ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระบรมธาตุมหาเจดีย์

คำสำคัญ : เจดีย์ทรงระฆัง, พระบรมธาตุมหาเจดีย์, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ชื่อหลักวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลวัดกัลยาณ์
อำเภอเขตธนบุรี
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.737357
Long : 100.495372
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661684.46
N : 1519180.71
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

เริ่มสร้างพระบรมธาตุมหาเจดีย์พร้อมกับการสร้างวัดเมื่อ พ.ศ.2371 ตามดำริของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ถึงแก่พิราลัย ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้สร้างพระเจดีย์ต่อจนเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ก่ออิฐถือปูน

ประวัติการอนุรักษ์

พ.ศ. 2414 พระเจดีย์ถูกฟ้าผ่าจนยอดพระเจดีย์หักไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นเวลานานถึง 47 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2461 พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อยู่ อุตฺตรภทฺโท) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในขณะนั้น ได้จัดการบูรณปฏิสังขรณ์ยอดพระเจดีย์ขึ้นดังเดิม

พระบรมธาตุมหาเจดีย์นี้ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เมื่อคราวที่พระปรากรมมุนี (เปลี่น) เจ้าอาวาสรูปที่ 10 บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์เล็กรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ และซ่อมกำแพงรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ จากนั้นได้จัดงานฉลองพระเจดีย์และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานไว้บนพระเจดีย์องค์ใหญ่ ในคราวนั้น พระสมุห์ปุ่น (ต่อมาเป็นพระครูสาราณิยคุณ) ได้ให้จารึกข้อความลงในกระดานชนวน วางไว้ห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุว่า “พระสมุห์ปุ่น ได้จารึกพระธรรมประจุพระเจดีย์ ณ วันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 หลังปีมะแม 1269 พระพุทธศาสนา 2450 เป็นส่วนอดีต 2549 ส่วนอนาคต ขอให้เป็นปัจจัยแด่พระวิริยาธิกโพธิญาณ ในอนาคตกาลเทอญ”

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารรูปปัจจุบัน ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2549 และได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและพระกรุจำนวนมากบนองค์พระเจดีย์ใหญ่เมื่อวันที่ 5 และ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนองค์พระเจดีย์ในโอกาสสมโภช 180 ปีวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551

พ.ศ. 2556 พระเจดีย์แห่งนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากโครงการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2556 โดยชนะเลิศอันดับที่ 1 จาก 47 โครงการจากผู้เข้าร่วมกว่า 16 ประเทศทั่วโลก
ขนาดความสูง 60.525 เมตร วัดโดยรอบ 162 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์ทรงระฆังในผังกลมขนาดใหญ่ ส่วนฐานประกอบด้วยช่องประตูวงโค้งสลับคั่นด้วยเสาหลอกอย่างตะวันตก บานประตูประดับเหล็กดัด มีบันไดทางขึ้นสู่ฐานประทักษิณด้านบน ซึ่งมีช่องประตูที่สามารถเข้าสู่บริเวณภายในองค์เจดีย์ได้ 4 ทิศ รูปแบบภายนอกของเจดีย์ประกอบด้วยส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นชุดมาลัยเถาซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา แต่ได้เพิ่มมาลัยเถาให้เป็น 7 ชั้น ส่งผลให้องค์ระฆังมีขนาดเล็กลงกว่าเจดีย์ทรงระฆังในสมัยอยุธยา ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม ก้านฉัตรหรือแกนปล้องไฉนที่มีเสาหารล้อมรอบ ปล้องไฉน ปลียอดและลูกแก้ว รอบพระเจดีย์มีระเบียงคดในผังกลม หลังคาตัดเรียบแบบดาดฟ้า ประดิษฐานเจดีย์รายซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังจำนวน 18 องค์ ล้อมรอบเจดีย์ประธาน

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระบรมมหาธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ที่สำคัญองค์หนึ่งในย่านธนบุรี ซึ่งเป็นนิวาสสถานที่สำคัญของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค รูปแบบดังกล่าวมีความสืบเนื่องมาจากเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะอยุธยา แต่ได้ปรับรูปแบบและใช้เทคนิคการก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ทำให้เจดีย์องค์นี้มีความแตกต่างจากเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะอยุธยาที่ใช้การก่ออิฐถือปูน ทำให้เจดีย์ทรงระฆังมีลักษณะทึบตัน แต่เจดีย์องค์นี้ภายในองค์ระฆังมีเสาแกนกลางขนาดใหญ่ช่วยรับน้ำหนักของส่วนยอด จึงทำให้ภายในองค์ระฆังมีลักษณะเป็นโถงที่เข้าไปภายในได้ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมในส่วนอื่นๆยังแสดงถึงอิทธิพลตะวันตกที่ผสมผสานกับการสร้างเจดีย์ในพุทธศาสนา เช่น ส่วนฐานประทักษิณและระเบียงคดอยู่ในผังกลมขนาดใหญ่ มีช่องทางเข้าออกเป็นช่องวงโค้งสลับคั่นด้วยแนวเสาหลอกเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก พนักระเบียงประดับลูกกรงกระเบื้องเคลือบ บานประตูวงโค้งประดับด้วยเหล็กดัด เป็นต้น

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

ใช้เทคนิคการก่อสร้างที่มีเสาแกนกลางภายในองค์ระฆังคล้ายกับเจดีย์ประธานวัดบวรนิเวศวิหาร เจดีย์พระธาตุจอมเพชรที่พระนครคีรี จ.เพชรบุรี และการทำระเบียงคดในผังกลมขนาดใหญ่ยังมีความสัมพันธ์กับพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ด้วย นอกจากนี้ รูปแบบและสัดส่วนเจดีย์ยังมีความสัมพันธ์กับเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มตระกูลบุนนาค เช่น เจดีย์ประธานวัดเฉลิมพระเกียรติ จ.นนทบุรี

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-04-01
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมมฺจิตฺโต) และ สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถี, พระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ1 จากองค์การยูเนสโก. กรุงเทพฯ : หจก.สามลดา, 2557.