ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 153 ถึง 160 จาก 884 รายการ, 111 หน้า
ใบเสมา
ขอนแก่น
ประติมากรรมใบเสมา

ใบเสมาแผ่นแบนมียอดแหลม สลักภาพเล่าเรื่องอยู่ทางด้านหน้า เป็นภาพพระอินทร์พร้อมด้วยชายาและช้างเอราวัณ พระอินทร์นั่งในท่าลลิตาสนะอยู่ตรงกลาง ถือวัชระไว้ในพระหัตถ์ซ้าย ต้นไมทางเบื้องหลังสันนิษฐานว่าเป็นต้นปาริชาติ อันเป็นต้นไม้ประจำสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นสวรรค์ของพระอินทร์ เบื้องซ้ายของพระองค์มีภาพบุคคล 3 คน และนก 1 ตัว เป็นภาพชายาทั้ง 4 ของพระอินทร์ ได้แก่ สุธรรมา สุจิตรา สุนันทา และสุชาดาซึ่งกลับมาเกิดเป็นนกยาง เพราะไม่ได้สั่งสมบุญไว้เพียงพอ ด้านหลังของกลุ่มชายาเป็นลวดลายกนกแบบทวารวดีซึ่งคงสื่อถึงก้อนเมฆ ด้านขวาของพระอินทร์มีช้างเอราวัณ

พระพุทธบาท
ปราจีนบุรี
ประติมากรรมพระพุทธบาท

พระพุทธบาทคู่สลักลงบนพื้นศิลาแลงธรรมชาติ มีอาคารสร้างครอบทับไว้ พระพุทธบาทแต่ละข้างมีส่วนเว้าส่วนโค้งของเส้นรอบนอก นิ้วพระบาททั้งห้ายาวไม่เท่ากัน เหมือนรอยเท้าตามธรรมชาติ กึ่งกลางฝ่าพระบาทแต่ละข้างปรากฏลายรูปจักร อันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความยิ่งใหญ่เหนือโลกและจักรวาลของพระพุทธองค์ ตรงกลางระหว่างฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้าง มีร่องและหลุมลึก หลุมนั้นบางท่านเชื่อว่าเป็นหลุมสำหรับปักฉัตร ส่วนร่องคล้ายกากบาทนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นสัญลักษณ์ใดหรือทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด แต่มีบางท่านเสนอว่าเป็นร่องสำหรับเสียบเครื่องยึดฉัตรให้มั่นคง ทว่าบางท่านเห็นว่ารูปแบบคล้ายเครื่องหมายสวัสดิกะไขว้กัน หรือดูคล้ายธวัชหรือธงชัยที่มีปลายเป็น 2 แฉก

แผ่นหินสลักภาพมงคล
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมแผ่นหินสลักภาพมงคล

แผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางและมุมทั้งสี่มีหลุมตื้นๆ ที่ล้อมรอบด้วยกลีบบัว อาจใช้สำหรับใส่พวกเครื่องหอมที่ใช้ในพิธีกรรม ตอนบนของแผ่นหินมีช้าง 2 เชือกทำท่าสรงน้ำให้สตรีซึ่งนั่งอยู่ตรงกลาง นักวิชาการเรียกภาพนี้ว่า “คชลักษมี” หรือ “อภิเษกศรี” ด้านล่างปรากฏสัญลักษณ์มงคลต่างๆ และมีส่วนหนึ่งเป็นเครื่องสูงประกอบอยู่ด้วย ทั้งหมดสลักเป็นคู่ๆ ได้แก่ จามร (แส้) วัชระ (สัญลักษณ์ของสายฟ้า) อังกุศะ (ขอสับช้าง) พัด ฉัตร บ่วง ส่วนภาพ ปลา สังข์ และปูรณกลศ (หม้อ) 1 ใบ

ภาพสลักพระพุทธรูป
สระบุรี
ประติมากรรมภาพสลักพระพุทธรูป

ภาพสลักนูนต่ำกลุ่มนี้สลักภาพพระพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยอยู่ทางซ้ายสุดของกลุ่ม พระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่บนบัลลังก์ พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรม ถัดมาทางขวาเป็นภาพบุคคลเศียรเดียว สองกร ประทับในท่านั่งแบบลลิตาสนะ เชื่อว่าเป็นพระศิวะเพราะพระหัตถ์ซ้ายทรงอักษมาลา (ลูกประคำ) ถัดมาเป็นรูปพระวิษณุยืน โดยสังเกตได้จากการมีสี่กร พระกรปกติไขว้กันที่พระอุระ เป็นกิริยาแสดงความนบนอบต่อพระพุทธเจ้า พระหัตถ์อีก 2 ข้างทรงจักรและสังข์ ถัดไปทางขวามีรูปเทวดาเหาะ 2 องค์ และฤาษี 1 ตน

พระพิมพ์
ขอนแก่น
ประติมากรรมพระพิมพ์

พระพุทธเจ้านั่งทำปางสมาธิบนบัลลังก์ เบื้องขวาและเบื้องซ้ายมีภาพบุคคลด้านละ 1 คน โดยบุคคลทางขวาของพระพุทธองค์เป็นบุรุษในขณะที่ทางซ้ายน่าจะเป็นสตรี เบื้องบนเป็นพระพุทธนิรมิต 5 องค์ในอิริยาบถต่างๆ มีภาพบุคคลนั่งย่อเข่าและประนมมือไหว้พระพุทธนิรมิตองค์กลาง

พระพิมพ์
ราชบุรี
ประติมากรรมพระพิมพ์

พระพิมพ์ทรงรี พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทอยู่ตรงกลาง พระหัตถ์แสดงปางปฐมเทศนา พระองค์นั่งอยู่ภายในอาคารทรงศิขร แวดล้อมด้วยสถูปขนาดเล็ก สองข้างของดอกบัวที่รองรับพระบาทมีลวดลายที่อาจเป็นกวางหมอบ

ภาพสลักพระพุทธรูป
ราชบุรี
ประติมากรรมภาพสลักพระพุทธรูป

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิแบบหลวม ไขว้ซ้อนกันเพียงข้อพระบาท พระหัตถ์ปางสมาธิ มีฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียร เบื้องขวาของพระองค์มีธรรมจักรวางตั้งอยู่บนเสา ส่วนเบื้องซ้ายของพระองค์เป็นเจดีย์ทรงกลม

พระพิมพ์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพิมพ์

พระพิมพ์แสดงภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถีเพื่อปราบเหล่าเดียรถีย์นี้ พระพุทธเจ้านั่งสมาธิบนบัลลังก์ซึ่งวางอยู่ใต้ต้นมะม่วง มีแส้กางกั้นเหนือพระเศียร แส้ปักอยู่ 2 ข้าง ถัดออกไปเป็นภาพคล้ายสถูป ทั้งสองข้างแวดล้อมด้วยภาพบุคคลจำนวนมาก คงมีทั้งบุคคลในโลกมนุษย์ และทิพยบุคคลจากสวรรค์ถัดขึ้นไปด้านบนตามกิ่งก้านของต้นมะม่วงปรากฏภาพพระพุทธนิรมิตในอิริยาบถต่างๆ 5 องค์ เบื้องล่างสุดมีตัวอักษรเขียนคาถา เย ธมฺมา ปรากฏอยู่