ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระศรีอาริยเมตไตรย

คำสำคัญ : วัดพิชยญาติการาม, พระศรีอาริยเมตไตรย

ชื่อหลักวัดพิชยญาติการาม
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลคลองสาน
อำเภอเขตคลองสาน
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.732535
Long : 100.496501
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661811.23
N : 1518647.8
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกศาธิบดี จางวางกรมพระคลังสินค้า ได้สถาปนาวัดพิชยญาติการามแล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธรูปทรงเครื่อง ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง ระหว่างพระขนงและขอบเปลือกพระเนตรเป็นแผ่น พระเนตรค่อนข้างเล็ก เปิดเล็กน้อยและเหลือบต่ำ พระโอษฐ์เล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระวรกายเพรียวบาง ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสามารถศึกษาเปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยเดียวกันที่วัดนางนอง

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระศรีอาริยเมตไตรยประดิษฐานในปรางค์ปีกด้านทิศตะวันออกของพระพุทธปรางค์ วัดพิชยญาติการาม เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางสมาธิ ประทับนั่งหันพระพักตร์ไปทางพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ในพระพุทธปรางค์ ซึ่งเป็นปรางค์ประธานของวัด สอดคล้องกับคติความเชื่อที่ว่าพระองค์ประทับรออยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ถัดไปในภัทรกัปป์ ดังนั้นจึงทรงเครื่องทรงอย่างเทวดาทับบนจีวรห่มเฉียง โดยทรงมงกุฎยอดแหลมมีกรรเจียกจร ทรงพาหุรัด ทองพระกร ทองพระบาท มีสังวาลไขว้กันที่ด้านหน้าและด้านหลัง พุทธลักษณะอื่นใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ที่ประดิษฐานในพระพุทธปรางค์ที่อยู่เบื้องหน้าพระศรีอาริยเมตไตรยจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือช่างกลุ่มเดียวกัน

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการและความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

สุริยา รัตนกุล, คุณหญิง. พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล, 2550-2552.