ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 49 ถึง 56 จาก 169 รายการ, 22 หน้า
พระนิรันตราย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระนิรันตราย

พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเรียบขนาดใหญ่อย่างเหมือนจริงทับจีวรที่มีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใบพระกรรณที่หดสั้นลง ที่สำคัญคือไม่มีอุษณีษะ แต่ยังคงทำรัศมีเปลว ขมวดพระเกศา และมีอุณาโลมตามลักษณะมหาบุรุษ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานสิงห์ มีรูปศีรษะโคที่ด้านล่าง ซึ่งมีความหมายถึงโคตมะ รอบองค์พระพุทธรูปประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วประกอบกับซุ้มไม้โพธิ์ซึ่งมีคาถาพระพุทธคุณหรือบทอิติปิโส ซึ่งเป็นคาถาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4

 จิตรกรรมเรื่องสังคายนาพระไตรปิฎก
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรม จิตรกรรมเรื่องสังคายนาพระไตรปิฎก

จิตรกรรมฝาผนังเขียนเล่าเหตุการณ์การสังคายนาพระไตรปิฎกในพุทธศาสนารวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง เริ่มจากผนังด้านขวาของพระประธาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอินเดีย เรียงลำดับไปยังผนังด้านหลังซึ่งเป็นเหตุการณ์ในลังกา และผนังด้านซ้ายซึ่งเป็นเหตุการณ์ในล้านนาและในสมัยรัชกาลที่ 1 ผนังเบื้องหน้าพระประธานเขียนภาพตู้พระไตรปิฎก 3 ตู้ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระไตรปิฎกที่ได้รับการสังคายนาแล้ว ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ภายในตู้บรรจุพระคัมภีร์ห่อด้วยผ้ายกปิดทอง มีภาพผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ สังเกตได้จากการแต่งกายที่แตกต่างกันกำลังกราบไหว้บูชาตู้พระธรรมเหล่านั้น

พระพุทธรูปทรงพระราชอุทิศของรัชกาลที่ 4 และพระราชโอรส
เพชรบุรี
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงพระราชอุทิศของรัชกาลที่ 4 และพระราชโอรส

พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสังขรณ์ตามเค้าโครงของพระพุทธรูปเดิมที่อาจเป็นฝีมือช่างในท้องถิ่น พระวรกายอวบอ้วนขนาดใหญ่ พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ แนวพระขนงโก่งต่อเนื่องกับพระนาสิกแหลม พระหนุและพระศอสั้น มีพระรัศมีเปลวค่อนข้างสั้น มีอุษณีษะ เม็ดพระศกเล็กคล้ายหนามขนุน พระกรรณยาวใหญ่ พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัยปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแถบใหญ่ยาวจรดพระนาภีปลายตัดตรง ประทับนั่งบนแท่นฐานปูน เบื้องหลังมีเสาที่ตกแต่งบัวหัวเสาด้วยลายใบผักกาดแบบตะวันตก รองรับซุ้มปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปลำตัวนาคหยักโค้ง ปลายซุ้มเป็นรูปนาคหันหัวเข้า ยอดกลางซุ้มเป็นลวดลายเทพนม มีช่อลายกระหนกประดับ ที่ผนังถ้ำด้านซ้ายของพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่มีจารึกประกาศพระบรมราชโองการ (สะกดตามรูปและอักขรวิธีเดิม) ว่า “พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ เปนของท่านผู้มีศรัทธาโบราณสร้างไว้มีอยู่ในที่นี้นานแล้ว กับด้วยพระพุทธปฏิมารูปอื่นอีกสองพระองค์เคียงกัน ซึ่งตั้งต่างเบื้องขวาพระองค์นี้นั้น ครั้งเมื่อ ณ วัน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีมเมีย สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๒๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษ์อันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประภาศเมืองเพชรบุรี ได้เสด็จประภาศถึงถ้ำนี้ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปสามพระองค์นี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงกั้นถ้ำไว้ชอบกลอยู่ จึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้พระยาหัตถการบันชา จางวางช่างสิบหมู่ จ้างช่างปั้นปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ขึ้นแล้ว ให้ลงรักถวาย ทรงปิดทองเป็นส่วนหลวง แต่พระพุทธรูปสองพระองค์ตั้งอยู่เคียงกัน ฝ่ายขวาพระพุทธรูปพระองค์นี้นั้นได้พระราชทานให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่สองพระองค์ คือพระองค์เจ้านภวงษเปนกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ได้ว่ากรมล้อมพระราชวังพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าสุประดิฐเป็นกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ได้ว่ากรมพระคลังมหาสมบัติพระองค์หนึ่ง ปฏิสังขรณ์พระองค์ละพระองค์ เพื่อจะให้เปนพระเกียรติยศสืบไปภายน่า การปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูป ๓ พระองค์นี้เปนอันสัมฤทธิบริบูรณแล้ว ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลแลอวยไชยอวยพรไว้แก่เทพยดา มนุศทั้งปวง บันดาที่ได้มายังถ้ำนี้ แลได้เห็นได้นมัสการพระปฏิมารูปทั้ง ๓ พระองค์นี้จงทุกคน แลทรงพระอธิฐานด้วยการพระราชกุศลนี้ว่า ในประจุบันภพนี้ขอให้พระองค์และพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ มีพระชนมายุยืนยาวถาวรปราศจากโรคาทิอุปัทวันตรายทั้งปวง เปนศุขสวัศดีไปสิ้นกาลนาน เพื่อจะได้สมัยกาลโอกาสเปนที่ทรงบำเพญพระราชกุศลต่างๆ เปนอันมาก ในเพลาเมื่อได้มาประสบพบบุญอรุโณภาศ คือ พระพุทธสาศนาแลพระราชศรัทธาแลศิริราชสมบัติ แลขอให้พระราชกุศลนี้จงเปนปัจจัยให้ได้เสดจถึงที่สิ้นสุด ดับแห่งสังสารวัฏทุกขทั้งปวง คือ พระอมฤตยนฤพานนั้นเทอญ มีพระบรมราชโองการให้จารึกคำนี้ไว้ วัน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอกโทศก เปนปีที่ ๑๐ ในรัชกาลประจุบันนี้”

พระพุทธรูปประจำแผ่นดิน
เพชรบุรี
ประติมากรรมพระพุทธรูปประจำแผ่นดิน

พระพุทธรูปประทับนั่งเรียงกัน จำนวน 5 องค์ เป็นพระพุทธรูปในศิลปะรัตนโกสินทร์ในช่วงรัชกาลที่ 3-4 กล่าวคือ พระพักตร์สงบนิ่งคล้ายหุ่น มีอุษณีษะ และพระรัศมีเป็นเปลวสูง เม็ดพระศกเล็ก พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำเรียวเล็ก พระนาสิกโด่ง แย้มพระโอษฐ์ ปลายตวัดขึ้นเล็กน้อย พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งบนฐานสิงห์ประดับกลีบบัว ที่ผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปเหล่านี้ประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 1-4 และมีข้อความจารึกบนแผ่นหินที่ฐาน โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้1.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชรพระหัถขวาห้อยพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่๑ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราอุณาโลม2.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถขวาพาดพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธเลิศหล้านภาไลยซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๒ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราครุฑยุดนาค3.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๓ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก”ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหาปราสาท4.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหามงกุฎ 5. เป็นพระพุทธรูปปางขอฝนประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มคลุม องค์พระและแท่นฐานทาสีใหม่ จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีจารึกข้อความหรือไม่ รวมทั้งไม่ปรากฏรูปสัญลักษณ์ประจำพระองค์ที่ผ้าทิพย์ จากร่องรอยการก่อฐานและรูปแบบศิลปะขององค์พระพุทธรูปเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นเพิ่มเติมในภายหลังจากการสร้างพระพุทธรูป 4 องค์แรก

เจดีย์วัดช่องแสมสาร
ชลบุรี
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดช่องแสมสาร

เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีลักษณะเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้น องค์เจดีย์ทรงระฆังในผังกลมประกอบด้วยชุดฐานเขียง มีชุดมาลัยเถาเป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง ถัดขึ้นมาเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ ปล้องไฉน ปลี และปลียอดโดยมีลูกแก้วคั่น รูปแบบที่เป็นเจดีย์ทรงระฆังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนตำแหน่งสูงสุดของเนินเขา ซึ่งทำให้มองเห็นได้ชัดเจนเมื่อเดินเรือผ่านช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

พระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์
นครปฐม
ประติมากรรมพระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

พระพุทธรูปลีลาเหนือฐานดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายแสดงปางวิตรรกมุทรา พระพักตร์รูปไข่ค่อนข้างกลม คล้ายใบหน้าบุคคลจริง ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย มีอุษณีษะรองรับรัศมีเปลว พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ มีสังฆาฏิพาดพระอังสา ชายจีวรละจากพระพุทธบัลลังก์ที่อยู่เบื้องหลังอย่างสมจริง

พระพุทธมนุสสนาค
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธมนุสสนาค

พระพุทธรูปประทับยืนเหนือฐานสิงห์กลีบบัว ที่ฐานมีจารึกพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างพระพุทธรูป แสดงปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวไม่เสมอกัน ครองจีวรห่มคลุมพระอังสาทั้ง 2 ข้าง จีวรเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ แลเห็นจีวรที่ห่มทับสบงที่เป็นริ้วชั้นใน รูปแบบของการทำจีวรจึงแสดงถึงแนวคิดอย่างสมจริง แต่พุทธลักษณะอื่นๆยังคงไว้ ได้แก่ พระพักตร์ที่สงบ พระเนตรเหลือบต่ำ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะเตี้ยๆรองรับพระรัศมีเปลว เหนือพระเศียรประดับด้วยฉัตรทองฉลุลาย 5 ชั้น

สำเภาและเจดีย์ทรงเครื่อง
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมสำเภาและเจดีย์ทรงเครื่อง

เรือสำเภาก่ออิฐถือปูน ลักษณะคล้ายเรือสำเภาแต้จิ๋ว หัวเรือหันสู่ทิศใต้ไปสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายเรือหันไปทางทิศเหนือ ห้องท้ายเรือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาท กลางลำเรือประดิษฐานเจดีย์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ 1 องค์ และทางหัวเรือประดิษฐานเจดีย์ทรงเครื่องขนาดเล็กกว่าอีก 1 องค์ รูปแบบของเจดีย์ทรงเครื่องประกอบด้วยชุดฐานสิงห์ 3 ฐาน มีบัวทรงคลุ่มรองรับองค์ระฆังเพิ่มมุม ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถา ปลี และเม็ดน้ำค้าง เจดีย์ทรงเครื่องเป็นรูปแบบที่มีมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายและเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3