ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมหุ่นวังหน้า
โครงหุ่นแกะเหลาด้วยไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบาคว้านเจาะให้กลวงตลอดลำตัวเพื่อร้อยเชือกสำหรับชักให้อวัยวะบางส่วนเคลื่อนไหวได้หัวหุ่นโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อนเช่นเดียวกับตัวหุ่นแล้วปั้นเสริมรายละเอียดบนใบหน้าด้วยรักปิดกระดาษเขียนสีตัดเส้นวิธีเดียวกับหัวโขนส่วนคอของหุ่นมีก้านไม้เล็กๆ ต่อยาวลงไปทางช่องกลวงกลางลำตัวสำหรับบังคับหุ่นให้หันหน้าไปมาได้ขณะที่เชิดอวัยวะส่วนต่างๆของหุ่นยึดด้วยเชือกเส้นเล็กๆมีสายเชือกสำหรับชักหุ่นโดยปลายสายชักมีห่วงสำหรับคนเชิดสอดนิ้วบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหวหุ่นตัวพระที่สำคัญเช่นพระรามสีเขียวสวมชฎายอดบัดเครื่องประดับศีรษะหุ่นตัวพระมีทั้งชฎาเครื่องยอดและสวมกะบังหน้าประกอบกรรเจียกจอน เครื่องแต่งกายประกอบด้วยอินทรธนูสังวาลตาบทิศทับทรวงสวมสนับเพลาทับด้วยผ้าโจงมีผ้าห้อยหน้าผ้าห้อยข้างการแต่งกายของตัวพระคล้ายกับโขนหุ่นตัวนาง หากเป็นหญิงสูงศักดิ์เครื่องประดับศีรษะจะสวมชฎาหากเป็นยักษ์สวมรัดเกล้ายักษ์ที่มีศักดิ์ใช้รัดเกล้ายอดส่วนนางกำนัลใช้รัดเกล้าเปลว แต่งกายยืนเครื่อง นุ่งผ้าจีบยาวถึงข้อเท้า ห่มสไบสะพักสองบ่า สวมเครื่องประดับต่างๆ เช่นเดียวกับการแสดงโขนหุ่นตัวยักษ์มีการกำหนดศิราภรณ์ให้มียอดแตกต่างกันและมีสีกายรูปแบบของปากตาและอาวุธแตกต่างกัน โดยมีลักษณะเช่นเดียวกับการแสดงโขน เช่น ทศกัณฐ์กายสีเขียว หน้ายักษ์ตาโพลงปากแสยะเขี้ยวโง้ง เป็นต้น เช่นเดียวกับหุ่นลิงที่มีการกำหนดสีกายและลักษณะหัวโขนแตกต่างกันในแต่ละตัว
ประติมากรรมพระมหาพิชัยราชรถ
ราชรถช่วงล่างประกอบด้วยวงล้อ 4 ล้อ ส่วนหน้ารถเรียกว่าเกริน สลักลวดลายกระหนกออกปลายรูปหัวนาค ส่วนท้ายรถเรียกว่า ท้ายเกริน สลักลวดลายกระหนกออกปลายรูปหางนาค ส่วนกลางราชรถลดหลั่นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นประดับประติมากรรมรูปเทพนม เหนือฐานราชรถช่วงกลางประดิษฐานบุษบกเรือนยอด เสาย่อมมุมไม้สิบสองประดับพระวิสูตรผู้ไว้ทั้ง 4 ด้าน ฐานบุษบกสลักลายประจำยามก้ามปู กระจังตาอ้อย และเทพนม หลังคาบุษบกเป็นเรือนซ้อนชั้นและมียอดแหลม องค์ประกอบทั้งหมดปิดทองประดับกระจกสี
สถาปัตยกรรมพระตำหนักแดง
ตำหนักแดงมีลักษณะเป็นตำหนักหลังเดียว ความยาว 7 ห้อง มีเฉลียงที่ด้านหน้า มีเสารองรับชายคาจำนวน 15 ต้น หลังคาชั้นเดียวไม่มีมุขลด ทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันกรุด้วยไม้แบบลูกฟักหน้าพรหม กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ฝาเรือนเป็นฝาปะกนลูกฟัก บานประตูหน้าต่างมีอกเลา ลักษณะเด่นของตำหนักแดงคือ พระแกลหรือหน้าต่างที่มีฐานสิงห์ประกอบอยู่ที่ตอนล่าง ซึ่งจะไม่ปรากฏในเรือนสามัญชน รูปแบบของพระตำหนักแดงเป็นตัวอย่างสำคัญของพระตำหนักที่ประทับที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารยกพื้นสูง มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ช่อง ซุ้มประตูทรงบรรพแถลง มีเสาพาสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคารและมีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองรองรับชายคา เครื่องหลังคาประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีคอสองหรือผนังที่คั่นจังหวะหลังคาออกเป็น 2 ส่วน หน้าบันพระที่นั่งทำด้วยไม้แกะสลักรูปพระพรหมสถิตในวิมาน 3 หลัง แวดล้อมด้วยลายกระหนกใบไม้ม้วนและเทพนม ปิดทองประดับกระจก
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นอาคารโรง ก่ออิฐถือปูน ชั้นเดียว ขนาด 10 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฝากั้นทึบทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้ามีระเบียง เสาระเบียงและเสาในอาคารเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลา หลังคาพระที่นั่งประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับรูปเทพนมประทับบนฐานบัวแกมช่อกระหนกเปลว ปิดทองประดับกระจก
จิตรกรรมหนังพระนครไหว
หนังพระนครไหวประกอบด้วยหนัง 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ หนังชุดเบิกโรง คือชุดจับลิงหัวค่ำ ประกอบด้วยตัวหนังพระฤษี ลิงขาว และลิงดำ อีกประเภทหนึ่งคือหนังเล่าเรื่อง สำหรับการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนต่างๆ เช่น ตอนศึกอินทรชิตตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนหนุมานอาสา ตอนทศกัณฐ์สั่งเมือง และตอนพระรามเสี่ยงม้าอุปการเป็นต้น ตัวหนังทำจากหนังโคเป็นผืนขนาดใหญ่ ฉลุลายด้วยสิ่วและค้อนให้เป็นรูปตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์และองค์ประกอบต่างๆ ตามท้องเรื่อง ตัวละครแต่งกายยืนเครื่องและสวมศิราภรณ์เช่นเดียวกับการแสดงโขน โดยแผ่นหนังทั้งผืนไม่ขาดจากกัน ระบายสีผืนหนังในบางแห่ง หนังแต่ละตัวมีไม้คีบหนัง 2 ข้าง สำหรับผนึกตัวหนังและเชิดประกอบการแสดง
ประติมากรรมพระพุทธรูปคันธารราฐ
พระพุทธรูปเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ ประทับยืนปางขอฝนพระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายเทพเจ้ากรีก-โรมัน เกล้าพระเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วหนา มีรอยยับอย่างเป็นธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือบันไดขั้นบนสุดของขอบสระโบกขรณี ใกล้กันมีราวบันไดซึ่งมีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษย์นาคซึ่งมีความหมายถึงน้ำ และความอุดสมบูรณ์