้านนา. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2541. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556. กรมศิลปากร, สมบัติศิลปจากบริเวณเขื่อนภูมิพล. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2515. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย – ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2555. |