ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 73 ถึง 80 จาก 471 รายการ, 59 หน้า
สำเภาและเจดีย์ทรงเครื่อง
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมสำเภาและเจดีย์ทรงเครื่อง

เรือสำเภาก่ออิฐถือปูน ลักษณะคล้ายเรือสำเภาแต้จิ๋ว หัวเรือหันสู่ทิศใต้ไปสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายเรือหันไปทางทิศเหนือ ห้องท้ายเรือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาท กลางลำเรือประดิษฐานเจดีย์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ 1 องค์ และทางหัวเรือประดิษฐานเจดีย์ทรงเครื่องขนาดเล็กกว่าอีก 1 องค์ รูปแบบของเจดีย์ทรงเครื่องประกอบด้วยชุดฐานสิงห์ 3 ฐาน มีบัวทรงคลุ่มรองรับองค์ระฆังเพิ่มมุม ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถา ปลี และเม็ดน้ำค้าง เจดีย์ทรงเครื่องเป็นรูปแบบที่มีมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายและเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3

พระพุทธปรางค์
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระพุทธปรางค์

ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน ส่วนล่างของปรางค์ทั้ง 3 องค์ เป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนเรือนธาตุของปรางค์ประธานเป็นอาคารแบบมณฑปจัตุรมุข ภายนอกมีประติมากรรมยักษ์ยืนกุมกระบองที่มุมย่อย ผนังมุมย่อยประดับกาบพรหมศร หลังคาจัตุรมุขซ้อน 3 ชั้นมุงกระเบื้อง ที่ตำแหน่งช่อฟ้าประดับนกเจ่า ใบระกา และหางหงส์ลดหลั่นลงมาตามลำดับ ส่วนยอดเป็นปรางค์ซ้อน 6 ชั้นประดับกลีบขนุนที่แนบชิดติดกัน มีชั้นเทพนมและยักษ์แบก ปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบข้างมีรูปแบบเหมือนกัน แตกต่างจากปรางค์ประธานเนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า หลังซ้อน 2 ชั้น หน้าบันเป็นสามเหลี่ยมเรียบ ไม่ประดับนกเจ่า ใบระกาและหางหงส์

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

ภายในวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง แบ่งเป็นพื้นที่เขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ในส่วนพุทธาวาสมีอาคารสำคัญ ได้แก่ พระวิหารหลวงที่มีรูปแบบอย่างไทยประเพณี ตัวอาคารประดับด้วยหินอ่อน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องประดับเครื่องลำยอง หน้าบันเป็นรูปพระมหามงกุฎและพระขรรค์ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า เบื้องล่างมีรูปช้างสำคัญ ขนาบด้วยฉัตร เบื้องหลังพระวิหารหลวงเป็นที่ตั้งของ ปาสาณเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัด มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 สร้างจากหินอ่อน นอกจากนี้ยังมีอาคารสำคัญอื่นอีก เช่น หอพระจอม รูปแบบและแผนผังของวัดที่มีองค์ประกอบหลักอย่างเรียบง่ายคือพระวิหารและพระเจดีย์เช่นนี้ พบได้ในวัดที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 ส่วนเขตสังฆาวาสของวัดนี้ซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์นั้นมีข้อกำหนดไว้ว่าเป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรี

ตำหนักจิตรลดา
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมตำหนักจิตรลดา

ตำหนักจิตรลดาเป็นอาคารแบบอิตาเลียนวิลล่า แผนผังเป็นรูปตัว U อย่างไม่สมมาตร มีระเบียงทางด้านหน้าและหลัง และมีโถงกลางอาคารเพื่อระบายอากาศ หลังคาทรงปั้นหยา ชายคายื่นพอประมาณ ป ระตูหน้าต่างประดับลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษาแบบเรขาคณิต ช่องประตูหน้าต่างเป็นสี่เหลี่ยมที่ประดับด้านบนด้วยแนววงโค้ง ภายในแบ่งเป็นห้องชุดได้แก่ ห้องพระบรรทม ห้องทรงงาน การตกแต่งภายในเป็นศิลปกรรมแบบบาร็อค เน้นความหรูหรา ส่วนห้องที่ไม่ใช้งานสำคัญตกแต่งอย่างเรียบง่าย รูปแบบศิลปะคล้ายกับการตกแต่งพระที่นั่งอัมพรสถานเนื่องจากเป็นงานออกแบบของสถาปนิกคนเดียวกันและอยู่ภายในพระราชวังดุสิตเช่นกัน

พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นอาคารโรง ก่ออิฐถือปูน ชั้นเดียว ขนาด 10 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฝากั้นทึบทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้ามีระเบียง เสาระเบียงและเสาในอาคารเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลา หลังคาพระที่นั่งประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับรูปเทพนมประทับบนฐานบัวแกมช่อกระหนกเปลว ปิดทองประดับกระจก

วัดสระเกศ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดสระเกศ

พระอุโบสถเป็นอาคารแบบไทยประเพณี หลังคาเครื่องไม้ซ้อนชั้น ประดับเครื่องลำยอง ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ หน้าบันประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ซุ้มประตูหน้าต่างทรงบันแถลง มีเสาพาไลโดยรอบพระอุโบสถ พนักระเบียงรอบพระอุโบสถประดับกระเบื้องปรุ มีซุ้มสีมาทรงกูบทั้ง 8 ทิศประดับกระเบื้องเคลือบสีที่สั่งทำจากประเทศจีน พระอุโบสถล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งเรียงรายทั้ง 4 ด้าน

จิตรกรรมเรื่องพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มหายาน
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมจิตรกรรมเรื่องพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มหายาน

องค์ประกอบของภาพจิตรกรรมเรื่องนี้เขียนบนฉากหลังสีน้ำเงินเข้มมีกรอบคดโค้งยอดแหลม ภายในพื้นที่นั้นประกอบด้วย ภาพพระพุทธรูป 5 พระองค์ ประทับนั่งเรียงเป็นแถว พระพุทธรูปแต่ละองค์ครองจีวรสีเข้มเกือบเป็นสีแดง ห่มจีวรเฉียง ผ้าจีวรเรียบไม่มีริ้ว มีสังฆาฏิเป็นแถบขนาดเล็กพาดจากพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี พระพักตร์และพระวรกายปิดทอง เหนือพระเศียรมีพระรัศมีเปลวปิดทองโดยไม่มีอุษณีษะ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 พระพุทธรูปทุกองค์แสดงปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวซึ่งรองรับด้วยฐานสิงห์ภายในเรือนแก้วที่มีลักษณะเป็นซุ้มคดโค้ง ปลายซุ้มทั้ง 2 ข้างมีลักษณะคล้ายหางหงส์หรือเศียรนาคที่หันหน้าไปด้านข้าง ยอดกลางเป็นกระหนกคล้ายกับเศียรนาคหันหน้าตรง ด้านบนซุ้มประดับพุ่มไม้โพธิ์มีลายกระหนกเปลวล้อม ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นรูปแบบของซุ้มพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 เช่นกัน ใต้ฐานพระพุทธรูปแต่ละองค์มีกรอบข้อความอักษรขอมสีทองบนพื้นสีแดงเหนือแถวภาพพระพุทธรูปทั้ง 5 พระองค์ มีรูปอุณาโลมเปล่งรัศมีเหนือดอกบัว กลางอุณาโลมมีอักษรขอม ใต้ดอกบัวมีอักษรขอมบนพื้นสีแดง ด้านล่างของแถวพระพุทธรูปเป็นภาพบุคคลแต่งกายคล้ายเทวดา 5 องค์ ทุกองค์ทรงเครื่องประดับซึ่งมีการปิดทอง ประกอบด้วยมงกุฎมีกรรเจียกจร กรองศอ สังวาล พาหุรัด ทองกร นุ่งผ้าเขียนลายประดับชายไหวชายแครง สวมทองพระบาทและฉลองพระบาท ประทับยืนบนแท่นประดับผ้าทิพย์ ภายในซุ้มเรือนแก้วที่คล้ายกับซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ แต่ไม่มีไม้โพธิ์ประดับ ใต้ฐานที่ประทับของแต่ละองค์มีกรอบข้อความอักษรขอมสีทองบนพื้นสีแดง พร้อมทั้งมีภาพสัตว์ ได้แก่ ไก่ นาค เต่า โค และสิงห์ภาพทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในพุทธศาสนามหายาน เนื่องจากอักษรขอมที่ปรากฏใต้ภาพพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้นอ่านได้ว่า “ไวโรจนะ” “อักโษภยะ” “รัตนสัมภาวะ” “อมิตาภะ” และ “อโมฆสิทธิ” โดยเรียงตามลำดับจากซ้ายไปขวา ซึ่งชื่อดังกล่าวสอดคล้องกับข้อความอักษรขอมที่อยู่ใต้รูปอุณาโลม และอยู่เหนือภาพพระพุทธเจ้าเหล่านั้นซึ่งอ่านได้ว่า “ธยานิพุทธา”ส่วนอักษรขอมที่อยู่ใต้ภาพบุคคลที่แต่งกายคล้ายเทวดาทั้ง 5 องค์นั้น อ่านได้ว่า “สมันตภัทร” “วชิรปาณี” “รัตนปาณี” “ปัทมปาณี” และ “วิศวปาณี” ดังนั้นจึงสอดคล้องกับภาพพระธยานิพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่มีพระโพธิสัตว์ประจำองค์อยู่เบื้องล่าง และเชื่อว่าภาพสัตว์ที่อยู่เบื้องล่างของพระโพธิสัตว์แต่ละองค์นั้น เป็นสัญลักษณ์สื่อแทนพระพุทธเจ้าทั้ง 5 องค์ที่ตรัสรู้ในโลกมนุษย์ ภาพอุณาโลมที่อยู่ด้านบนสุดนั้น ภายในมีอักษรขอม 3 ตัวซึ่งอ่านได้ว่า อะ อุ มะ หรือ โอม อันเป็นคำกล่าวสรรเสริญบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์มาแต่โบราณ แต่น่าสนใจว่าได้นำมาเขียนไว้เหนือข้อความและภาพของพระธยานิพุทธเจ้าซึ่งเป็นเรื่องในพุทธศาสนา

โพธิฆระ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมโพธิฆระ

รูปแบบของบริเวณที่ประดิษฐานต้นโพธิ์บางแห่งพบว่ามีการทำฐานโพธิ์ล้อมรอบโคนต้น มีลักษณะเป็นฐานสิงห์ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีพนักกำแพงโดยรอบทำด้วยกระเบื้องปรุแบบจีน และมีบันไดทางขึ้นโดยอาจมีเพียงด้านเดียวหรือทั้ง 4 ด้าน มีบางแห่งที่มีอาคารล้อมรอบต้นโพธิ์ที่เรียกว่าโพธิฆระ เช่นที่วัดปทุมวนาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร โพธิฆระมีแผนผังเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลังคาคลุมและมีพนักกำแพงบนสันหลังคาโดยเว้นพื้นที่ตรงกลางเพื่อให้ต้นโพธิ์ได้เจริญเติบโต