ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์ประธาน

คำสำคัญ : เจดีย์ช้างล้อม, วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย, ศิลปะล้านนา, พระเจ้าติโลกราช, วัดป่าแดงหลวง

ชื่อหลักวัดป่าแดงหลวง
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลสุเทพ
อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
ตำแหน่งงานศิลปะตั้งอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน

ประวัติการสร้าง

เจดีย์องค์นี้ พระเจ้าติโลกราชสถาปนาขึ้นเพื่อบรรจุพระอัฐิธาตุของพระราชบิดา คือ พระเจ้าสามฝั่งแกน ณ ที่ปลงพระศพในปี พ.ศ. 1980

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 177 วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524

ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ช้างล้อม ฐานเขียงด้านล่างรองรับฐานเขียงสี่เหลี่ยมยกสูงมีร่องรอยการประดับรูปช้างล้อมรอบแบบช้างครึ่งตัวทั้ง 4 ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายยืดท้องไม้สูงประดับซุ้มหน้านางด้านละ 5 ซุ้ม รวม 20 ซุ้มต่อด้วยชุดบัวถลา 3 ฐานต่อด้วยบัวปากระฆัง องค์ระฆังในผังกลม บัลลังก์สี่เหลี่ยม ก้านฉัตรและปล้องไฉนที่ส่วนบนหักหายไป

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เจดีย์ช้างล้อมในศิลปะล้านนาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยอย่างมาก

ข้อสังเกตอื่นๆ

1. ลวดลายที่ปรากฏบนซุ้มเจดีย์สามารถกำหนดอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 20 สอดคล้องกับประวัติการสร้างเจดีย์ในปี พ.ศ. 1980

2. เหตุที่เจดีย์วัดป่าแดงหลวงมีการถ่ายแบบมาจากศิลปะสุโขทัยอาจเนื่องมาจากวัดแห่งนี้เกี่ยวข้องกับการเข้ามาของพุทธศาสนาสายลังกาใหม่ นิกายวัดป่าแดง โดยเป็นกลุ่มพระที่เดินทางไปสืบศาสนายังลังกาและกลับมาเผยแพร่และรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าติโลกราช จึงย้อนกลับไปทำเจดีย์แบบลังกาและเกี่ยวข้องกับสุโขทัย หรืออาจเป็นเพราะอิทธิพลทางการเมืองที่แผ่ลงไปถึงเมืองศรีสัชนาลัย ทำให้รูปแบบเจดีย์จากเมืองศรีสัชนาลับมาปรากฏในล้านนาด้วยเพราะในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชปรากฏงานศิลปกรรมที่มีความหลากหลายอย่างมาก

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านนา
อายุพุทธศตวรรษที่ 20
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. เจดีย์วัดช้างล้อม ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เจดีย์ช้างล้อมในศิลปะสุโขทัยที่มีรูปแบบที่น่าจะให้แรงบันดาลใจให้กับเจดีย์วัดป่าแดงหลวง

2. เจดีย์วัดป่าแดงบุญนาค จังหวัดพะเยา เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยอีกองค์ในศิลปะล้านนา น่าจะสร้างโดยพญายุธิษฐิระ เจ้าเมืองสองแควที่อพยพมาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-05-25
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม. การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในเขตรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรม, 2525.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. วัดร้างในเวียงเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่: สุริวงศ์ บุ๊คเซนเตอร์, 2539.

ประชากิจกรจักร, พระยา. พงศาวดารโยนก. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2507.