ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธปรางค์

คำสำคัญ : วัดพิชยญาติการาม, ปรางค์ประธานวัดพิชยญาติการาม, พระพุทธปรางค์

ชื่อเรียกอื่นปรางค์ประธานวัดพิชยญาติการาม
ชื่อหลักวัดพิชยญาติการาม
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลคลองสาน
อำเภอเขตคลองสาน
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.732461
Long : 100.496676
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661829.88
N : 1518638.75
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกศาธิบดี จางวางกรมพระคลังสินค้า ได้สถาปนาวัดพิชยญาติการามแล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3

ลักษณะทางศิลปกรรม

ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน ส่วนล่างของปรางค์ทั้ง 3 องค์ เป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนเรือนธาตุของปรางค์ประธานเป็นอาคารแบบมณฑปจัตุรมุข ภายนอกมีประติมากรรมยักษ์ยืนกุมกระบองที่มุมย่อย ผนังมุมย่อยประดับกาบพรหมศร หลังคาจัตุรมุขซ้อน 3 ชั้นมุงกระเบื้อง ที่ตำแหน่งช่อฟ้าประดับนกเจ่า ใบระกา และหางหงส์ลดหลั่นลงมาตามลำดับ ส่วนยอดเป็นปรางค์ซ้อน 6 ชั้นประดับกลีบขนุนที่แนบชิดติดกัน มีชั้นเทพนมและยักษ์แบก ปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบข้างมีรูปแบบเหมือนกัน แตกต่างจากปรางค์ประธานเนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า หลังซ้อน 2 ชั้น หน้าบันเป็นสามเหลี่ยมเรียบ ไม่ประดับนกเจ่า ใบระกาและหางหงส์

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ปรางค์ประธานวัดพิชยญาติการาม บ้างเรียกว่า พระพุทธปรางค์ ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ โดยมีปรางค์ใหญ่ตรงกลางประดิษฐานพระพุทธเจ้า 4 องค์ในภัทรกัปป์ ปีกปรางค์ด้านตะวันออกประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตรยที่หันหน้ามาทางปรางค์ใหญ่ ปีกปรางค์ด้านตะวันตกประดิษฐานรอบพระพุทธบาท 4 รอยเรียงกันตามลำดับ

การสร้างปรางค์ 3 องค์เรียงกันชวนให้นึกถึงพระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี และปรางค์บางองค์ในสมัยอยุธยาตอนต้นที่มีปรางค์ประธานและปีกปรางค์ขนาบอยู่ที่ด้านข้างทั้งสอง กระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีปรางค์ที่วัดพิชยญาติการามเป็นแห่งเดียวที่มีปรางค์ 3 องค์ เป็นเจดีย์ประธานของวัด รูปแบบของปรางค์ประกอบด้วยอาคารทรงปราสาทจัตุรมุข แต่ละมุขมีหลังคามุงกระเบื้องซ้อนชั้น ส่วนยอดเป็นปรางค์ประกอบด้วยกลีบขนุนซ้อนชั้น มีนภศูลที่ยอดบนสุด

อาคารทรงปราสาทจัตุรมุขยอดปรางค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเช่นนี้มีอีกแห่งหนึ่งที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันคือพระพุทธปรางค์ปราสาท หรือปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีพระราชดำริเมื่อแรกสร้างสำหรับประดิษฐานพระแก้วมรกต

น่าสังเกตว่านายช่างที่ออกแบบก่อสร้างพระพุทธปรางค์ปราสาทหรือปราสาทพระเทพบิดรคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ก็เป็นผู้ที่เคยทรงงานร่วมกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) และช่างตระกูลบุนนาคท่านอื่น จึงอาจเป็นเหตุให้การออกแบบปรางค์ทั้งสองแห่งมีรูปแบบที่สัมพันธ์กันอยู่บางประการ
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

สุริยา รัตนกุล, คุณหญิง. พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล, 2550-2552.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์.งานช่าง สมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.