ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 41 ถึง 48 จาก 131 รายการ, 17 หน้า
พระมหาพิชัยราชรถ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระมหาพิชัยราชรถ

ราชรถช่วงล่างประกอบด้วยวงล้อ 4 ล้อ ส่วนหน้ารถเรียกว่าเกริน สลักลวดลายกระหนกออกปลายรูปหัวนาค ส่วนท้ายรถเรียกว่า ท้ายเกริน สลักลวดลายกระหนกออกปลายรูปหางนาค ส่วนกลางราชรถลดหลั่นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นประดับประติมากรรมรูปเทพนม เหนือฐานราชรถช่วงกลางประดิษฐานบุษบกเรือนยอด เสาย่อมมุมไม้สิบสองประดับพระวิสูตรผู้ไว้ทั้ง 4 ด้าน ฐานบุษบกสลักลายประจำยามก้ามปู กระจังตาอ้อย และเทพนม หลังคาบุษบกเป็นเรือนซ้อนชั้นและมียอดแหลม องค์ประกอบทั้งหมดปิดทองประดับกระจกสี

พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังลาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังลาราม

พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เครื่องหลังคาแบบไทยประเพณี หน้าบันประดับเครื่องลำยอง ได้แก่ ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ปิดทองประดับกระจก รอบอุโบสถมีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไม่ประดับบัวหัวเสา พนักระเบียงรอบพระอุโบสถมีช่องสี่เหลี่ยมประดับประติมากรรมหินอ่อนแกะสลักนูนต่ำเรื่องรามเกียรติ์ บานประตูพระอุโบสถด้านนอกประดับมุกเป็นลวดลายภาพตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ ด้านในเขียนลายรดน้ำรูปพัดยศพระราชาคณะ พระครูสัญญาบัตร ฐานานุกรมเปรียญทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีในกรุงและหัวเมือง จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเหนือช่องหน้าต่างเขียนเรื่องมโหสถบัณฑิต ผนังระหว่างช่องประตูหน้าต่างเขียนเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ บานหน้าต่างด้านในเขียนลายรดน้ำเป็นรูปตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ในกรุงและหัวเมืองสมัยรัชกาลที่ 3 ด้านนอกแกะสลักเป็นลายแก้วชิงดวง

พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล

บุษบกทุกองค์ทำด้วยโลหะปิดทองประดับกระจก มีลักษณะเป็นบุษบกโถง ประกอบด้วยเสาย่อมุมทั้ง 4 มุม รับเครื่องหลังคาที่เป็นยอดแหลม ซุ้มสาหร่ายทุกด้านออกลายเทพนม ส่วนฐานบุษบกประดับชั้นเทพนมบุษบกด้านทิศเหนือประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ 1-3 ดังนี้พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นรูปพระมหามงกุฎไม่มีกรรเจียก พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุดนาค พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระวิมาน บุษบกด้านทิศใต้องค์หนึ่งประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระมหามงกุฎมีกรรเจียกประดับ และอีกองค์หนึ่งประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระจุลมงกุฎ หรือพระเกี้ยว บุษบกด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประดิษฐานประบรมราชสัญลักษณ์ 4 รัชกาล ดังนี้พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปวชิราวุธ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนิวาต เหนือราวพาดพระแสงเป็นดวงตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ เป็นรูปดุสิตเทพบุตรประทับนั่งห้อยพระบาทขวาบนบัลลังก์ดอกบัว พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ มีอุณาโลมล้อมด้วยจักรและรัศมีอยู่เหนือพระที่นั่ง ด้านบนมีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระบรมราชสัญลักษณ์ทั้งหมดประดิษฐานภายในบุษบกเหนือฐานหินอ่อน รอบฐานมีประติมากรรมรูปช้างทำด้วยสำริด หมายถึงพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญในรัชกาลนั้นๆ

พระตำหนักแดง
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระตำหนักแดง

ตำหนักแดงมีลักษณะเป็นตำหนักหลังเดียว ความยาว 7 ห้อง มีเฉลียงที่ด้านหน้า มีเสารองรับชายคาจำนวน 15 ต้น หลังคาชั้นเดียวไม่มีมุขลด ทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันกรุด้วยไม้แบบลูกฟักหน้าพรหม กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ฝาเรือนเป็นฝาปะกนลูกฟัก บานประตูหน้าต่างมีอกเลา ลักษณะเด่นของตำหนักแดงคือ พระแกลหรือหน้าต่างที่มีฐานสิงห์ประกอบอยู่ที่ตอนล่าง ซึ่งจะไม่ปรากฏในเรือนสามัญชน รูปแบบของพระตำหนักแดงเป็นตัวอย่างสำคัญของพระตำหนักที่ประทับที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม

จิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีรูปแบบเป็นงานจิตรกรรมไทยประเพณี เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่างส่วนผนังเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมโดยเหล่าเทพเทวดาแต่งกายยืนเครื่องอยู่ในท่านั่งเรียงเป็นแถว ต่างพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีภาพพระเจดีย์ที่ผนังท้ายพระที่นั่งส่วนผนังด้านหน้าพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธาน เขียนภาพเทวดาชั้นพรหมประทับนั่งเรียงแถวพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระทุสสะเจดีย์ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตเทคนิคการเขียนภาพยังคงเป็นแบบไทยประเพณีที่นิยมในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวคือ ใช้เทคนิคการระบายสีแล้วตัดเส้น ภาพบุคคลสำคัญแสดงออกผ่านกิริยาที่เป็นนาฏลักษณ์ ใช้เส้นสินเทาแบ่งเรื่องราวตอนต่างๆ มีการปิดทองคำเปลวในส่วนสำคัญของภาพ เป็นต้น

ภาชนะดินเผาบ้านเชียง
อุดรธานี
ประติมากรรมภาชนะดินเผาบ้านเชียง

เป็นภาชนะดินเผาในหลุมฝังศพที่พบได้จากการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้1.สมัยต้น มีอายุระหว่าง 4,300-3,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อยระยะที่ 1 มีภาชนะดินเผาประเภทเด่นคือ ภาขนะดินเผาสีดำ-เทาเข้ม มีเชิงหรือฐานเตี้ยๆ ลำตัวภาชนะครึ่งบนมักตกแต่งด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้ง แล้วตกแต่งเพิ่มเติมด้วยการกดจุดหรือเป็นเส้นสั้นๆ เติมในพื้นที่ระหว่างลายเส้นคดโค้ง ส่วนครึ่งล่างของตัวภาชนะมักตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ซึ่งหมายถึงลวดลายที่เกิดจากการกดประทับผิวภาชนะดินเผาด้วยเชือกนั่นเองระยะที่ 2 เริ่มปรากฏภาชนะดินเผาแบบใหม่เพิ่มขึ้นมา คือ ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ที่ใช้บรรจุศพเด็กก่อนที่จะนำไปฝัง นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาขนาดสามัญซึ่งมีการตกแต่งพื้นที่ส่วนใหญ่บนผิวภาชนะด้านนอกด้วยเส้นขีดเป็นลายคดโค้ง จึงดูเสมือนเป็นภาชนะที่มีปริมาณลวดลายขีดตกแต่งหนาแน่นกว่าบนภาชนะของสมัยต้นช่วงแรกระยะที่ 3 เริ่มปรากฏภาชนะแบบที่มีผนังด้านข้างตรงถึงเกือบตรง ทำให้มีรูปร่างภาชนะเป็นทรงกระบอก (beaker) และยังมีภาชนะประเภอหม้อก้นกลม คอภาชนะสั้นๆ ปากตั้งตรง ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบตลอดทั้งใบระยะที่ 4 ปรากฏภาชนะดินเผาประเภทหม้อก้นกลม มีกลุ่มหนึ่งตกแต่งบริเวณไหล่ภาชนะด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้งผสมกับการระบายด้วยสีแดง ในขณะที่ส่วนบริเวณลำตัวภาชนะช่วงใต้ไหล่ลงมาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาแบบนี้มีการตั้งชื่อว่า “ภาชนะแบบบ้านอ้อมแก้ว” เพราะพบว่าเป็นภาชนะดินเผาประเภทหลักที่พบในชั้นอยู่อาศัยของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงแรกที่บ้านอ้อมแก้ว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเชียง2.สมัยกลาง อายุระหว่าง 3,000-2,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อยภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ผิวนอกสีขาว ทำส่วนไหล่ภาชนะหักมุมหรือโค้งมากจนเกือบเป็นมุมค่อนข้างชัด มีทั้งแบบก้นกลมและก้นแหลม บางใบมีการตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนสีที่บริเวณใกล้ปากภาชนะ ในช่วงปลายสุดของสมัยกลาง เริ่มมีการตกแต่งปากภาชนะดินเผารูปแบบเช่นนี้ด้วยการทาสีแดง3.สมัยปลาย อายุระหว่าง 2,300-1,800 ปีมาแล้ว ช่วงต้นของสมัยปลาย พบภาชนะดินเผาเขียนสีแดงบนพื้นสีนวลช่วงกลางของสมัยปลาย เริ่มมีการใช้ภาชนะดินเผาลายเขียนสีแดงบนพื้นสีแดงช่วงท้ายของสมัยปลาย เริ่มมีการใช้ภาชนะดินเผาทาด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมันลวดลายที่ปรากฏบนภาชนะดินเผา สามารถจำแนกได้ดังนี้1.กลุ่มลวดลายรูปร่างเรขาคณิต 2.กลุ่มลวดลายอิสระแบบดุลยภาพสมมาตร 3.กลุ่มลวดลายอิสระแบบดุลยภาพอสมมาตร ส่วนรูปแบบลวดลายที่นิยมในสมัยปลาย คือ การเขียนสีบนเคลือบน้ำดินสีนวล ลวดลายวงกลมหรือวงรี ลวดลายเส้นโค้งแบบก้นหอยวนเข้าหาจุดศูนย์กลาง ลายเส้นโค้งแบบก้นหอยวนเข้าหาจุดศูนย์กลางแล้ววนออกและลวดลายตัว S และ Z ลวดลายภาชนะแสดงถึงความพิถีพิถัน ผู้ผลิตสร้างขึ้นให้กับผู้ตายตามประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับความตาย พื้นฐานทางความคิดของผู้สร้างสรรค์ลวดลายของชุมชนมีความร่วมกันทางวัฒนธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ปรากฏถึงความหลากหลายในการออกแบบ ซึ่งมีพัฒนาการในระยะแรกเริ่มจากรูปแบบเรียบง่าย ต่อมาในระยะหลังเมื่อผลิตจำนวนมากขึ้น มีความรู้ความชำนาญมากขึ้นก็พัฒนาไปสู่การสร้างลวดลายที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม
อุบลราชธานี
จิตรกรรมภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม

สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ตามชื่อหน้าผาเรียงต่อกันไปคือผาขาม ผาแต้ม ผาหมอนน้อย และผาหมอน ทั้งหมดนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก1. ผาขามแสดงภาพปลาขนาดใหญ่ 4 ตัว ยาวประมาณ 0.35 - 1.00 เมตร เขียนด้วยสีแดงแบบเห็นโครงสร้างภายใน ( x-ray ) นอกจากนั้นมีภาพช้าง 1 ตัว ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปลามาก (ประมาณ 13 ซม.) และภาพสัตว์สี่เท้า 1 ตัว2. ผาแต้มภาพเขียนปรากฎมีตลอดแนวหน้าผายาว 180 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 4 - 5 เมตร ภาพที่เขียนลงสีไว้มีมากกว่า 300 รูป ที่ผาแต้มนี้มีภาพที่เกิดจากการฝนเซาะร่องลงไปในเนื้อหินเป็นลายเส้นเรียงแถวตามแนวตรงบ้าง เฉียงบ้าง แนวนอนบ้าง สูงตั้งแต่ 5 - 15 ซม. ส่วนนี้ยังคงมีหลงเหลืออยู่ในช่วงยาวประมาณ 80 ซม.เท่านั้น อาจเป็นภาพสัญลักษณ์บางอย่างสำหรับภาพเขียนสีซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่บริเวณนี้ ส่วนใหญ่เขียนด้วยสีแดง มีสีดำและสีขาวบ้าง แบ่งเป็นภาพคนซึ่งมีขนาดเล็ก พบเพียง 10 ภาพภาพสัตว์ เช่น ช้าง ปลา เต่าหรือตะพาบน้ำ สุนัข วัว ไก่หรือนก เป็นต้น มักแสดงภาพขนาดใหญ่ราวกับเท่าของจริง โดยเฉพาะช้างและปลาที่มีขนาดยาวถึง 4 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร ภาพสัตว์นี้พบประมาณ 30 ภาพ ทั้งภาพคนและสัตว์ มักอยู่ในอาการเคลื่อนไหวภาพวัตถุสิ่งของ อาจเป็นเครื่องมือจับปลาที่เรียกว่า "ตุ้ม" และหน้าไม้ หรือคันธนูซึ่งคนกำลังถือใช้งานอยู่ภาพสัญลักษณ์ เป็นลายเส้นวกเวียนไปมา หรือเป็นเส้นหยัก ลูกคลื่นหรือฟันปลา ซึ่งอาจหมายถึง"น้ำ" หรือกับดักปลา ลายก้างปลา ลายรูปทรงเรขาคณิต ลายเส้นขนานคล้ายทุ่งนา เป็นต้นภาพมือ ซึ่งพบอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 200 มือ มีทั้งมือผู้ใหญ่ และมือเด็ก และมีทั้งสีแดง สีดำ และสีขาว ภาพทุกประเภทเขียนอยู่ร่วมกันเสมอ โดยเฉพาะภาพมือ ปรากฏมีสอดแทรกกับภาพอื่นๆ ทุกภาพภาพเขียนส่วนมากเขียนแบบระบายสีเงาทึบ (silhouette) นอกนั้นเป็นแบบโครงร่างรอบนอก (outline) และแบบกิ่งไม้ (stick man) ส่วนภาพมือมีรูปแบบการทำหลายแบบ มีทั้งแบบพ่น (stencil) แบบทาบ (imprint) และแบบเขียนเส้นโครงรอบนอก (outline)3. ผาหมอนน้อยแสดงภาพคนสูงประมาณ 1.6 เมตร กำลังเหนี่ยวคันธนูเล็งไปยังสัตว์สี่ขาซึ่งอาจเป็นวัวตั้งครรภ์ ลำตัวยาวประมาณ 6.4 เมตร ต่อมาเป็นภาพคนสูงประมาณ 1.2 เมตร กำลังไล่สัตว์สี่ขามีเขาอาจเป็นกวางที่บุกรุกเข้าไปในนาข้าว ซึ่งรอบๆภาพกลุ่มนี้มีภาพมือทั้งซ้ายและขวาประมาณ 20 มือ ทำขึ้นโดยการทาสีบนฝ่ามือแล้วขูดสีบางส่วนที่นิ้วและฝ่ามือออกแล้วจึงทาบมือลงบนผนัง ถัดมาเป็นภาพสัตว์สี่ขา 3 ตัว ท้องป่องคล้ายตั้งครรภ์เช่นกัน กับภาพลายเส้นคล้ายตาข่ายดักสัตว์ นอกจากนี้ก็มีภาพลายเส้นคู่ขนานต่อกัน และภาพมือที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มแรกอีกประมาณ 15 มือ เรียงกันเป็นแถวยาวกับลายเส้นหยักขึ้นลงวกไปมาด้วย ภาพคนและสัตว์ระบายสีแดงแบบเงาทึบ (silhouette)เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพเขียนสีที่ผาแต้มและผาหมอนน้อยนี้ ภาพทุกประเภทมีความสัมพันธ์เป็นเรื่องราวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพคนกับวัวกับภาพมือ ภาพปลากับมือ ภาพ"ตุ้ม"กับมือ และสัญลักษณ์ ภาพทุ่งนากับคนกับกวางกับมือ ภาพคนกำลังล่าวัวหรือกวาง4. ผาหมอนภาพทั้งหมดในส่วนนี้เขียนด้วยสีแดงแบบระบายเงาทึบ (silhouette) ประกอบด้วยภาพคนและสัตว์ กลุ่มแรกมีภาพคนเพียงคนเดียวกับภาพสัตว์สี่ขา 11 ตัว อาจเป็นช้าง วัว สุนัข และหมูหรือแกะหรือแพะเดินตามกันไปในทิศทางเดียวกัน (ยกเว้นสัตว์ตัวหนึ่งซึ่งอาจเป็นสุนัขที่หันหน้าเข้าหาฝูงสัตว์) กลุ่มที่สองเป็นภาพคนประมาณ 10 คน เขียนแบบระบายเงาทึบกับแบบกิ่งไม้ มีลักษณะค่อนข้างเหมือนจริง แสดงกล้ามเนื้อน่องโป่งพองด้วย ภาพที่น่าสนใจของที่ผาหมอนนี้คือภาพคนนุ่งกระโปรงยาวครึ่งน่อง ยืนท้าวสะเอว มีขนาดใหญ่กว่าภาพคนอื่นๆ ไม่รู้แน่ว่าเป็นหญิงหรือชาย นอกจากนี้มีภาพมือข้างขวาของผู้ใหญ่แบบพ่น (stencil) 2 มือ และแบบทาบ (imprint) อีก 2 มือ และมือเด็กแบบทาบอีก 2 มือด้วย ภาพเขียนสีทั้ง 4 กลุ่มนี้จะเห็นได้ว่ามีภาพมือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ อาจหมายถึงการร่วมมือร่วมแรงกันทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ร่วมมือกันจับปลา ทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือล่าสัตว์ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้วาดภาพเหล่านั้นว่าอยู่ในสังคมเกษตรกรรม และยังอาจหมายถึงการมีความเชื่อร่วมกันในเรื่องความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

แผ่นเงินดุนนูน
ขอนแก่น
ประติมากรรมแผ่นเงินดุนนูน

แผ่นเงินจำนวนทั้งสิ้น 66 แผ่น ดุนนูนเป็นรูปต่างๆ ได้แก่ พระพุทธรูป สถูป เทวดา และธรรมจักร แต่ละแผ่นไม่ซ้ำแบบกัน