ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 7 จาก 7 รายการ, 1 หน้า
เจดีย์ประธาน
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธาน

เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ช้างล้อม ฐานเขียงด้านล่างรองรับฐานเขียงสี่เหลี่ยมยกสูงมีร่องรอยการประดับรูปช้างล้อมรอบแบบช้างครึ่งตัวทั้ง 4 ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายยืดท้องไม้สูงประดับซุ้มหน้านางด้านละ 5 ซุ้ม รวม 20 ซุ้มต่อด้วยชุดบัวถลา 3 ฐานต่อด้วยบัวปากระฆัง องค์ระฆังในผังกลม บัลลังก์สี่เหลี่ยม ก้านฉัตรและปล้องไฉนที่ส่วนบนหักหายไป

เจดีย์ช้างล้อม
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมเจดีย์ช้างล้อม

เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ฐานล่างเป็นฐานเขียงต่อด้วยฐานช้างล้อม ที่มีประติมากรรมรูปช้างทั้งสิ้น 15 เชือก ต่อด้วยทางประทักษิณมีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออก เรือนธาตุมีการประดับซุ้มด้านละ 3 ซุ้ม รวม 12 ซุ้มมีการประดับลวดลายปูนปั้น จระนำกลางเป็นซุ้มซ้อน ส่วนยอดเป็นหลังคาลาด 2 ชั้นในผังยกเก็จ ต่อด้วยชุดฐานรองรับองค์ระฆัง 3 ฐานในผังแปดเหลี่ยม บัวปากระฆัง องค์ระฆังในผังกลม บัลลังก์ในผังเพิ่มมุม ก้านฉัตร ปล้องไฉน และปลี

เจดีย์วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย

เจดีย์ช้างล้อมองค์นี้ใช้ศิลาแลงและปูนเป็นวัสดุหลัก องค์เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณทางด้านตะวันออกหรือด้านหน้า มีประติมากรรมรูปช้างลอยตัวจำนวน 39 เชือกล้อมรอบฐานทักษิณนี้ ระหว่างช้างแต่ละตัวมีเสาตามประทีปคั่นกลาง เจดีย์ที่ตั้งอยู่บนลานประทักษิณมีองค์ประกอบสำคัญจากด้านล่างสู่ด้านบน ได้แก่ ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นด้านละ 5 ซุ้ม รวมเป็น 20 ซุ้ม ส่วนนี้เป็นรูปแบบพิเศษของเจดีย์องค์นี้ ถัดขึ้นไปเป็นรูปแบบโดยทั่วไปของเจดีย์ทรงกลมศิลปะสุโขทัย คือ ฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยชุดบัวถลา 3 ชั้น บัวปากระฆัง องค์ระฆังกลม บัลลังก์ และส่วนยอด

เจดีย์วัดช้างล้อมสุโขทัย
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดช้างล้อมสุโขทัย

เจดีย์ประธานวัดช้างล้อมตั้งอยู่กลางเขตพุทธาวาส ก่ออิฐฉาบปูน ล้อมรอบด้วยระเบียงคดโถง ด้านหน้าหรือด้านตะวันออกมีวิหารสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ ส่วนฐานของเจดีย์ประดับด้วยประติมากรรมรูปช้างที่ทำเพียงครึ่งตัวยืนอยู่ภายในซุ้ม ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานเขียงซ่อนลดหลั่นกัน ต่อด้วยบัวถลา 3 ชั้น องค์ระฆัง บัลลังก์ และส่วนยอด

พระสมุทรเจดีย์
สมุทรปราการ
สถาปัตยกรรมพระสมุทรเจดีย์

พระสมุทรเจดีย์มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงที่มีช้างล้อม ถัดขึ้นไปเป็นฐานประทักษิณ 2 ฐาน ซึ่งมีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน จากนั้นเป็นชั้นฐานบัวคว่ำ บัวหงายที่ประดับบัวลูกแก้ว 2 เส้น ในผังกลม และประดับจระนำทั้งสี่ทิศที่ชั้นฐานนี้ จากนั้นจึงต่อด้วยชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายตามระเบียบของเจดีย์ทรงระฆังในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีชุดมาลัยเถา 3 ชั้น ชั้นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ 1 ชุด แทนตำแหน่งบัวปากระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนและเสาหาร ปล้องไฉนทรงกรวยและปลียอด ความสูงของพระสมุทรเจดีย์เป็นผลจากการที่องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีความสูง 2 ชั้น ซึ่งอยู่ในผังแปดเหลี่ยม มีบันไดทางขึ้น โดยฐานประทักษิณชั้นล่างเป็นฐานช้างล้อม การเพิ่มสัดส่วนความสูงด้วยชั้นฐานที่มากขึ้นนั้นเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลจากการที่พระสมุทรเจดีย์นั้นเดิมตั้งในบริเวณที่เป็นเกาะกลางน้ำจึงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องน้ำท่วม รวมทั้งเพื่อให้เป็นจุดสังเกตที่สำคัญในการสัญจร

เจดีย์ประธานวัดช้างรอบกำแพงเพชร
กำแพงเพชร
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดช้างรอบกำแพงเพชร

เจดีย์วัดช้างรอบสร้างขึ้นจากศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูน และตกแต่งด้วยปูนปั้น องค์ประกอบสำคัญ คือ ฐานประทักษิณสูงใหญ่ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีทางขึ้นที่ด้านทั้งสี่ ฐานนี้ประดับด้วยประติมากรรมรูปช้างเห็นครึ่งตัวยืนเรียงราย ช้างแต่ละตัวตกแต่งด้วยเครื่องประดับปูนปั้น ระหว่างช้างแต่ละตัวประดับด้วยปูนปั้นรูปต้นไม้ บนลานประทักษิณมีเจดีย์ทรงกลมซึ่งชำรุดเหลือแต่ฐาน ส่วนล่างของเจดีย์ทรงกลมประดับด้วยปูนปั้นเล่าเรื่องชาดก ร่องรอยชำรุดทำให้เห็นว่ามีเจดีย์องค์เล็กถูกสร้างครอบทับไว้ภายในด้วย

เจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์

เจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์เป็นเจดีย์ทรงกลมที่ตั้งอยู่บนลานประทักษิณ ก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน และประดับลวดลายปูนปั้นฐานประทักษิณอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ล้อมรอบด้วยประติมากรรมช้างครึ่งตัวยืนอยู่ภายในซุ้ม กึ่งกลางด้านทั้งสี่มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ กลางลานประทักษิณมีเจดีย์ทรงกลม 1 องค์ ส่วนล่างของเจดีย์มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายโดยรอบ ถัดขึ้นไปได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเป็นส่วนใหญ่ ร่องรอยเดิมยังเห็นได้ว่ามีมาลัยเถา ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังและบัลลังก์ ส่วนยอดที่เป็นของเดิมหักพังลงบนลานประทักษิณ ที่เห็นในปัจจุบันเป็นงานบูรณปฏิสังขรณ์สมัยปัจจุบัน