ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดช่องแสมสาร
เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีลักษณะเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้น องค์เจดีย์ทรงระฆังในผังกลมประกอบด้วยชุดฐานเขียง มีชุดมาลัยเถาเป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง ถัดขึ้นมาเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ ปล้องไฉน ปลี และปลียอดโดยมีลูกแก้วคั่น รูปแบบที่เป็นเจดีย์ทรงระฆังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนตำแหน่งสูงสุดของเนินเขา ซึ่งทำให้มองเห็นได้ชัดเจนเมื่อเดินเรือผ่านช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
รูปแบบปัจจุบันจากส่วนฐานจนกระทั่งส่วนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมีลักษณะดังต่อไปนี้ส่วนล่างเป็นฐานประทักษิณสูง ล้อมรอบด้วยระเบียงหรือที่เรียกว่าวิหารทับเกษตร บันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณอยู่ทางทิศเหนือซึ่งเป็นด้านที่เชื่อมต่อกับวิหารพระทรงม้า ทำให้บันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณตั้งอยู่ภายในวิหารพระทรงม้าไปโดยปริยายผนังของฐานประทักษิณประดับด้วยแนวเสาอิง บนตัวเสาอิงมีพระพุทธรูปยืนขนาบบ้างด้วยพระสาวกอยู่ภายในซุ้ม ระหว่างเสามีช้างเห็นครึ่งตัวอยู่ภายในซุ้มวงโค้งหรือซุ้มหน้านางด้านละ 6 ตัว ยกเว้นทางด้านเหนือมีอยู่ 4 ตัว เพราะต้องเว้นพื้นที่ไว้สำหรับบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ บนลานประทักษิณมีเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่มีเจดีย์ทรงกลมประจำมุม เจดีย์องค์ใหญ่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดมีองค์ระฆังกลมขนาดใหญ่ เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ประดับด้วยปูนปั้นรูปเสาอิงและเครื่องถ้วย ถัดขึ้นไปเป็นก้านฉัตรหรือแกนปล้องไฉนซึ่งประดับด้วยเสาหานที่มีรูปพระอัครสาวกตกแต่งอยู่ เรียกกันทั่วไปว่า พระเวียน ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน ปัทมบาทและปลีซึ่งหุ้มด้วยทองคำและประดับด้วยอัญมณีมีค่า
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดนางพญา
เจดีย์ประธานวัดนางพญาตั้งอยู่ทางด้านหลังวิหาร ก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก รองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยมซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบ องค์เจดีย์ประกอบด้วยส่วนสำคัญไล่จากด้านล่างไปด้านบน คือ ชุดฐานเขียงต่อด้วยฐานบัว มาลัยเถาซ้อนกัน 3 ชั้น มีมุขอยู่ที่ทิศทั้งสี่ เฉพาะมุขทิศตะวันออกเท่านั้นที่มีบันไดทางขึ้นและสามารถเข้าไปยังห้องคูหาภายในได้ ถัดขึ้นเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ และส่วนยอด
สถาปัตยกรรมพระสมุทรเจดีย์
พระสมุทรเจดีย์มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงที่มีช้างล้อม ถัดขึ้นไปเป็นฐานประทักษิณ 2 ฐาน ซึ่งมีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน จากนั้นเป็นชั้นฐานบัวคว่ำ บัวหงายที่ประดับบัวลูกแก้ว 2 เส้น ในผังกลม และประดับจระนำทั้งสี่ทิศที่ชั้นฐานนี้ จากนั้นจึงต่อด้วยชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายตามระเบียบของเจดีย์ทรงระฆังในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีชุดมาลัยเถา 3 ชั้น ชั้นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ 1 ชุด แทนตำแหน่งบัวปากระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนและเสาหาร ปล้องไฉนทรงกรวยและปลียอด ความสูงของพระสมุทรเจดีย์เป็นผลจากการที่องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีความสูง 2 ชั้น ซึ่งอยู่ในผังแปดเหลี่ยม มีบันไดทางขึ้น โดยฐานประทักษิณชั้นล่างเป็นฐานช้างล้อม การเพิ่มสัดส่วนความสูงด้วยชั้นฐานที่มากขึ้นนั้นเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลจากการที่พระสมุทรเจดีย์นั้นเดิมตั้งในบริเวณที่เป็นเกาะกลางน้ำจึงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องน้ำท่วม รวมทั้งเพื่อให้เป็นจุดสังเกตที่สำคัญในการสัญจร
สถาปัตยกรรมพระธาตุเชิงชุม
พระธาตุเชิงชุมเป็นพระธาตุทรงบัวเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูนครอบทับปราสาทเขมรที่ก่อจากศิลาแลงพระธาตุเชิงชุมมีแผนผังสี่เหลี่ยม เรือนธาตุมีรูปแบบเป็นชุดฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ด้านทั้งสี่มีซุ้มประตูทรงปราสาท ซุ้มด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องคูหาที่ตั้งอยู่ภายใน โดยห้องดังกล่าวนี้ก็คือครรภคฤหะเดิมของปราสาทเขมรนั่นเอง ในขณะที่ซุ้มประตูด้านใต้ ตะวันตก และเหนือ แม้ว่าจะผลักบานประตูได้แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปภายในได้ เพราะเมื่อผลักเข้าไปจะพบกับผนังประตูหลอกของปราสาทศิลาแลง ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุเป็นองค์ประกอบคล้ายองค์ระฆังแต่อยู่ในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซึ่งอาจเทียบได้กับบัลลังก์ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดที่ประกอบจากบัวเหลี่ยมซ้อนกัน
สถาปัตยกรรมพระปฐมเจดีย์
พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลมที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบองค์เจดีย์ โดยมีวิหารทิศทั้ง 4 คั่นจังหวะ ได้แก่ วิหารทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปตอนประสูติ วิหารทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนตรัสรู้ วิหารทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปฐมเทศนา และวิหารทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปรินิพพาน องค์พระปฐมเจดีย์ประกอบด้วยส่วนฐานซึ่งเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถารองรับองค์ระฆังขนาดใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนที่มีเสาหาร ปล้องไฉน และปลียอดที่มีลักษณะอ้วนป้อม
สถาปัตยกรรมพระธาตุพนม
พระธาตุพนมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน องค์ประกอบสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรือนธาตุ และยอดทรงบัวเหลี่ยมเรือนธาตุก่ออิฐไม่ฉาบปูน มีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส น่าจะตรงกับที่ตำนานอุรังคธาตุเรียกว่า อุโมงค์ (อูบมุง) ประดับตกแต่งกึ่งกลางแต่ละด้านด้วยซุ้มประตูหลอก ถัดออกมาสองข้างของซุ้มประตูตกแต่งด้วยเสาหลอกทรงกลม มุมทั้งสี่สลักภาพกนกพรรณพฤกษาและรูปบุคคลขี่พาหนะ ซึ่งได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับตำนานอุรังคธาตุว่าเป็นรูปพระยาทั้งห้าที่ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนมขึ้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 1 ชั้น ถัดไปจากนั้นเป็นยอดบัวเหลี่ยม ส่วนนี้นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านช้าง
สถาปัตยกรรมพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัยจัดเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ก่ออิฐ หุ้มทองจังโก องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอด ได้แก่ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม(หรือยกเก็จ) ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลมซึ่งมีลายประจำยามและภาพดุนนูนพระพุทธรูปประดับอยู่ จากนั้นเป็นบัลลังก์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร