ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบจัตุรมุข โดยมีมุขด้านเหนือและใต้ที่ขยายให้ยาวกว่ามุขตะวันออกและตะวันตก ด้านหน้าที่มุขตะวันออกมีสีหบัญชรสำหรับเสด็จออกมหาสมาคม ด้านหลังของพระที่นั่งใช้บันไดประชิดซึ่งเป็นบันไดที่ขนานไปกับตัวอาคารและมีราวบันไดเพียงข้างเดียวสำหรับเป็นบันไดขึ้นสู่พระที่นั่ง โดยมีช่องประตูเตี้ยๆ ใต้บันไดเพื่อเข้าสู่ใต้ชั้นต่ำของพระที่นั่ง หลังคาซ้อนชั้นประกอบด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้อง 2 สี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกสี ส่วนกลางของหลังคาจัตุรมุขประดับเครื่องยอดแบบพระมหาปราสาท
ประติมากรรมพระโกศทองใหญ่
พระโกศทองใหญ่มีลักษณะคล้ายภาชนะ ส่วนฐานทรงแปดเหลี่ยมรองรับส่วนกลางทรงแปดเหลี่ยมที่มีเอวคอด ปากผาย ประดับดอกไม้เอวที่ขอบล่าง และประดับเฟื่องกับพู่เงินที่ขอบบน ภายนอกสลักลวดลายกลีบบัว ส่วนบนหรือฝาพระโกศซ้อนชั้นลดหลั่นประดับดอกไม้ไหว ส่วนปลายเรียวแหลมประดับดอกไม้เพชรพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ยอดบนสุด
ประติมากรรมพระบรมรูป 4 รัชกาล
พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3 มีขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยสำริดเคลือบทองในพระราชอิริยาบถยืนตรง ทรงพระภูษาจีน มีสายรัดพระองค์และมีหัวพระปั้นเหน่งทับ ไม่ทรงฉลองพระองค์ ทรงพระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบเวียต และพระแสงดาบญี่ปุ่นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงใช้วิธีการผสมผสานรูปลักษณ์ตามคติไทยลงไปในรูปเหมือนตามคติตะวันตก คือเน้นความเหมือนจริงของพระพักตร์ แต่พระวรกายในพระราชอิริยาบถยืนนั้นยังคงความเกลี้ยงเกลากลมกลืนดูสงบนิ่งแต่แฝงความศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใสศรัทธาตามแบบพระพุทธรูป ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 นั้นเดิมหลวงเทพรจนา (พลับ) เป็นผู้ปั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ แก้ไขและเพิ่มรายละเอียด เช่น รอยย่นบนพระพักตร์ รอยยับของพระภูษาโจง และลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้ดูเหมือนจริงกว่าพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3
ประติมากรรมพระพุทธปริตร
พระพุทธปริตรประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระกรรณค่อนข้างยาว พระเศียรประกอบด้วยขมวดพระเกศาเป็นก้นหอยขนาดเล็ก ไม่มีอุษณีษะแต่มีรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว มีสังฆาฏิปลายตัดตรงพาดที่พระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี องค์พระระบายสีเหลืองส่วนพระภูษาทรงระบายสีแดงเข้ม
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังที่พระพุทธรัตนสถาน
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ผนังเหนือช่องประตูและหน้าต่างเป็นงานจิตรกรรมดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนเรื่องประวัติพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ตั้งแต่อัญเชิญเสด็จจากลพบุรีสู่เมืองหริภุญชัยไปจนถึงการเสด็จสู่กรุงรัตนโกสินทร์และการสมโภช มีการผสมผสานระหว่างเทคนิคการเขียนแบบไทยประเพณีดั้งเดิมเข้ากับเทคนิคการเขียนจิตรกรรมแบบตะวันตกที่เพิ่งจะเข้ามาในสมัยนั้น ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความสมจริงมากขึ้นกว่างานแบบไทยประเพณีดั้งเดิม จิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเล่าประวัติของพระพุทธรัตนสถานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 โดยมีการแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือบริบทสังคมในสมัยนั้นๆ ลงไปในฉาก เป็นงานที่ผสมผสานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีและทัศนียวิทยาแบบตะวันตก มีการแสดงรูปบุคคล เครื่องแต่งกาย พาหนะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีตรงตามยุคสมัยในฉากนั้นๆเพื่อให้เกิดความสมจริง
สถาปัตยกรรมพระพุทธรัตนสถาน
พระพุทธรัตนสถานเป็นอาคารแบบไทยประเพณีในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าชั้นเดียวยกพื้นสูงตั้งบนฐานไพที ฐานประทักษิณ และฐานบัว ผนังด้านนอกเป็นหินอ่อน ด้านหน้ามีมุขลด รอบอาคารมีเสาพาไล ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดมงกุฎ หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันมีเครื่องลำยอง หน้าบันมุขลดเป็นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพาน 2 ชั้น ขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้นซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 หน้าบันหลักทั้งหน้าและหลังเป็นรูปครุฑยุดนาคซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 2 มีรูปพระวิมานและพระมหามงกุฎประดับอยู่เบื้องล่างซ้ายและขวา มีอาคารประกอบเป็นศาลาโถง 2 หลังซ้ายขวา ด้านหน้ามีหอระฆัง และเสาประทีป 4 ต้น
ประติมากรรมพระสัมพุทธพรรณี
พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา พระขนงโก่ง มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง พระเนตรเหลือบต่ำ ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วตามริ้วผ้าธรรมชาติ ชายสังฆาฏิใหญ่ปลายตัดตรงยาวถึงพระนาภี ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยงเหนือขาสิงห์ตกแต่งด้วยพรรณพฤกษาและลายเครือเถาแบบฝรั่ง ผ้าทิพย์ทำเป็นรูปม่านแหวกออก มีคำจารึกอักษรมอญภาษาบาลีด้านหน้ากล่าวถึงพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้พระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ไม่ทำอุษณีษะและเริ่มมีริ้วจีวรยับย่นอย่างสมจริง ซึ่งแนวความคิดในการสร้างพระพุทธรูปเช่นนี้มีการอธิบาย 3 แนวทาง คือ 1. เพื่อให้มีลักษณะถูกต้องตามพุทธลักษณะที่ปรากฏในอรรถกถาบาลี2. เพื่อให้พระพุทธรูปมีรูปแบบที่เข้ากับวิธีคิดตามแนวสัจนิยมให้สมจริงเหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น 3. เป็นการมองพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์มากขึ้นตามบริบทสังคมที่เริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีความเป็นมนุษย์นิยมมากขึ้น
สถาปัตยกรรมหมู่พระมหามณเฑียร
หมู่พระมหามณเฑียรเป็นอาคารทรงไทยประเพณีล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ภายในหมู่อาคารประกอบด้วยพระที่นั่งที่สำคัญ 3 องค์เชื่อมต่อกัน ได้แก่ 1. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน 2.พระที่นั่งไพศาลทักษิณ 3.พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานพระที่นั่งทุกองค์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวสลับส้มและเหลืองกรอบหน้าบันประดับเครื่องลำยอง ที่หน้าบันประดับรูปเทวดาถือพระขรรค์ซุ้มพระทวารและพระบัญชรเป็นซุ้มทรงบรรพแถลง ภายในพระที่นั่งแต่ละองค์เป็นห้องโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีทางเชื่อมระหว่างกัน มีเสาในประธานทรงสี่เหลี่ยมรองรับน้ำหนักภายในพระที่นั่งแต่ละองค์ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังมีทั้งที่เป็นภาพปรัมปราคติที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในราชสำนัก และภาพลวดลายประดับต่างๆ