ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

คำสำคัญ : ปราสาทพิมาย, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย, พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลในเมือง
อำเภอพิมาย
จังหวัดนครราชสีมา
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 15.224812
Long : 102.494452
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 230843.9
N : 1684737.63
ตำแหน่งงานศิลปะภายในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้างประติมากรรมองค์นี้โดยตรง แต่เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นรูปฉลองพระองค์ของท่านเอง ทั้งนี้มีรูปแบบที่เทียบได้กับประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พบในประเทศกัมพูชาและลาว

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หินทรายแกะสลัก

ประวัติการอนุรักษ์

ค้นพบภายในปรางค์พรหมทัตภายในปราสาทพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ขนาด1.42 เมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

ประติมากรรมฉลองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีสภาพชำรุดบางส่วน พระกรทั้งสองข้างและพระชานุซ้ายหักหายไป

พระพักตร์เหลี่ยม พระเนตรปิด แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย พระเกศายาวเกล้าเป็นมวย พระวรกายท้วม ช่วงบนไม่ทรงอาภรณ์ใดๆ ช่วงล่างทรงสมพตสั้น นั่งอยู่ในอิริยาบถขัดสมาธิ พระหัตถ์ที่หักหายไม่ทราบว่าทำท่าทางใด แต่บางท่านสันนิษฐานว่าประนมกรไว้ เพราะหากทำท่าสมาธิหรือวางบนพระเพลาจำต้องเห็นร่องรอยของฝ่าพระหัตถ์ที่ติดอยู่กับพระเพลา
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ประติมากรรมนี้เชื่อว่าเป็นรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ค้นพบที่ปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นรูปฉลองพระองค์ของกษัตริย์ที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนไทย ทั้งยังอยู่ในสภาสมบูรณ์มาก

ประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นี้สะท้อนให้เห็นว่าในรัชสมัยของพระองค์ดินแดนแถบนี้คงอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี
อายุพุทธศตวรรษที่ 18 รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องความเชื่อท้องถิ่น
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ชาวบ้านเชื่อกันว่าประติมากรรมนี้เป็นรูปท้าวพรหมทัต เจ้าเมืองพิมายในตำนานท้องถิ่นเรื่อง ปาจิตอรพิม

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

ประติมากรรมฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 น่าจะอยู่ในฐานะของรูปเคารพด้วย โดยอาจเกี่ยวข้องกับประเพณีหนึ่งของชาวเขมรโบราณที่ยกสถานภาพของกษัตริย์และพระวงศ์ขึ้นเป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระศิวะ พระวิษณุ แต่ถ้านับถือศาสนาพุทธก็ยกย่องสถานภาพให้เป็นพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ รูปฉลองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาจอยู่ในฐานะรูปเคารพเพราะถือกันว่าพระองค์เสมือนเป็นทิพยบุคคลในร่างมนุษย์ อันเป็นความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกันกับการยกสถานภาพบุคคลให้เสมือนเทพเจ้าหรือพระพุทธเจ้านั่นเอง

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (เรียบเรียง) ประติมากรรมขอม. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2515.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทาลัยศิลปากร, 2547.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. “รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากเมืองซายฟองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 9, ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2530), หน้า 60-70.