ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมเรื่องสังคายนาพระไตรปิฎก
คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง, จิตรกรรมเรื่องสังคายนาพระไตรปิฎก, วัดมหาพฤฒาราม, วัดท่าเกวียน , วัดตะเคียน
ชื่อหลัก | วัดมหาพฤฒาราม |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดท่าเกวียน วัดตะเคียน |
ประเภทงานศิลปะ | จิตรกรรม |
ตำบล | มหาพฤฒาราม |
อำเภอ | เขตบางรัก |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.732559 Long : 100.516446 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 663967.23 N : 1518663.82 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ผนังเหนือช่องหน้าต่างภายในพระอุโบสถ |
ประวัติการสร้าง | วัดมหาพฤฒารามสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดท่าเกวียน หรือวัดตะเคียน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ เนื่องจากเคยได้เสด็จมาที่วัดนี้เมื่อทรงผนวช ในคราวนั้นพระอธิการแก้วเจ้าอาวาสได้ทูลถวายพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์จึงมีรับสั่งว่าถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง พระราชทานนามว่า "วัดมหาพฤฒาราม" |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ภาพเขียนสีฝุ่น |
ลักษณะทางศิลปกรรม | จิตรกรรมฝาผนังเขียนเล่าเหตุการณ์การสังคายนาพระไตรปิฎกในพุทธศาสนารวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง เริ่มจากผนังด้านขวาของพระประธาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอินเดีย เรียงลำดับไปยังผนังด้านหลังซึ่งเป็นเหตุการณ์ในลังกา และผนังด้านซ้ายซึ่งเป็นเหตุการณ์ในล้านนาและในสมัยรัชกาลที่ 1 ผนังเบื้องหน้าพระประธานเขียนภาพตู้พระไตรปิฎก 3 ตู้ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระไตรปิฎกที่ได้รับการสังคายนาแล้ว ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ภายในตู้บรรจุพระคัมภีร์ห่อด้วยผ้ายกปิดทอง มีภาพผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ สังเกตได้จากการแต่งกายที่แตกต่างกันกำลังกราบไหว้บูชาตู้พระธรรมเหล่านั้น |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | จิตรกรรมฝาผนังถ่ายทอดเรื่องราวการสังคายนาพระไตรปิฎก จำนวน 9 ครั้งตามเนื้อหาในสังคีติยวงศ์ นับตั้งแต่ในอินเดีย ลังกา ล้านนาและสยาม ฉากหนึ่งที่สำคัญคือการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 9 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อพ.ศ.2331 พิธีสังคายนาพระไตรปิฎกจัดขึ้นที่วัดพระศรีสรรเพชญ(วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์) เมื่อเสร็จพิธีแล้วได้มีกระบวนพยุหยาตราแห่อัญเชิญพระไตรปิฎกมาประดิษฐานที่หอไตรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ว่า พระไตรปิฎกฉบับทอง แม้ว่าจิตรกรรมฝาผนังยังคงถ่ายทอดเรื่องราวในพุทธศาสนา แต่ได้ปรับเปลี่ยนจากเรื่องพุทธประวัติมาเป็นเนื้อหาแนวใหม่ที่อิงความสมจริงตามประวัติศาสตร์ การให้ความสำคัญกับความสมจริง และเทคนิควิธีแบบตะวันตก ทำให้เกิดภาพวัดมหาธาตุฯ เป็นฉากใหญ่และมีภาพวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ถัดไปทางด้านซ้าย โดยด้านหน้ากำแพงวัดมีกระบวนพยุหยาตราอัญเชิญพระไตรปิฎกและเครื่องสูงประกอบเกียรติยศ ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวพยายามเขียนตามหลักทัศนียวิทยา แม้จะยังไม่เคร่งครัดนักแต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของงานจิตรกรรมไทย |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | ตำนานการสังคายนาพระไตรปิฎก |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-04-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | สมเด็จพระวันรัตน. สังคีติยวงศ์พงศาวดารเรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย. กรุงเทพฯ: ศิวพร, 2521. วัดมหาพฤฒาราม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2526. ประวัติวัดมหาพฤฒาราม. พระนคร: บริษัทประชุมช่าง จำกัด, 2511. ชนิดา ไชยสกุล. “อิทธิพลตะวันตกในจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร” สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2532. |