ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
คำสำคัญ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, วัดราชประดิษฐ
ชื่อเรียกอื่น | วัดราชประดิษฐ |
---|---|
ชื่อหลัก | วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.749548 Long : 100.49552 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661692.39 N : 1520529.84 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | เขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใกล้กับพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นวัดของฝ่ายธรรมยุติกนิกาย |
---|---|
ลักษณะทางศิลปกรรม | ภายในวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง แบ่งเป็นพื้นที่เขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ในส่วนพุทธาวาสมีอาคารสำคัญ ได้แก่ พระวิหารหลวงที่มีรูปแบบอย่างไทยประเพณี ตัวอาคารประดับด้วยหินอ่อน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องประดับเครื่องลำยอง หน้าบันเป็นรูปพระมหามงกุฎและพระขรรค์ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า เบื้องล่างมีรูปช้างสำคัญ ขนาบด้วยฉัตร เบื้องหลังพระวิหารหลวงเป็นที่ตั้งของ ปาสาณเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัด มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 สร้างจากหินอ่อน นอกจากนี้ยังมีอาคารสำคัญอื่นอีก เช่น หอพระจอม รูปแบบและแผนผังของวัดที่มีองค์ประกอบหลักอย่างเรียบง่ายคือพระวิหารและพระเจดีย์เช่นนี้ พบได้ในวัดที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 ส่วนเขตสังฆาวาสของวัดนี้ซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์นั้นมีข้อกำหนดไว้ว่าเป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรี |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามขึ้นเพื่อเป็นวัดสำคัญประจำราชธานีตามโบราณราชประเพณีที่มักจะมีวัดสำคัญ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบุรณะ และวัดราชประดิษฐ์ ซึ่งในกรุงเทพฯยังขาดวัดราชประดิษฐ์อยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดบนพื้นที่ขนาดเล็กที่เคยเป็นสวนกาแฟในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีพระราชประสงค์ให้วัดนี้เป็นวัดธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะเป็นแห่งแรก และจะได้เสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลได้โดยสะดวก เพราะอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 4 ไปบรรจุในพระพุทธอาสน์พระประธานในพระอุโบสถเพื่อเป็นที่สักการบูชาตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 จึงถือกันว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการผูกสีมาที่เป็นมหาสีมาล้อมรอบบริเวณวัดทั้งหมด จึงเป็นที่มาแห่งสร้อยนามวัดว่า สถิตมหาสีมาราม |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-09-15 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548. พิชญา สุ่มจินดา,บรรณาธิการ.ราชประดิษฐพิพิธบรรณ.กรุงเทพฯ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, 2553. |