Arts in Southeast Asia

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ศิลปกรรมยอดนิยม

Most Popular

ศิลปกรรมล่าสุด

Latest

678

หอคอยมัสยิดกำปงกลิง

อาคารมัสยิดแบบเอเชียอาคเนย์ มีลักษณะแตกต่างไปจากแบบอินเดียหรือเปอร์เซียมาก คืออยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในมีเสาสี่ต้นรองรับหลังคาลาดจำนวนมากซึ่งเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ไม่มีโดม ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือหอคอยซึ่งมีเรือนธาตุซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆและจบด้วยหลังคาลาดแบบจีน การซ้อนชั้นของหอคอยดังกล่าวคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับเจดีย์ (ถะ) ในศิลปะจีน ในขณะเดียวกันก็คล้ายคลึงกับหอคอยตามแบบดาร์คารห์ (Dargarh) ของนาคปัฏฏนัมในอินเดียใต้ด้วย

มาเลเซีย

สมัย/รูปแบบศิลปะ
อาณานิคมดัตช์
อายุ
พุทธศตวรรษที่ 22-23
ประเภทงานศิลปะ
สถาปัตยกรรม
วัดกุโสดอ
มัณฑเลย์
สถาปัตยกรรมวัดกุโสดอ

วัดกุโสดอ ประกอบด้วยเจดีย์ประธานซึ่งจำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวซิกองเมืองพุกาม แวดล้อมไปด้วยเจดีย์ทรงปราสาทขนาดเล็กซึ่งประดิษฐานแผ่นจารึกพระไตรปิฎก เจดีย์เหล่านี้มีการแบ่งกลุ่มตามหมวดของพระไตรปิฎกตั้งแต่พระวินัย พระสูตรและพระอภิธรรม

พระราชวังมัณฑเลย์
มัณฑเลย์
สถาปัตยกรรมพระราชวังมัณฑเลย์

พระราชวังสามารถแบ่งออกได้เป็นสามส่วนหลัก คือ มเยนานปยาทาด ปราสาทหลักอันเป็นที่ตั้งของราชบัลลังก์ เป็นที่เสด็จออกว่าราชการและทำพระราชพิธี ถัดมาด้านหลังได้แก่พื้นที่ที่ประทับส่วนพระองค์ เช่น พอพระบรรทมเป็นต้น ส่วนด้านหลังเป็นที่อยู่ของพระสนม อนึ่ง อาคารทรงปยาทาดและอาคารทรงสองคอสามชาย ถือเป็นลักษณะสำคัญของอาคารเครื่องไม้ในศิลปะอมรปุระ-มัณฑเลที่แสดงถึงอาคารฐานันดรสูง

วัดชเวนันดอจอ
มัณฑเลย์
สถาปัตยกรรมวัดชเวนันดอจอ

ตำหนักไม้หลังนี้ ประกอบด้วยอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งแบ่งออกเป็นสองห้อง ห้องด้านหน้าคงใช้สำหรับเสด็จออก ส่วนห้องด้านหลังคงเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ผนังด้านนอกอาคารมีการประดับด้วยฝาปะกนและประติมากรรมบุคคลขนาดเล็ก ส่วนชั้นหลังคาประดับด้วยปานซอยไม้ที่มีประติมากรรมบุคคลขนาดเล็กประดับอยู่จนเต็ม อาคารเดิมคงปิดทองทั้งหลัง จึงมีชื่อว่า “ชเวนันดอ” ซึ่งแปลว่าพระที่นั่งทอง อนึ่ง อาคารทรงสองคอสามชาย ถือเป็นลักษณะสำคัญของอาคารเครื่องไม้ในศิลปะอมรปุระ-มัณฑเลที่แสดงถึงอาคารฐานันดรสูง

ปราสาทบากอง
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทบากอง

ปราสาทประธานจำนวน 1 หลังตั้งอยู่บนฐานเป็นชั้น ล้อมรอบด้วยปราสาทหลังเล็กๆ จำนวนหนึ่ง ด้านหน้ามีซุ้มประตูสำหรับทางเดินขึ้น ส่วนปราสาทหลังอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่นั้น สร้างด้วยอิฐและตั้งอยู่บนพื้น กระจายตัวกันอยู่ทุกทิศ (ไม่เห็นในภาพ)อนึ่ง ปราสาทหลังนี้ยังคงสร้างปราสาทจำนวนน้อยหลังบนฐานเป็นชั้น เนื่องจากฐานเป็นชั้นนี้สร้างอยู่บนพื้นราบ ในระยะต่อไป ปราสาทจะพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นปราสาทบนฐานเป็นชั้นที่มีปราสทอยู่ด้านบนฐานเป็นจำนวนมากและมีความซับซ้อนมากขึ้น

ปราสาทบริวารของปราสาทบากอง
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทบริวารของปราสาทบากอง

ภาพปราสาทบริวารของปราสาทบากอง เป็นปราสาทอิฐที่แตกต่างด้วยปูนปั้น ตั้งอยู่บนพื้น กระจายตัวกันอยู่ทุกทิศ จำนวนแปดหลัง (ด้านละสองหลังดังที่เห็นในภาพ)

ปราสาทประธาน : ปราสาทบากอง
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทประธาน : ปราสาทบากอง

เป็นที่น่าแปลกว่า ปราสาทประธานของปราสาทบากองกลับสร้างด้วยหินทรายและมีลวดลายในสมัยนครวัด ซึ่งแตกต่างไปจากองค์ประกอบโดยรวมของปราสาทบากองที่มีอายุอยู่ในสมัยพระโค อันแสดงให้เห็นว่า ปราสาทประธานหลังนี้ถูกสร้างใหม่ในสมัยนครวัด ซ่งออาจทดแทนปราสาทหลังเดิมของปราสาทบากองที่สร้างด้วยอิฐและอาจพังทลายลงในสมัยนครวัดลักษณะของปราสาทในสมัยนครวัดก็คือ การมีแผนผังเพิ่มมุม การตกแต่งด้วยนางอัปสรที่แต่งกายตามแบบนครวัดและการประดับกลีบขนุนที่ยอดด้านบน

ปราสาทตระพังพง
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทตระพังพง

ปราสาทก่อด้วยอิฐและประดับด้วยปูนปั้นตามแบบสถาปัตยกรรมพระโคโดยทั่วไป เรือนธาตุมีการประดับด้วยภาพเทพธิดาเช่นเดียวกับปราสาทพระโคและโลเลย ส่วนทับหลังและประตูหลอกสร้างด้วยหิน สลักเป็นลายหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยประดับมกรที่ปลายสุดตามแบบอิทธิพลชวา ยอดปราสาทมีเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นตามแบบวิมานอินเดียใต้ แต่เก็จประธานกลับมีการยกมุมแตกออกเป็นเก็จย่อยๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับปราสาทในสมัยก่อนเมืองพระนคร อนึ่ง ศิลปะพระโคถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยก่อนเมืองพระนครกับสมัยพระนคร ด้วยเหตุนี้จึงมีลักษณะบางอย่างปะปนกันได้

ปราสาทโลเลย
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทโลเลย

ปราสาทโลเลยประกอบด้วยปราสาทก่อด้วยอิฐประดับด้วยปูนปั้นจำนวน 4 หลัง ตั้งเรียนกันบนพื้นราบซึ่งคงมีพื้นฐานมาจากปราสาทพระโคที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษเช่นเดียวกัน รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับปราสาทตระพังพงและปราสาทบากอง กล่าวคือ ประกอบด้วยทับหลังและประตูหลอกที่สลักด้วยหิน ส่วนด้านข้างของเรือนธาตุปรากฏรูปเทพและเทพธิดาทวารบาล ด้านบนเป็นชั้นวิมานตามแบบอินเดียใต้แต่มีการยกเก็จจำนวนมากที่เก็จประธาน