ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 65 ถึง 72 จาก 471 รายการ, 59 หน้า
พระตำหนักแดง
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระตำหนักแดง

ตำหนักแดงมีลักษณะเป็นตำหนักหลังเดียว ความยาว 7 ห้อง มีเฉลียงที่ด้านหน้า มีเสารองรับชายคาจำนวน 15 ต้น หลังคาชั้นเดียวไม่มีมุขลด ทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันกรุด้วยไม้แบบลูกฟักหน้าพรหม กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ฝาเรือนเป็นฝาปะกนลูกฟัก บานประตูหน้าต่างมีอกเลา ลักษณะเด่นของตำหนักแดงคือ พระแกลหรือหน้าต่างที่มีฐานสิงห์ประกอบอยู่ที่ตอนล่าง ซึ่งจะไม่ปรากฏในเรือนสามัญชน รูปแบบของพระตำหนักแดงเป็นตัวอย่างสำคัญของพระตำหนักที่ประทับที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารยกพื้นสูง มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ช่อง ซุ้มประตูทรงบรรพแถลง มีเสาพาสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคารและมีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองรองรับชายคา เครื่องหลังคาประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีคอสองหรือผนังที่คั่นจังหวะหลังคาออกเป็น 2 ส่วน หน้าบันพระที่นั่งทำด้วยไม้แกะสลักรูปพระพรหมสถิตในวิมาน 3 หลัง แวดล้อมด้วยลายกระหนกใบไม้ม้วนและเทพนม ปิดทองประดับกระจก

วัดบวรสถานสุทธาวาส
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดบวรสถานสุทธาวาส

พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาสเป็นอาคารแบบไทยประเพณี ก่ออิฐถือปูน แผนผังแบบจัตุรมุข มีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคาร เครื่องหลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องสีเขียวและส้ม ประดับช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และนาคเบือน หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ปิดทองประดับกระจกสี ตัวอาคารมีทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ด้านตะวันออก เหนือ และใต้ ด้านละ 3 ประตู ส่วนด้านตะวันตกมี 2 ประตู บานประตูหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักลายแก้วชิงดวง ปิดทองประดับกระจก ซุ้มเหนือของประตูประดับด้วยลวดลายปูนปั้น โดยรอบพระอุโบสถมีลานระเบียงและกำแพงแก้วล้อมรอบ พนักประดับด้วยกระเบื้องปรุ หัวเสายอดเม็ดทรงมัณฑ์

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ปราจีนบุรี
สถาปัตยกรรมตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบยุโรปความสูง 2 ชั้น ด้านหน้าของทั้ง 2 ชั้นมีโถงระเบียงซึ่งยื่นออกมารองรับหน้าบันที่ชั้นหลังคาโดยมีโดมเตี้ยๆอยู่เบื้องหลัง ส่วนของหน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปต้นไม้และใบไม้ ซุ้มประตูหน้าต่าง ขื่อ คาน เสา ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายใบไม้ม้วนช่อดอกไม้ม้วนลายขมวดก้นหอย ลายหน้าสิงห์ ลายรูปช้าง พื้นอาคารทุกห้องปูด้วยกระเบื้องโมเสคลวดลายต่าง ๆ ซึ่งเป็นลวดลายดั้งเดิมตั้งแต่สร้างตึกเสาบันไดทำเลียนแบบเสาโรมัน และระเบียงราวบันไดเป็นไม้แกะสลักลวดลาย เพดานห้องมีภาพเขียนสีแบบปูนเปียกหรือ frescoซึ่งแต่ละห้องจะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกัน

พระบรมธาตุมหาเจดีย์
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุมหาเจดีย์

เจดีย์ทรงระฆังในผังกลมขนาดใหญ่ ส่วนฐานประกอบด้วยช่องประตูวงโค้งสลับคั่นด้วยเสาหลอกอย่างตะวันตก บานประตูประดับเหล็กดัด มีบันไดทางขึ้นสู่ฐานประทักษิณด้านบน ซึ่งมีช่องประตูที่สามารถเข้าสู่บริเวณภายในองค์เจดีย์ได้ 4 ทิศ รูปแบบภายนอกของเจดีย์ประกอบด้วยส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นชุดมาลัยเถาซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา แต่ได้เพิ่มมาลัยเถาให้เป็น 7 ชั้น ส่งผลให้องค์ระฆังมีขนาดเล็กลงกว่าเจดีย์ทรงระฆังในสมัยอยุธยา ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม ก้านฉัตรหรือแกนปล้องไฉนที่มีเสาหารล้อมรอบ ปล้องไฉน ปลียอดและลูกแก้ว รอบพระเจดีย์มีระเบียงคดในผังกลม หลังคาตัดเรียบแบบดาดฟ้า ประดิษฐานเจดีย์รายซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังจำนวน 18 องค์ ล้อมรอบเจดีย์ประธาน

พระเจดีย์หลวง
สงขลา
สถาปัตยกรรมพระเจดีย์หลวง

รูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 กล่าวคือ เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณในผังสี่เหลี่ยม ส่วนฐานประทักษิณเจาะช่องวงโค้ง ที่พนักระเบียงประดับด้วยช่องวงโค้งเช่นกัน มีบันไดทางขึ้นทางด้านตะวันออกและตะวันตก ลักษณะเป็นบันไดประชิด องค์เจดีย์ประกอบด้วยส่วนฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ชุดมาลัยเถาและบัวลูกแก้วอกไก่รองรับองค์ระฆัง มีบัลลังก์สี่เหลี่ยม ปล้องไฉนและปลียอด ปัจจุบันได้รับการปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพสมบูรณ์

เจดีย์วัดช่องแสมสาร
ชลบุรี
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดช่องแสมสาร

เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีลักษณะเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้น องค์เจดีย์ทรงระฆังในผังกลมประกอบด้วยชุดฐานเขียง มีชุดมาลัยเถาเป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง ถัดขึ้นมาเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ ปล้องไฉน ปลี และปลียอดโดยมีลูกแก้วคั่น รูปแบบที่เป็นเจดีย์ทรงระฆังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนตำแหน่งสูงสุดของเนินเขา ซึ่งทำให้มองเห็นได้ชัดเจนเมื่อเดินเรือผ่านช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช
สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

รูปแบบปัจจุบันจากส่วนฐานจนกระทั่งส่วนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมีลักษณะดังต่อไปนี้ส่วนล่างเป็นฐานประทักษิณสูง ล้อมรอบด้วยระเบียงหรือที่เรียกว่าวิหารทับเกษตร บันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณอยู่ทางทิศเหนือซึ่งเป็นด้านที่เชื่อมต่อกับวิหารพระทรงม้า ทำให้บันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณตั้งอยู่ภายในวิหารพระทรงม้าไปโดยปริยายผนังของฐานประทักษิณประดับด้วยแนวเสาอิง บนตัวเสาอิงมีพระพุทธรูปยืนขนาบบ้างด้วยพระสาวกอยู่ภายในซุ้ม ระหว่างเสามีช้างเห็นครึ่งตัวอยู่ภายในซุ้มวงโค้งหรือซุ้มหน้านางด้านละ 6 ตัว ยกเว้นทางด้านเหนือมีอยู่ 4 ตัว เพราะต้องเว้นพื้นที่ไว้สำหรับบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ บนลานประทักษิณมีเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่มีเจดีย์ทรงกลมประจำมุม เจดีย์องค์ใหญ่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดมีองค์ระฆังกลมขนาดใหญ่ เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ประดับด้วยปูนปั้นรูปเสาอิงและเครื่องถ้วย ถัดขึ้นไปเป็นก้านฉัตรหรือแกนปล้องไฉนซึ่งประดับด้วยเสาหานที่มีรูปพระอัครสาวกตกแต่งอยู่ เรียกกันทั่วไปว่า พระเวียน ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน ปัทมบาทและปลีซึ่งหุ้มด้วยทองคำและประดับด้วยอัญมณีมีค่า