ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน
ภาพพระราชพิธีในแต่ละเดือนเขียนขึ้นที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง โดยปรากฏอิทธิพลการเขียนภาพแบบตะวันตกแล้ว กล่าวคือ มีการใช้เส้นขอบฟ้า กำหนดมิติของภาพให้เกิดระยะที่ใกล้-ไกล ภาพทิวทัศน์ เช่น ท้องฟ้า ก้อนเมฆ ต้นไม้เขียนขึ้นโดยคำนึงถึงความสมจริง ภาพอาคารสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีมักเป็นพระมหาปราสาทและอาคารต่างๆที่มีอยู่จริงในพระบรมมหาราชวังและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ที่ประกอบด้วยป้อมและหมู่พระที่นั่งต่างๆ ซึ่งปัจจุบันไม่เหลือหลักฐานแล้ว ภาพการโล้ชิงช้าที่เสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ เป็นต้น ภาพบุคคลแต่งกายตามสถานภาพ มีทั้งที่เป็นทหารใส่เครื่องแบบที่พัฒนาการตะวันตก ภาพชาววังและชาวบ้านที่แต่งกายตามสมัยนิยม รวมทั้งชาวต่างชาติที่มีอยู่ในสังคมขณะนั้น การลงสีมีการแรเงา ไล่น้ำหนักสีอ่อนแก่ ภาพบุคคลมีขนาดเล็กเมือเทียบกับภาพสถาปัตยกรรม มีความพยายามเขียนภาพเหมือนบุคคลขนาดเล็กด้วย
ประติมากรรมพระนิรันตราย
พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเรียบขนาดใหญ่อย่างเหมือนจริงทับจีวรที่มีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใบพระกรรณที่หดสั้นลง ที่สำคัญคือไม่มีอุษณีษะ แต่ยังคงทำรัศมีเปลว ขมวดพระเกศา และมีอุณาโลมตามลักษณะมหาบุรุษ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานสิงห์ มีรูปศีรษะโคที่ด้านล่าง ซึ่งมีความหมายถึงโคตมะ รอบองค์พระพุทธรูปประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วประกอบกับซุ้มไม้โพธิ์ซึ่งมีคาถาพระพุทธคุณหรือบทอิติปิโส ซึ่งเป็นคาถาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4
ประติมากรรมพระพุทธสิหังคปฏิมากร
พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานสิงห์ ชั้นบนเป็นรูปกลีบบัวซ้อนชั้น แสดงปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก มีอุษณีษะรองรับเปลวรัศมี ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวเป็นแผ่นจรดพระนาภี
สถาปัตยกรรมวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
ภายในวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง แบ่งเป็นพื้นที่เขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ในส่วนพุทธาวาสมีอาคารสำคัญ ได้แก่ พระวิหารหลวงที่มีรูปแบบอย่างไทยประเพณี ตัวอาคารประดับด้วยหินอ่อน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องประดับเครื่องลำยอง หน้าบันเป็นรูปพระมหามงกุฎและพระขรรค์ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า เบื้องล่างมีรูปช้างสำคัญ ขนาบด้วยฉัตร เบื้องหลังพระวิหารหลวงเป็นที่ตั้งของ ปาสาณเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัด มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 สร้างจากหินอ่อน นอกจากนี้ยังมีอาคารสำคัญอื่นอีก เช่น หอพระจอม รูปแบบและแผนผังของวัดที่มีองค์ประกอบหลักอย่างเรียบง่ายคือพระวิหารและพระเจดีย์เช่นนี้ พบได้ในวัดที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 ส่วนเขตสังฆาวาสของวัดนี้ซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์นั้นมีข้อกำหนดไว้ว่าเป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรี
ประติมากรรมบุษบกธรรมาสน์ยอดทรงมงกุฎ
บุษบกธรรมาสน์ยอดทรงมงกุฎประกอบด้วยส่วนฐาน ส่วนกลาง และส่วนยอด ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์เพิ่มมุมซ้อนชั้นโดยมีท้องไม้ยืดสูง ด้านหน้ามีชั้นลดสำหรับพระสงฆ์ขึ้นสู่ธรรมาสน์ ส่วนกลางมีลักษณะโปร่ง ประกอบด้วยเสาย่อมุมไม้สิบสองที่ 4 มุมของบุษบก รองรับส่วนยอดทรงมงกุฎที่ประกอบด้วยชั้นเกี้ยวรัดเกล้าซ้อนลดหลั่น 3 ชั้น แต่ละชั้นประดับดอกไม้ไหว ถัดขึ้นไปเป็นปลียอดเรียวแหลม