ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 65 ถึง 72 จาก 168 รายการ, 21 หน้า
พระบรมบรรพต
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระบรมบรรพต

รูปแบบของบรมบรรพตหรือภูเขาทองที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงระฆังสีทอง ตั้งอยู่บนเนินดินสูงก่อแนวกำแพงคอนกรีตล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้น 2 ทางไปสู่อาคารโถง ซึ่งมีบันไดขึ้นไปยังลานประทักษิณรอบองค์พระเจดีย์ที่อยู่ด้านบนสุด องค์เจดีย์เป็นทรงระฆังศิลปะรัตนโกสินทร์แบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะอยุธยาที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถา

เจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์

เจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์เป็นเจดีย์ทรงกลมที่ตั้งอยู่บนลานประทักษิณ ก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน และประดับลวดลายปูนปั้นฐานประทักษิณอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ล้อมรอบด้วยประติมากรรมช้างครึ่งตัวยืนอยู่ภายในซุ้ม กึ่งกลางด้านทั้งสี่มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ กลางลานประทักษิณมีเจดีย์ทรงกลม 1 องค์ ส่วนล่างของเจดีย์มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายโดยรอบ ถัดขึ้นไปได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเป็นส่วนใหญ่ ร่องรอยเดิมยังเห็นได้ว่ามีมาลัยเถา ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังและบัลลังก์ ส่วนยอดที่เป็นของเดิมหักพังลงบนลานประทักษิณ ที่เห็นในปัจจุบันเป็นงานบูรณปฏิสังขรณ์สมัยปัจจุบัน

เจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ

เจดีย์ทรงกลมตั้งเรียงกัน 3 องค์บนฐานไพที มีมณฑปคั่นกลางระหว่างเจดีย์แต่ละองค์ เจดีย์แต่ละองค์ผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์มาแล้วโดยกรมศิลปากร องค์ประกอบตั้งแต่ฐานจนยอดประกอบด้วยชุดฐานเขียง มาลัยเถา บัวปากระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์ แกนปล้องไฉนซึ่งมีเสาหารล้อมรอบ ปล้องไฉน ปลี และเม็ดน้ำค้าง ที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดพระศรีสรรเพชญ ได้แก่ ย่านกลางของเจดีย์มีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ทิศ สันหลังคามุขประดับด้วยเจดีย์ยอด

เจดีย์ศรีสุริโยทัย
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมเจดีย์ศรีสุริโยทัย

เจดีย์ศรีสุริโยทัยเป็นเจดีย์เพิ่มมุมหรือย่อมุม ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศเหนือ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณเพิ่มมุม (หรือย่อมุม) ฐานขององค์เจดีย์เป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ถัดขึ้นเป็นเรือนธาตุ กลางเรือนธาตุเป็นห้องคูหา มีบันไดทางขึ้นสู่ห้องคูหาอยู่ทางด้านเหนือ กึ่งกลางของเรือนธาตุแต่ละด้านมีมุขยื่นออกมา สันหลังคามุขประดับด้วยเจดีย์ยอด ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซ้อนกัน 3 ชั้น ต่อด้วยองค์ระฆังเพิ่มมุมไม้สิบสอง หรือย่อมุมไม้สิบสอง บัลลังก์ แกนปล้องไฉนซึ่งล้อมรอบด้วยเสาหาร ปล้องไฉน และปลี

เจดีย์ภูเขาทอง
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมเจดีย์ภูเขาทอง

เจดีย์ภูเขาทองเป็นเจดีย์ที่มีขนาดสูงใหญ่มาก ประกอบด้วยฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นหลายชั้น ตรงกลางแต่ละด้านมีบันไดทางขึ้นสู่ลานยอด บนลานยอดมีเจดีย์เพิ่มมุมไม้สอบสอง หรือย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่ตรงกลาง ทรุดเอียงเล็กน้อย องค์ประกอบสำคัญมีดังนี้ กึ่งกลางของเจดีย์มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ที่ด้านทั้งสี่ ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถา องค์ระฆังเพิ่มมุมหรือย่อมุม และส่วนยอด

กู่คำ
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมกู่คำ

เจดีย์กู่คำก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน ตกแต่งด้วยปูนปั้น รูปแบบโดยรวมคล้ายเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูนเจดีย์กู่คำเป็นทรงปราสาทในผังสี่เหลี่ยม ฐานล่างสุดมีพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่ภายในซุ้มด้านละ 1 องค์ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ชั้นล่างมีขนาดใหญ่ที่สุด ชั้นห้ามีขนาดเล็กที่สุด แต่ละชั้นมีพระพุทธรูปประทับยืนอยู่ภายซุ้มด้านละ 3 องค์ รวม 4 ด้าน 12 องค์ รวม 5 ชั้น เป็น 60 องค์ ที่มุมของเรือนธาตุแต่ละชั้นประดับด้วยสถูปิกะ เหนือจากเรือนธาตุชั้นที่ห้าเป็นส่วนยอดในผังสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยกลีบบัว ปลี และฉัตร ส่วนยอดนี้หุ้มทองจังโก

เจดีย์หลวง
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมเจดีย์หลวง

เจดีย์หลวงเป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยปูนปั้น และหุ้มด้วยจังโกรูปแบบประกอบด้วยฐานทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ส่วนบนของฐานทักษิณประดับด้วยช้างล้อม มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน แต่บันไดเหล่านี้ได้รับการปรับเปลี่ยนขั้นบันไดให้เป็นทางลาดเมื่อภายหลัง ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบ ด้านทั้งสี่มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประดับอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งประกอบด้วยแนวชั้นหลังคาลาด แต่องค์ระฆังและส่วนเหนือขึ้นไปพังทลายลงมานานแล้ว

เจดีย์กู่เต้า
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมเจดีย์กู่เต้า

เจดีย์กู่เต้าสร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน และตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นบางส่วนถือเป็นเจดีย์รูปทรงพิเศษซึ่งน่าจะพัฒนามาจากเจดีย์ทรงปราสาทซ้อนชั้น เช่น เจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน เจดีย์กู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์วัดตะโปทาราม จังหวัดเชียงใหม่รูปแบบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอดประกอบด้วยส่วนสำคัญดังนี้ ฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังเพิ่มมุมที่ออกแบบคล้ายเป็นฐานบัวซ้อนกัน 2 ชั้นถัดขึ้นไปเป็นทรงกลมซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ชั้นล่างใหญ่ที่สุดจากนั้นค่อยๆ ลำดับเล็กลง แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำประดับอยู่ที่ทิศทั้งสี่ เฉพาะชั้นที่ 2-5 ยังเห็นการประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ถัดขึ้นไปจากทรงกลมซ้อนลดหลั่นเป็นยอดแหลม