ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล
คำสำคัญ : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดพระแก้ว, บุษบกตราแผ่นดิน, พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล
ชื่อเรียกอื่น | บุษบกตราแผ่นดิน |
---|---|
ชื่อหลัก | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม |
ชื่ออื่น | วัดพระแก้ว |
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ตั้งอยู่บนฐานไพที ด้านทิศเหนือระหว่างพระมณฑปกับพระศรีรัตนเจดีย์1 องค์, ทิศใต้ 2 องค์, ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 1 องค์ |
ประวัติการสร้าง | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบุษบกประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ 1-5 ขึ้นเป็นเครื่องแสดงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 5 รัชกาล จึงได้ทรงสร้างพระบรมราชสัญลักษณ์ของพระองค์ไว้เป็นพุทธบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ 6 - 9 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพิ่มขึ้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อคราวฉลองสมโภชครบ 200 ปีรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525 |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | โลหะปิดทองประดับกระจก, หินอ่อนแกะสลัก, หล่อสำริด |
ประวัติการอนุรักษ์ | ได้รับการอนุรักษ์เมื่อคราวฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เมื่อ พ.ศ.2525 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | บุษบกทุกองค์ทำด้วยโลหะปิดทองประดับกระจก มีลักษณะเป็นบุษบกโถง ประกอบด้วยเสาย่อมุมทั้ง 4 มุม รับเครื่องหลังคาที่เป็นยอดแหลม ซุ้มสาหร่ายทุกด้านออกลายเทพนม ส่วนฐานบุษบกประดับชั้นเทพนม บุษบกด้านทิศเหนือประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ 1-3 ดังนี้ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นรูปพระมหามงกุฎไม่มีกรรเจียก พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุดนาค พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระวิมาน บุษบกด้านทิศใต้องค์หนึ่งประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระมหามงกุฎมีกรรเจียกประดับ และอีกองค์หนึ่งประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระจุลมงกุฎ หรือพระเกี้ยว บุษบกด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประดิษฐานประบรมราชสัญลักษณ์ 4 รัชกาล ดังนี้ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปวชิราวุธ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนิวาต เหนือราวพาดพระแสงเป็นดวงตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ เป็นรูปดุสิตเทพบุตรประทับนั่งห้อยพระบาทขวาบนบัลลังก์ดอกบัว พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ มีอุณาโลมล้อมด้วยจักรและรัศมีอยู่เหนือพระที่นั่ง ด้านบนมีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระบรมราชสัญลักษณ์ทั้งหมดประดิษฐานภายในบุษบกเหนือฐานหินอ่อน รอบฐานมีประติมากรรมรูปช้างทำด้วยสำริด หมายถึงพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญในรัชกาลนั้นๆ |
สกุลช่าง | ช่างหลวง |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | บุษบกประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 1-9 ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแสดงให้เห็นพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลต่างๆ ในราชวงศ์จักรีที่สื่อแทนถึงพระปรมาภิไธยแต่ละพระองค์ พระบรมราชสัญลักษณ์อาจใช้เป็นตราประทับกำกับในเอกสารราชการแผ่นดินซึ่งเรียกว่า พระราชลัญจกร การใช้รูปสัญลักษณ์เหล่านี้เริ่มมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงออกประกาศให้ใช้รูปสัญลักษณ์ต่างๆ ได้แก่ รูปอุณาโลมหรือมงกุฎ แทนพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, รูปครุฑยุดนาค แทนพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, รูปปราสาท แทนพระนามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และรูปพระมหามงกุฎแทนพระนามพระองค์เอง โดยในประกาศนั้นได้ใช้ภาพสัญลักษณ์เพื่อเลี่ยงการออกพระนามพระมหากษัตริย์ แต่อย่างไรก็ตาม พระบรมราชสัญลักษณ์เหล่านั้นก็ยังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการนำพระนามเดิมของพระมหากษัตริย์มาประดิษฐ์เป็นรูปสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย เช่น รูปพระมหามงกุฎซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 ก็สืบเนื่องมาจากพระนามเดิมของพระองค์คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นต้น แนวคิดในการออกแบบพระบรมราชสัญลักษณ์โดยแฝงนัยความสำคัญของพระนามเดิม หรือสิ่งสำคัญต่างๆ ในแต่ละรัชกาลดังกล่าวยังคงปรากฏสืบมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน นอกจากนี้ที่ด้านล่างของบุษบกที่ประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ยังประติมากรรมช้างสำริดซึ่งจำลองพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญในแต่ละรัชกาลไว้ด้วย |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ประเพณีในราชสำนัก |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน, พระราชลัญจกรประจำรัชกาล |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-07-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525 : ภาคที่ 1 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525. สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประวัติวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ : สำนักพระราชวัง, 2534. |