ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารยกพื้นสูง มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ช่อง ซุ้มประตูทรงบรรพแถลง มีเสาพาสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคารและมีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองรองรับชายคา เครื่องหลังคาประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีคอสองหรือผนังที่คั่นจังหวะหลังคาออกเป็น 2 ส่วน หน้าบันพระที่นั่งทำด้วยไม้แกะสลักรูปพระพรหมสถิตในวิมาน 3 หลัง แวดล้อมด้วยลายกระหนกใบไม้ม้วนและเทพนม ปิดทองประดับกระจก
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นอาคารโรง ก่ออิฐถือปูน ชั้นเดียว ขนาด 10 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฝากั้นทึบทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้ามีระเบียง เสาระเบียงและเสาในอาคารเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลา หลังคาพระที่นั่งประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับรูปเทพนมประทับบนฐานบัวแกมช่อกระหนกเปลว ปิดทองประดับกระจก
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังที่พระพุทธรัตนสถาน
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ผนังเหนือช่องประตูและหน้าต่างเป็นงานจิตรกรรมดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนเรื่องประวัติพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ตั้งแต่อัญเชิญเสด็จจากลพบุรีสู่เมืองหริภุญชัยไปจนถึงการเสด็จสู่กรุงรัตนโกสินทร์และการสมโภช มีการผสมผสานระหว่างเทคนิคการเขียนแบบไทยประเพณีดั้งเดิมเข้ากับเทคนิคการเขียนจิตรกรรมแบบตะวันตกที่เพิ่งจะเข้ามาในสมัยนั้น ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความสมจริงมากขึ้นกว่างานแบบไทยประเพณีดั้งเดิม จิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเล่าประวัติของพระพุทธรัตนสถานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 โดยมีการแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือบริบทสังคมในสมัยนั้นๆ ลงไปในฉาก เป็นงานที่ผสมผสานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีและทัศนียวิทยาแบบตะวันตก มีการแสดงรูปบุคคล เครื่องแต่งกาย พาหนะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีตรงตามยุคสมัยในฉากนั้นๆเพื่อให้เกิดความสมจริง
สถาปัตยกรรมพระพุทธรัตนสถาน
พระพุทธรัตนสถานเป็นอาคารแบบไทยประเพณีในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าชั้นเดียวยกพื้นสูงตั้งบนฐานไพที ฐานประทักษิณ และฐานบัว ผนังด้านนอกเป็นหินอ่อน ด้านหน้ามีมุขลด รอบอาคารมีเสาพาไล ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดมงกุฎ หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันมีเครื่องลำยอง หน้าบันมุขลดเป็นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพาน 2 ชั้น ขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้นซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 หน้าบันหลักทั้งหน้าและหลังเป็นรูปครุฑยุดนาคซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 2 มีรูปพระวิมานและพระมหามงกุฎประดับอยู่เบื้องล่างซ้ายและขวา มีอาคารประกอบเป็นศาลาโถง 2 หลังซ้ายขวา ด้านหน้ามีหอระฆัง และเสาประทีป 4 ต้น
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์
พระที่นั่งตั้งอยู่บนเนินดินใจกลางถ้ำที่มีลักษะโปร่งแสงแดดส่องถึงพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นพระที่นั่งโถงแบบจัตุรมุข โดยมีมุขทางด้านเหนือและด้านใต้ยาวกว่ามุขด้านตะวันตกและตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระหา หางหงส์
สถาปัตยกรรมพระรามราชนิเวศน์
พระรามราชนิเวศน์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นสไตล์ยุโรป ตัวอาคารมี 2 ชั้น หลังคามี 2 ยอดทรงสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบ ตัวอาคารมีผังเป็นตรีมุข แต่ละมุขมีบันไดทางขึ้นขนาดใหญ่เป็นทางขึ้นลง มุขด้านหน้าทางทิศตะวันออกถือเป็นจุดเด่นของอาคาร ประกอบด้วยวงกลมสามวงเรียงกันคล้ายรูปดอกจิก เรียกว่า ผังดอกจิกแบบโรมาเนสก์ (Rhenish Romanesque Trefoil Plan)โถงทางเข้าเป็นวงกลมขนาดใหญ่มีลักษณะโปร่งทะลุไปถึงเพดานชั้น 2 และเป็นที่ตั้งของบันไดใหญ่ของพระที่นั่ง ซึ่งเป็นการออกแบบในแนว จุงเกนสติล (Jugendstil) ที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆ ด้านทิศเหนือมีอาคารรองก่อสร้างต่ออกไปโอบล้อมที่ว่างตรงกลาง มีบริเวณสวนหรือที่ว่างตรงกลางตกแต่งแบบสวนยุโรป (Court) ภานในพระที่นั่งตกแต่งโดยใช้ทองแดง กระจกสี กระเบื้องเคลือบสี เหล็กหล่อ ช่อไฟกิ่งซึ่งเน้นความหรูหราแบบยุโรป
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท
มีรูปแบบเป็นปราสาททรงจัตุรมุข ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับลวดลายปูนปั้นที่บริเวณหน้าบัน บัวหัวเสา และกาบพรหมศร ส่วนยอดเป็นปรางค์มีทั้งหมด 5 ยอด โดยประดับอยู่ที่กลางสันหลังคามุขทั้ง 4 และยอดประธานซึ่งมีความสูงที่สุด ทุกยอดประดับนภศูล ภายในพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทมีขนาดไม่กว้างใหญ่มากนัก ใช้เทคนิคการก่ออิฐแนวผนังและเพดานโดยก่อเป็นวงโค้งปลายแหลม ซึ่งช่องวงโค้งค่อนข้างแคบจึงช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องหลังคาที่มีถึง 5 ยอดได้เป็นอย่างดี
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
พระที่นั่งองค์นี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือพื้นที่ด้านหน้ามีลักษณะเป็นห้องโถงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังเจาะช่องประตูและหน้าต่างทางด้านตะวันออก เหนือ และใต้ โดยรูปทรงของช่องเหล่านี้เป็นแบบโค้งแหลมหรือ Pointed Arch หลังคาที่คลุมพื้นที่ส่วนนี้สันนิษฐานว่าเป็นทรงจั่ว โครงทำจากเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องซึ่งได้พังทลายไปหมดแล้ว ส่วนที่สองคือพื้นที่ด้านหลัง เดิมทีส่วนนี้เคยมี 2 ชั้น โดยพื้นชั้นที่สองทำจากไม้จึงสูญสลายผุพังไปหมด เหลือให้เห็นเพียงแนวเสาอิฐรับโครงสร้างและแท่นฐานใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ตรงกลางของผนังด้านตะวันออกชั้นสองมีสีหบัญชร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ในยามออกว่าราชการ ส่วนด้านข้างของผนังตะวันออกเป็นช่องประตู มีบันไดทอดลงไปสู่ห้องโถงส่วนแรก หลังคาของส่วนนี้คงเป็นยอดมหาปราสาท