ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 129 ถึง 136 จาก 884 รายการ, 111 หน้า
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารยกพื้นสูง มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ช่อง ซุ้มประตูทรงบรรพแถลง มีเสาพาสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคารและมีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองรองรับชายคา เครื่องหลังคาประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีคอสองหรือผนังที่คั่นจังหวะหลังคาออกเป็น 2 ส่วน หน้าบันพระที่นั่งทำด้วยไม้แกะสลักรูปพระพรหมสถิตในวิมาน 3 หลัง แวดล้อมด้วยลายกระหนกใบไม้ม้วนและเทพนม ปิดทองประดับกระจก

วัดบวรสถานสุทธาวาส
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดบวรสถานสุทธาวาส

พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาสเป็นอาคารแบบไทยประเพณี ก่ออิฐถือปูน แผนผังแบบจัตุรมุข มีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคาร เครื่องหลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องสีเขียวและส้ม ประดับช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และนาคเบือน หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ปิดทองประดับกระจกสี ตัวอาคารมีทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ด้านตะวันออก เหนือ และใต้ ด้านละ 3 ประตู ส่วนด้านตะวันตกมี 2 ประตู บานประตูหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักลายแก้วชิงดวง ปิดทองประดับกระจก ซุ้มเหนือของประตูประดับด้วยลวดลายปูนปั้น โดยรอบพระอุโบสถมีลานระเบียงและกำแพงแก้วล้อมรอบ พนักประดับด้วยกระเบื้องปรุ หัวเสายอดเม็ดทรงมัณฑ์

จิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์

จิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์เขียนบริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง แบ่งองค์ประกอบภาพเป็นกลุ่มๆโดยมีแนวภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ และสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีทั้งแบบไทย จีน และตะวันตก เป็นแนวแบ่งกลุ่มภาพเพื่อเล่าเหตุการณ์ที่สำคัญของเรื่อง มีภาพธรรมชาติและทิวทัศน์เป็นฉากหลัง มีการแสดงระยะใกล้-ไกล และใช้เส้นขอบฟ้า ซึ่งลักษณะเหล่านี้บ่งบอกถึงอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกที่เข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 3-4

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม

จิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีรูปแบบเป็นงานจิตรกรรมไทยประเพณี เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่างส่วนผนังเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมโดยเหล่าเทพเทวดาแต่งกายยืนเครื่องอยู่ในท่านั่งเรียงเป็นแถว ต่างพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีภาพพระเจดีย์ที่ผนังท้ายพระที่นั่งส่วนผนังด้านหน้าพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธาน เขียนภาพเทวดาชั้นพรหมประทับนั่งเรียงแถวพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระทุสสะเจดีย์ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตเทคนิคการเขียนภาพยังคงเป็นแบบไทยประเพณีที่นิยมในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวคือ ใช้เทคนิคการระบายสีแล้วตัดเส้น ภาพบุคคลสำคัญแสดงออกผ่านกิริยาที่เป็นนาฏลักษณ์ ใช้เส้นสินเทาแบ่งเรื่องราวตอนต่างๆ มีการปิดทองคำเปลวในส่วนสำคัญของภาพ เป็นต้น

พระพุทธวชิรญาณ
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมพระพุทธวชิรญาณ

พระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างจักรพรรดิราช ประทับยืนปางห้ามสมุทร รูปแบบเดียวกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ที่ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ทรงเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ พระมหามงกุฎ สังวาล พาหุรัด ทองพระกร ธำมรงค์ โดยเฉพาะส่วนของชายไหวชายแครงที่มีลักษณะอ่อนช้อยที่ด้านหน้าสบงเหนือพระเศียรประดับฉัตร 7 ชั้นพระพุทธรูปประทับยืนบนแท่นฐานกลีบบัวซึ่งรองรับด้วยฐานสิงห์ ที่มีรูปเทพพนมและครุฑแบกประดับที่ชั้นฐานก็เป็นลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์ต่างๆ ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย ที่ฐานมีจารึกข้อความกล่าวถึงพระราชดำริและประวัติการสร้างพระพุทธวชิรญาณ

จิตรกรรมเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่ 5
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่ 5

จิตรกรรมพระราชประวัติรัชกาลที่ 5 เขียนภาพเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในราชสำนักตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ถึงกระทั่งเมื่อย้ายพระที่นั่งทรงผนวชจากในพระบรมมหาราชวังมาสร้างไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ละห้องภาพปรากฏภาพพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ รวมทั้งพระราชกรณียกิจต่างๆ เช่น ภาพการเสด็จออกรับราชทูต โดยมีฉากหลังเป็นสถานที่สำคัญที่มีอยู่จริง เช่น ภาพพระที่นั่งและอาคารสำคัญต่างๆในพระบรมมหาราชวัง ภาพพระปฐมเจดีย์ พระสมุทรเจดีย์ เป็นต้น เทคนิคการเขียนภาพใช้หลักทัศนียวิทยาอย่างตะวันตกที่สมจริงและเคร่งครัดมากขึ้นกว่าจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ยัง ภาพจิตรกรรมยังแสดงให้เห็นสภาพสังคมในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพบ้านเรือน การแต่งกายของผู้คน การใช้เรือเป็นพาหนะสัญจร การใช้ธงชาติ มหรสพและการละเล่นต่างๆ

จิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐาน
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐาน

จิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐานภายในพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหารฯ เป็นภาพภิกษุพิจารณาซากศพประเภทต่างๆจำนวน 10 ประเภท โดยแต่ละประเภทเหมาะสมกับผู้มีจริตนิสัยแตกต่างกันไป แต่ละห้องภาพมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกันคือมีภาพพระสงฆ์ 1 รูป พิจารณาซากศพ 1 ประเภท โดยอยู่ในตอนล่างของภาพซึ่งแสดงถึงระยะที่อยู่ใกล้ผู้ชม เบื้องหลังในตำแหน่งที่สูงขึ้นแสดงระยะที่อยู่ไกลออกไปเป็นภาพทิวทัศน์ ประกอบด้วยทิวเขา ป่าไม้ มีเส้นขอบฟ้าเพื่อกำหนดระยะของวัตถุอื่นๆ ในภาพที่อยู่ไกลออกไปและแสดงบรรยากาศของเวลาที่น่าจะเป็นยามเย็นหรือใกล้ค่ำ ภาพอสุภกรรมฐานทั้ง 10 ประเภท ได้แก่1.อุทธุมาตกอสุภ (ศพขึ้นอืด)2. วินีลกอสุภ (ศพสีคล้ำ) 3.วิปุพพกอสุภ (ศพที่มีน้ำเหลือง) 4.วิจฉิททกอสุภ (ศพที่ถูกตัดเป็นท่อน) 5.วิกขายิตกอสุภ (ศพที่มีสัตว์ทั้งหลายกัดกินโดยอาการต่างๆ)6.วิกขิตตกอสุภ (ศพกระจุยกระจาย) 7.หตวิกขิตตกอสุภ (ศพถูกฟัน)8.โลหิตกอสุภ (ศพที่มีเลือดไหล) 9.ปุฬุวกอสุภ (ศพมีหนอน) 10.อัฏฐิกอสุภ (ศพที่เป็นร่างกระดูก)

เทพารักษ์สำหรับพระนคร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมเทพารักษ์สำหรับพระนคร

เทพารักษ์ทั้ง 5 องค์ มีรูปแบบเป็นเทวดาอย่างไทยประเพณี พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัย ทรงสนับเพลามีภูษาทับ ประดับชายไหวชายแครงที่ด้านหน้าประดับสุวรรณกระถอบ คาดปั้นเหน่ง สวมกรองศอ พาหุรัด สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง ทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท แต่มีลักษณะเฉพาะและสิ่งของที่ทรงถือแตกต่างกัน ดังนี้1.พระเสื้อเมือง เป็นรูปเทวดาประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงคทาวุธหรือกระบอง พระหัตถ์ขวาทรงจักราวุธ2.พระทรงเมืองเป็นรูปเทวดาประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทรงสังข์3.พระกาฬไชยศรี เป็นรูปเทวดา 4 กร ประทับนั่งบนหลังนกแสก พระหัตถ์ซ้ายบนทรงบ่วงบาศก์ พระหัตถ์ซ้ายล่างยกเสมอพระนาภี พระหัตถ์ขวาบนทรงชวาลาหรือโคมไฟ พระหัตถ์ขวาล่างทรงพระขรรค์4. เจ้าเจตคุปต์เป็นรูปเทวดาประทับยืนมีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง พระหัตถ์ขวาถือเหล็กจาร พระหัตถ์ซ้ายถือใบลาน 5.เจ้าหอกลอง เป็นรูปเทวดาประทับยืน มีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายถือเขาสัตว์