ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์

คำสำคัญ : เจดีย์ทรงระฆัง, เจดีย์ทรงกลม, เจดีย์ทรงลังกา, วัดมเหยงคณ์, เจดีย์ช้างล้อม

ชื่อหลักวัดมเหยงคณ์
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลหันตรา
อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.36373
Long : 100.594365
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 671922.06
N : 1588547.27
ตำแหน่งงานศิลปะแกนกลางวัด

ประวัติการสร้าง

เจดีย์ประธานวัดช้างล้อมคงสร้างขึ้นตั้งแต่แรกสร้างวัดในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ระบุศักราชการสร้างว่าตรงกับ พ.ศ.1981 ในขณะที่พระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ เช่น ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุศักราชการสร้างว่า พ.ศ.1967

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ.2254 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ วัดมเหยงคณ์ชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น ข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ กล่าวรายละเอียดผิดแผกกันไป แต่ใจความสำคัญตรงกัน สรุปได้ว่าพระองค์ให้สร้างตำหนักไว้ริมวัดเพื่อใช้เป็นที่ประทับในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย คราวละ 1 เดือนบ้าง หรือ 2 เดือนบ้าง หรือ 3 เดือนบ้าง ใช้เวลา 3 ปีจึงสำเร็จ เจดีย์ประธานคงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ด้วย
ประวัติการอนุรักษ์

ได้รับการขุดแต่งครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2521 – 2522 โดยได้พบโบราณสถานเพิ่มเติมคือตำหนักพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และเนินดินซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักปฏิบัติธรรมวัดมเหยงคณ์

ในระหว่างปีพ.ศ. 2538 -2539 บูรณะเจดีย์ประธานและเจดีย์รายหมายเลข 10 และ 11 รวมถึงบางส่วนของพระอุโบสถ

ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2542 –2543 ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถานที่นี่อีกครั้ง โดยใช้งบประมาณร่วมกับการบูรณะวัดสีกาสมุด วัดช้างและตำหนักมเหยงคณ์ เป็นเงินทั้งสิ้น 6,990,000 บาท
ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์เป็นเจดีย์ทรงกลมที่ตั้งอยู่บนลานประทักษิณ ก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน และประดับลวดลายปูนปั้น

ฐานประทักษิณอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ล้อมรอบด้วยประติมากรรมช้างครึ่งตัวยืนอยู่ภายในซุ้ม กึ่งกลางด้านทั้งสี่มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ

กลางลานประทักษิณมีเจดีย์ทรงกลม 1 องค์ ส่วนล่างของเจดีย์มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายโดยรอบ ถัดขึ้นไปได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเป็นส่วนใหญ่ ร่องรอยเดิมยังเห็นได้ว่ามีมาลัยเถา ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังและบัลลังก์ ส่วนยอดที่เป็นของเดิมหักพังลงบนลานประทักษิณ ที่เห็นในปัจจุบันเป็นงานบูรณปฏิสังขรณ์สมัยปัจจุบัน
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ช้างล้อมเพียงไม่กี่องค์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และเป็นเพียงองค์เดียวที่มีศักราชการสร้างชัดเจน ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น

2. เจดีย์องค์นี้มีฐานช้างล้อมน่าจะเกี่ยวข้องกับกระแสพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 และอาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มพระภิกษุทีเรียกว่า “สิงหลนิกาย” หรือ “นิกายป่าแดงหลวง” ของเชียงใหม่ที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยของพระองค์ด้วย

3. วัดแห่งนี้ชื่อว่ามเหยงคณ์น่าจะเกี่ยวข้องกับวัดมหิยังคณะในศรีลังกา ประธานของวัดแห่งนี้เป็นเจดีย์ช้างล้อมอาจเป็นต้นแบบให้กับเจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์ก็เป็นได้

4. รูปแบบของเจดีย์องค์นี้น่าจะมีความสัมพันธ์กับศิลปะสุโขทัย เช่น ลักษณะของซุ้มทรงวงโค้งหรือแบบหน้านางที่ครอบช้างแต่ละเชือก ซุ้มพระที่ล้อมรอบอยู่ด้านล่างขององค์เจดีย์แลดูคล้ายกับที่พบในเจดีย์วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย

5. การทำช้างล้อมอยู่ภายในซุ้มอาจเกี่ยวข้องกับพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช สะท้อนให้เห็นถึงการตอดต่อทางงานช่างและสายสัมพันธ์ของบ้านเมืองต่างๆ ที่รับพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะอยุธยา
อายุพุทธศตวรรษที่ 20 รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (พ.ศ. 1967-1981)
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. วัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยสันนิษฐานว่าองค์ประกอบบางประการน่าจะเกี่ยวข้องกัน เช่น การทำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งอยู่ด้านล่างองค์ระฆัง

2. พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสันนิษฐานว่าการทำช้างล้อมยืนอยู่ภายในซุ้มน่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน


รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-07-21
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542.

ศิลปากร, กรม. พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2511.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรศักดิ์ก่อสร้าง, รายงานการขุดแต่งและออกแบบเพื่อการบูรณะวัดมเหยงคณ์ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. พระนครศรีอยุธยา: สุรศักดิ์ก่อสร้าง, 2542.