ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

จิตรกรรมเรื่องพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มหายาน

คำสำคัญ :

ชื่อหลักวัดปทุมวนาราม
ชื่ออื่นวัดสระปทุม
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลปทุมวัน
อำเภอเขตปทุมวัน
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศารุ้งแวง
Lat : 13.745906
Long : 100.536636
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 666141.28
N : 1520155.04
ตำแหน่งงานศิลปะผนังด้านหลังพระประธานในพระวิหาร

ประวัติการสร้าง

สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ภาพเขียนสีฝุ่น

ลักษณะทางศิลปกรรม

องค์ประกอบของภาพจิตรกรรมเรื่องนี้เขียนบนฉากหลังสีน้ำเงินเข้มมีกรอบคดโค้งยอดแหลม ภายในพื้นที่นั้นประกอบด้วย ภาพพระพุทธรูป 5 พระองค์ ประทับนั่งเรียงเป็นแถว พระพุทธรูปแต่ละองค์ครองจีวรสีเข้มเกือบเป็นสีแดง ห่มจีวรเฉียง ผ้าจีวรเรียบไม่มีริ้ว มีสังฆาฏิเป็นแถบขนาดเล็กพาดจากพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี พระพักตร์และพระวรกายปิดทอง เหนือพระเศียรมีพระรัศมีเปลวปิดทองโดยไม่มีอุษณีษะ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 พระพุทธรูปทุกองค์แสดงปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวซึ่งรองรับด้วยฐานสิงห์ภายในเรือนแก้วที่มีลักษณะเป็นซุ้มคดโค้ง ปลายซุ้มทั้ง 2 ข้างมีลักษณะคล้ายหางหงส์หรือเศียรนาคที่หันหน้าไปด้านข้าง ยอดกลางเป็นกระหนกคล้ายกับเศียรนาคหันหน้าตรง ด้านบนซุ้มประดับพุ่มไม้โพธิ์มีลายกระหนกเปลวล้อม ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นรูปแบบของซุ้มพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 เช่นกัน ใต้ฐานพระพุทธรูปแต่ละองค์มีกรอบข้อความอักษรขอมสีทองบนพื้นสีแดง

เหนือแถวภาพพระพุทธรูปทั้ง 5 พระองค์ มีรูปอุณาโลมเปล่งรัศมีเหนือดอกบัว กลางอุณาโลมมีอักษรขอม ใต้ดอกบัวมีอักษรขอมบนพื้นสีแดง

ด้านล่างของแถวพระพุทธรูปเป็นภาพบุคคลแต่งกายคล้ายเทวดา 5 องค์ ทุกองค์ทรงเครื่องประดับซึ่งมีการปิดทอง ประกอบด้วยมงกุฎมีกรรเจียกจร กรองศอ สังวาล พาหุรัด ทองกร นุ่งผ้าเขียนลายประดับชายไหวชายแครง สวมทองพระบาทและฉลองพระบาท ประทับยืนบนแท่นประดับผ้าทิพย์ ภายในซุ้มเรือนแก้วที่คล้ายกับซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ แต่ไม่มีไม้โพธิ์ประดับ ใต้ฐานที่ประทับของแต่ละองค์มีกรอบข้อความอักษรขอมสีทองบนพื้นสีแดง พร้อมทั้งมีภาพสัตว์ ได้แก่ ไก่ นาค เต่า โค และสิงห์

ภาพทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในพุทธศาสนามหายาน เนื่องจากอักษรขอมที่ปรากฏใต้ภาพพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้นอ่านได้ว่า “ไวโรจนะ” “อักโษภยะ” “รัตนสัมภาวะ” “อมิตาภะ” และ “อโมฆสิทธิ” โดยเรียงตามลำดับจากซ้ายไปขวา ซึ่งชื่อดังกล่าวสอดคล้องกับข้อความอักษรขอมที่อยู่ใต้รูปอุณาโลม และอยู่เหนือภาพพระพุทธเจ้าเหล่านั้นซึ่งอ่านได้ว่า “ธยานิพุทธา”ส่วนอักษรขอมที่อยู่ใต้ภาพบุคคลที่แต่งกายคล้ายเทวดาทั้ง 5 องค์นั้น อ่านได้ว่า “สมันตภัทร” “วชิรปาณี” “รัตนปาณี” “ปัทมปาณี” และ “วิศวปาณี

ดังนั้นจึงสอดคล้องกับภาพพระธยานิพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่มีพระโพธิสัตว์ประจำองค์อยู่เบื้องล่าง และเชื่อว่าภาพสัตว์ที่อยู่เบื้องล่างของพระโพธิสัตว์แต่ละองค์นั้น เป็นสัญลักษณ์สื่อแทนพระพุทธเจ้าทั้ง 5 องค์ที่ตรัสรู้ในโลกมนุษย์

ภาพอุณาโลมที่อยู่ด้านบนสุดนั้น ภายในมีอักษรขอม 3 ตัวซึ่งอ่านได้ว่า อะ อุ มะ หรือ โอม อันเป็นคำกล่าวสรรเสริญบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์มาแต่โบราณ แต่น่าสนใจว่าได้นำมาเขียนไว้เหนือข้อความและภาพของพระธยานิพุทธเจ้าซึ่งเป็นเรื่องในพุทธศาสนา
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เบื้องหลังพระประธานในพระวิหารวัดปทุมวนาราม มีภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่เล่าเรื่องพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนามหายาน ภาพพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์แต่ละองค์มีอักษรขอม ภาษาบาลี เขียนพระนามกำกับไว้ที่ด้านล่าง ใต้ภาพพระโพธิสัตว์มีภาพสัตว์อันเป็นสัญลักษณ์ถึงพระพุทธเจ้าบนโลกมนุษย์ในภัทรกัปป์ และด้านบนสุดของภาพเป็นรูปอุณาโลมประดิษฐานในดอกบัวมีอักษรขอมกำกับใต้ภาพว่าธยานิพุทธา การเขียนภาพนี้ไว้ในพระวิหารของวัดปทุมวนารามซึ่งเป็นวัดธรรมยุตินิกาย และสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแสดงให้เห็นว่าศิลปกรรมในพระราชประสงค์ไม่ได้มีเพียงความเคร่งครัดในเรื่องของพุทธศาสนาเถรวาทเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกคติความเชื่อของฝ่ายมหายานเข้าไว้ด้วย

ยุคประวัติศาสตร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24-25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “ศิลปกรรมในพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2558.