ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์อยู่ในอิริยาบถยืนตรง พระเนตรปิดสื่อถึงความสงบ พระเกศายาวเกล้าเป็นมวยทรงกระบอกขึ้นไปกลางพระเศียร มีสี่กรโดยกรขวาหลังหักหายไปแล้ว กรที่เหลืออีก 3 กรแสดงกฏกมุทราหรืองอนิ้วพระหัตถ์ประหนึ่งถือสิ่งของไว้ ส่วนบนของพระวรกายเปล่าเปลือย ส่วนล่างสวมสมพตสั้น บางแนบเนื้อและไม่เห็นริ้ว
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งทำปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ พระชงฆ์คมเป็นสันดังมนุษย์จริง ครองจีวรห่มเฉียง บางแนบพระวรกาย ไม่มีริ้ว พระพักตร์สงบ พระเนตรปิด แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนเพียงเล็กน้อย ขนดนาคที่รองรับพระพุทธเจ้ามี 3 ขนด มีพังพานนาคหลายเศียรปกอยู่ทางด้านหลัง
ประติมากรรมทับหลังจากปราสาทเขาน้อยหลังเหนือ
ทับหลังทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางสลักลายเส้นตรงที่มีส่วนปลายเป็นวงโค้งพาดผ่านกลางทับหลัง ลานเส้นตรงที่มีปลายเป็นวงโค้งนี้ตกแต่งด้วยลายวงรูปไข่ที่มีลวดลายตกแต่งอยู่ภายในและภายนอกจำนวน 5 วงเป็นองค์ประกอบหลัก ใต้ลายเส้นตรงสลักลายพวงมาลัยและอุบะ ถัดจากปลายวงโค้งทั้งสองข้างเป็นรูปสิงห์ในท่ายืน ปลายวงโค้งและสิงห์รองรับด้วยแท่นฐานสี่เหลี่ยม ตรงกลางระหว่างแท่นสี่เหลี่ยมในตำแหน่งขอบล่างของทับหลังสลักตกแต่งด้วยลายกนก
ประติมากรรมทับหลังจากปราสาทเขาน้อยหลังเหนือ
ทับหลังทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางสลักลายวงโค้ง 4 วงต่อเนื่องกัน จุดบรรจบของแต่ละวงโค้งตกแต่งด้วยลายวงรูปไข่ที่ประดับภายในด้วยภาพเทพเจ้าทรงพาหนะ ใต้วงโค้งสลักลายพวงมาลัยและอุบะ ถัดจากปลายวงโค้งทั้งสองข้างเป็นรูปมกรหันหน้าเข้าสู่ด้านใน อ้าปากราวกับว่ากำลังคายท่อนวงโค้ง มีรูปบุคคลนั่งเหนือมกร และมีแท่นฐานสี่เหลี่ยมรองรับมกร
ประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ประติมากรรมฉลองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีสภาพชำรุดบางส่วน พระกรทั้งสองข้างและพระชานุซ้ายหักหายไป พระพักตร์เหลี่ยม พระเนตรปิด แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย พระเกศายาวเกล้าเป็นมวย พระวรกายท้วม ช่วงบนไม่ทรงอาภรณ์ใดๆ ช่วงล่างทรงสมพตสั้น นั่งอยู่ในอิริยาบถขัดสมาธิ พระหัตถ์ที่หักหายไม่ทราบว่าทำท่าทางใด แต่บางท่านสันนิษฐานว่าประนมกรไว้ เพราะหากทำท่าสมาธิหรือวางบนพระเพลาจำต้องเห็นร่องรอยของฝ่าพระหัตถ์ที่ติดอยู่กับพระเพลา
สถาปัตยกรรมปราสาทกำแพงแลง
ปราสาทกำแพงแลงมีผังพื้นล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงศิลาแลงเป็นที่ตั้งของปราสาทศิลาแลงแบบศิลปะเขมรทั้งหมด 4 องค์ ปราสาท 3 องค์ทางด้านหน้าวางตัวเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ โดยปราสาทประธานมีขนาดสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ คล้ายกับปรางค์สามยอด ลพบุรี ส่วนปราสาทองค์ที่ 4 ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก และยังปรากฏลวดลายปูนปั้นประดับปราสาท ด้านหน้ามีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้า 1 หลัง ภายในกำแพงศิลาแลงยังพบสระน้ำอยู่ชิดขอบกำแพงทางทิศตะวันออกด้วยนอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ พระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมี, ส่วนพระวรกายของพระโพธิสัตว์โลเกศวรสี่กร, ส่วนพระวรกายของพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง, เศียรนางปรัชญาปารมิตา จากการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการสร้างปราสาท และลักษณะของการวางผังปราสาททิศเหนือ ปราสาทองค์กลาง และปราสาททิศใต้ เป็นไปในลักษณะการวางตามคติการนับถือรัตนตรัยมหายาน ปราสาททิศเหนือได้แก่พระนางปรัชญาปารมิตา ปราสาทองค์กลาง คือพระวัชรสัตว์นาคปรก และจากปราสาททิศใต้ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งคติการนับถือรูปเคารพทั้งสามรูปเรียงกันในแนวนี้ เป็นคติการนับถือรูปเคารพในพุทธศาสนามหายาน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตวรรษที่ 18 จึงสามารถกำหนดอายุเวลาในการสร้างปราสาทกำแพงแลงนี้ได้ว่าร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา กล่าวถึงเมือง “ศรีชัยวัชรปุระ” (เมืองเพชรบุรี) หนึ่งในหกเมืองโบราณในภาคกลางที่มีการกล่าวต่อไปอีกว่าได้มีการส่งพระชัยพุทธมหานาถ 1 ใน 23 องค์จากเมืองพระนครหลวง มาประดิษฐานที่เมืองเพชรบุรีนั่นก็คือปราสาทวัดกำแพงแลง และเมื่อเทียบกับโบราณสถานแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ ก็คือปราสาทที่กล่าวถึงในจารึกนั้น ซึ่งปราสาทพระขรรค์เป็นปราสาทที่ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นกัน
สถาปัตยกรรมปราสาทสระกำแพงใหญ่
ปราสาทมีระเบียงคดล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ภายในระเบียงคดปรากฏอาคารจำนวน 6 หลัง คือ กลุ่มปราสาทประธาน 3 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ด้านหน้ามีบรรณาลัยในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 2 ข้าง และด้านหลังยังปรากฏปราสาทอีก 1 หลัง ซึ่งตั้งเยื้องอยู่ทางด้านทิศใต้และทำให้ปราสาทมีแผนผังที่ไม่สมมาตรวัสดุที่ใช้ก่อสร้างปราสาทประธาน ประกอบด้วยหินทรายและอิฐในหลังเดียวกัน โดยส่วนที่เป็นผนังมักก่อนอิฐ ส่วนที่ใช้ในการสลักภาพ เช่น หน้าบัน ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูนั้น กลับสลักด้วยหินทราย อนึ่ง การผสมผสานกันระหว่างวัสดุ 2 ประเภทในปราสาทหลังเดียวกันนี้ ถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะขอมในดินแดนไทยเท่านั้นปราสาทประธานของปราสาทสระกำแพงใหญ่ แม้ว่าลวดลายได้มีอิทธิพลของศิลปะนครวัดเข้ามาปะปนแล้ว แต่สำหรับแผนผังและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมนั้นยังคงแสดงความเกี่ยวข้องกับปราสาทรุ่นเก่าอยู่ เช่น การไม่มีมณฑปยาว มีแต่เพียงมุขสั้นๆ เป็นต้น ปราสาทด้านหลังปราสาทประธานนั้นเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่นอกแผนผังที่สมมาตร กล่าวคือ เป็นปราสาทเพียงหลังเดียวที่ตั้งอยู่ด้านหลังปราสาท 3 องค์ด้นหน้า และตั้งเยื้องไปทางทิศใต้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นเนื่องด้วยคติใดและอุทิศให้กับเทพหรือเทพีองค์ใด อย่างไรก็ตาม ย่อมแสดงให้เห็นความเป็นพื้นเมืองของปราสาทขอมในดินแดนไทยที่อาจสร้างปราสาทแบบไม่สมมาตรได้
สถาปัตยกรรมปราสาทศีขรภูมิ
ประกอบด้วยปราสาทอิฐจำนวน 5 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปราสาทประธานมีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะที่อีก 4 หลังตั้งอยู่ที่มุม ทั้ง 4 ปราสาทล้อมรอบด้วยคูน้ำยกเว้นทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในพุทธศตวรษที่ 17 ซึ่งตรงกับศิลปะร่วมแบบนครวัด โดยสามารถกำหนดอายุได้จากลวดลายบนกรอบประตูและทับหลังของปราสาทประธาน อย่างไรก็ดี ปราสาทแห่งนี้ยังคงสร้างด้วยอิฐ อันแตกต่างไปจากปราสาทสมัยนครวัดในประเทศกัมพูชาที่นิยมสร้างด้วยหินทรายเสมอแผนผังของปราสาทศรีขรภูมิ มีความพิเศษที่แตกต่างไปจากปราสาทหลังอื่นๆในประเทศไทย เนื่องจากเป็นปราสาท 5 หลังที่ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน โดยปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลางและล้อมรอบไปด้วปราสาทบริวารอีก 4 มุม ลักษระเช่นนี้แตตก่งไปจากปราสาทที่พบในประทศไทยโดยทั่วไปที่มักเป็นปราสาท 3 หลังเรียงกันอยู่บนฐานไพทีปราสาทประธานของปราสาทศีขรภูมิ รวมถึงปราสาทหลังอื่นๆ มีลักษณะเป็นปราสาทเดี่ยวที่ไม่มีการต่อเชื่อมมณฑป ส่วนที่เป็นผนังเรียบๆ มักใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก ส่วนที่ต้องสลัก เช่น ทับหลัง เสาประดับกรอบประตูและเสากรอบประตู มักใช้หินทรายในการสลัก การปะปนกันของวัสดุสองประเภทนี้ ปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และถือเป็นลักษณะพื้นเมืองของปราสาทขอมในดินแดนไทยเอง เนื่องจากปราสาทสมัยนครวัดในประเทศกัมพูชาย่อมสลักด้วยหินทรายเสมอ เนื่องจากปราสาทประธานปรากฏทับหลังรูปศิวนาฏราช จึงเป็นไปได้สูงที่ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในลัทธิไศวนิกาย ปราสาททั้งห้าหลังนี้จึงอาจเคยประดิษฐานศิวลึงค์อันเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะก็ได้ ในระยะหลัง ปราสาทแห่งนี้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาเถรวาทโดยชาวลาวที่อพยพเข้ามาภายหลัง หลักฐานที่สำคัญได้แก่จารึกกรอบประตูและการซ่อมแปลงยอดของปราสาทบริวารหลังตะวันตกเฉียงใต้มีลักษณะคล้ายพระธาตุศิลปะล้านช้างในพุทธศาสนา มีการก่อยอดขึ้นไปใหม่เลียนแบบยอดปราสาทในศิลปะขอมแต่มีรูปแบบแตกต่างไปจากต้นแบบอย่างชัดเจน ส่วนกลีบขนุนก็มีการนำขึ้นไปจัดเรียงใหม่ด้วย