ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระมหาพิชัยราชรถ

คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, วังหน้า, พระมหาพิชัยราชรถ, ราชรถ

ชื่อเรียกอื่นราชรถ
ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ชื่ออื่นวังหน้า
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.758482
Long : 100.491914
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661295.58
N : 1521515.14
ตำแหน่งงานศิลปะโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประวัติการสร้าง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อการพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ในพ.ศ.2338 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นราชรถใหญ่ตามโบราณราชประเพณีที่เคยมีในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาใน พ.ศ.2342 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี สิ้นพระชนม์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศทรงบนพระมหาพิชัยราชรถด้วย

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก

ประวัติการอนุรักษ์

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มล้อที่ใต้ตัวราชรถ เพื่อให้รับน้ำหนักได้เพิ่มมากขึ้น

กรมศิลปากรได้บูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2539 เนื่องในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ขนาดสูง 1,120 เซนติเมตร ยาว 1,530 เซนติเมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

ราชรถช่วงล่างประกอบด้วยวงล้อ 4 ล้อ ส่วนหน้ารถเรียกว่าเกริน สลักลวดลายกระหนกออกปลายรูปหัวนาค ส่วนท้ายรถเรียกว่า ท้ายเกริน สลักลวดลายกระหนกออกปลายรูปหางนาค ส่วนกลางราชรถลดหลั่นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นประดับประติมากรรมรูปเทพนม เหนือฐานราชรถช่วงกลางประดิษฐานบุษบกเรือนยอด เสาย่อมมุมไม้สิบสองประดับพระวิสูตรผู้ไว้ทั้ง 4 ด้าน ฐานบุษบกสลักลายประจำยามก้ามปู กระจังตาอ้อย และเทพนม หลังคาบุษบกเป็นเรือนซ้อนชั้นและมียอดแหลม องค์ประกอบทั้งหมดปิดทองประดับกระจกสี

สกุลช่างช่างหลวง
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระมหาพิชัยราชรถเป็นราชรถที่ใช้ในการพระราชพิธีพระบรมศพในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยประดิษฐานพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงในบุษบก แล้วเคลื่อนกระบวนพยุหยาตราสถลมารคเพื่อไปสู่พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง รูปแบบศิลปกรรมของพระมหาพิชัยราชรถที่ประกอบด้วยบุษบก คือเรือนที่มีหลังคาซ้อนชั้นและมียอดแหลมอย่างที่เรียกว่าเรือนยอด จึงมีความหมายถึงปราสาทซึ่งเป็นอาคารฐานันดรสูง เปรียบได้กับพระมหาปราสาทหรือพระวิมานบนสรวงสวรรค์ ส่วนล่างของราชรถประกอบด้วยแท่นฐานลดหลั่นเป็นชั้น ประดับด้วยประติมากรรมรูปเทพนม และนาคสะท้อนถึงคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาล แวดล้อมด้วยเขาบริวารต่างๆ และป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และราชสำนัก การอัญเชิญพระโกศประดิษฐานในพระมหาพิชัยราชรถจึงเสมือนเป็นการอัญเชิญพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศ์เสด็จกลับสู่ทิพยวิมาน ณ ศูนย์กลางจักรวาลนั้น

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก
ตำนานที่เกี่ยวข้อง
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

เวชยันตราชรถ, ราชรถน้อย

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-07-01
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2539.

สาโรจน์ มีวงษ์สม เรียบเรียง.ราชรถและราชยาน. กรุงเทพฯ : เอส.ที.พี.เวิลด์ มีเดีย, 2542.