ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
คำสำคัญ : เจดีย์ทรงระฆัง, วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร, พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
ชื่อหลัก | วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ในเมือง |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | นครศรีธรรมราช |
ภาค | ภาคใต้ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 8.410996 Long : 99.966145 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 606363.88 N : 929865.73 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | เขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เกี่ยวกับประวัติการสร้างมีอยู่ในลักษณะตำนาน ได้เล่าอดีตย้อนกลับไปจนถึงราวยุคต้นประวัติศาสตร์ หรือราวพุทธศตวรรษที่ 10 ครั้งนั้นเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลาอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากอินเดียไปสู่ศรีลังกา ทว่าเรือแตกจนทำให้ทั้ง 2 พระองค์มาขึ้นฝั่งยังหาดทรายแก้ว นำพระบรมสารีริกธาตุฝังไว้ที่หาดทรายแก้วเพื่อป้องกันภยันตราย เมื่อทั้ง 2 พระองค์หาหนทางอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปยังศรีลังกาเป็นผลสำเร็จแล้วจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่งกลับมาประดิษฐานยังตำแหน่งเดิม ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้สร้างพระสถูปครอบสถานที่ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ ซึ่งก็คือพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชนั่นเอง แม้ว่าเหตุการณ์เรือแตกของเจ้าชัยทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลาจะเป็นเรื่องเล่าที่ได้แรงบันดาลใจโดยตรงจากตำนานพระเขี้ยวแก้วของลังกา จนกล่าวได้ว่าไม่น่าใช่เหตุการณ์จริง แต่การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์โดยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชน่าจะเป็นเรื่องจริง โดยจากรูปแบบทางศิลปกรรมเชื่อว่าเกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยลำดับ โดยเฉพาะในสมัยอยุธยาที่มีการซ่อมแซมส่วนปลียอดและหุ้มทองคำ ตราบจนปัจจุบันยังคงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยตลอด |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ก่ออิฐถือปูน |
ลักษณะทางศิลปกรรม | รูปแบบปัจจุบันจากส่วนฐานจนกระทั่งส่วนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมีลักษณะดังต่อไปนี้ ส่วนล่างเป็นฐานประทักษิณสูง ล้อมรอบด้วยระเบียงหรือที่เรียกว่าวิหารทับเกษตร บันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณอยู่ทางทิศเหนือซึ่งเป็นด้านที่เชื่อมต่อกับวิหารพระทรงม้า ทำให้บันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณตั้งอยู่ภายในวิหารพระทรงม้าไปโดยปริยาย ผนังของฐานประทักษิณประดับด้วยแนวเสาอิง บนตัวเสาอิงมีพระพุทธรูปยืนขนาบบ้างด้วยพระสาวกอยู่ภายในซุ้ม ระหว่างเสามีช้างเห็นครึ่งตัวอยู่ภายในซุ้มวงโค้งหรือซุ้มหน้านางด้านละ 6 ตัว ยกเว้นทางด้านเหนือมีอยู่ 4 ตัว เพราะต้องเว้นพื้นที่ไว้สำหรับบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ บนลานประทักษิณมีเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่มีเจดีย์ทรงกลมประจำมุม เจดีย์องค์ใหญ่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดมีองค์ระฆังกลมขนาดใหญ่ เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ประดับด้วยปูนปั้นรูปเสาอิงและเครื่องถ้วย ถัดขึ้นไปเป็นก้านฉัตรหรือแกนปล้องไฉนซึ่งประดับด้วยเสาหานที่มีรูปพระอัครสาวกตกแต่งอยู่ เรียกกันทั่วไปว่า พระเวียน ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน ปัทมบาทและปลีซึ่งหุ้มด้วยทองคำและประดับด้วยอัญมณีมีค่า |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเป็นเจดีย์ทรงกลมที่มีรูปแบบใกล้ชิดกับศิลปะลังกาอย่างมาก น่าจะเป็นเจดีย์องค์แรกๆ ในดินแดนไทยที่สร้างขึ้นภายใต้กระแสของพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่เผยแผ่สู่ดินแดนไทยตั้งแต่ห้วงพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ทั้งยังอาจเป็นแรงบันดาลใจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเจดีย์ทรงกลมหลายองค์ในดินแดนไทย |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | อยุธยา, ก่อนอยุธยา |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 18 |
ศาสนา | พุทธ |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนา |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. เชื่อกันว่าพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชสร้างขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับเจดีย์ทรงกลมในศิลปะลังกา ตัวอย่างที่ใกล้เคียงได้แก่ กิริเวเหระ เมืองโปลนนารุวะ 2. พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์จึงได้รับการถ่ายทอดหรือจำลองสู่เจดีย์องค์อื่นๆ โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างออกไปจากต้นแบบมากบ้างน้อยบ้าง เช่น เจดีย์วัดเขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง พระธาตุสวี จังหวัดชุมพรเจดีย์วัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ) เจดีย์วัดพระเจดีย์งาม เจดีย์วัดสทิงพระ จังหวัดสงขลา |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-09-30 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชกับการวิเคราะห์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร), 2547. ประภัสสร์ ชูวิเชียร. พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช มหาสถูปแห่งคาบสมุทรภาคใต้. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2553. |