ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เจดีย์หลวง
คำสำคัญ : เจดีย์หลวง, วัดเจดีย์หลวง, ศิลปะล้านนา, พระเจ้าติโลกราช, ชินกาลมาลีปกรณ์, พระเจ้าแสนเมืองมา, พระเจ้ากือนา
ชื่อหลัก | วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ศรีภูมิ |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
ภาค | ภาคเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 18.786944 Long : 98.986552 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 48 Q Hemisphere : N E : 498582.91 N : 2077253.61 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กึ่งกลางวัด |
ประวัติการสร้าง | ตำนานทางภาคเหนือ เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่าพระเจ้าผายูกษัตริย์เชียงใหม่เป็นผู้สร้างเจดีย์หลวงขึ้นกลางเมือง มีความสูง 76 ศอก ฐานแต่ละด้านกว้าง 48 ศอก ด้วยขนาดที่ใหญ่โตจึงทำให้ต้องใช้ระยะเวลาสร้างยาวนานหลายรัชกาล พบหลักฐานในชินกาลมาลีปกรณ์ว่าพระเจ้ากือนาสร้างซุ้มจระนำด้านทิศใต้ขึ้นมาใหม่เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ต่อมาพระเจ้าแสนเมืองมาได้สร้างเจดีย์หลวงต่อ แต่การยังไม่แล้วเสร็จพระองค์ได้สวรรคตลง พระมเหสีจึงดำเนินการต่อจนยอดเจดีย์หลวงสร้างสำเร็จ ชินกาลมาลีปกรณ์ระบุต่อไปว่า ในสมัยพระเจ้าติโลกราชได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์หลวงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อแล้วเสร็จทำให้ยอดของเจดีย์หลวงมียอดเป็นอันเดียว ฐานกว้างด้านละ 52 ศอก สูง 92 ศอก ทำแท่นวางดอกไม้แต่ละด้านยาวประมาณ 57 ศอก สูง 2 ศอกกว่า ล้อมด้วยกำแพงศิลายาว 228 ศอก กว้าง 150 ศอก ฉาบปูนพระเจดีย์ หุ้มเจดีย์หลวงด้วยแผ่นทองแดงอันอาบด้วยน้ำตะโกทอง (น้ำยาผสมน้ำมันยางและหรดาล) และปิดทองคำเปลวทับ พงศาวดารโยนกกล่าวถึงการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์หลวงโดยพระเจ้าติโลกราชต่างออกไปจากชินกาลมาลีปกรณ์เป็นบางส่วน กล่าวคือ พระองค์โปรดให้หมื่นด้ำพร้าคต (สีหะเสนาบดี) ออกไปถ่ายแบบโลหะปราสาทและรัตนมาลีเจดีย์ที่ลังกาทวีปแล้วให้ท่านเป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์เจดีย์หลวง โดยเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2022 เมื่อแล้วเสร็จได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากลังกาไว้ด้วย พร้อมกันนั้นยังสร้างหอประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระแก้วขาวตามอย่างโลหะปราสาท |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 77 ตอนที่ 32 วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2503 มีการดำเนินการขุดค้นและบูรณะเจดีย์หลวง เมื่อ พ.ศ. 2529 และพ.ศ.2533 สภาพก่อนการบูรณะส่วนยอดพังทลายคงเหลือเพียงส่วนฐานไปจนจรดองค์ระฆัง ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้ทราบถึงลำดับพัฒนาการของเจดีย์องค์นี้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช พระเมืองแก้ว และพระมหาเทวีจิรประภา และพบอุโมงค์ทางเข้าที่ด้านข้างของบันไดทั้ง 4 ทิศ เป็นช่องทางในการทะลุเข้าไปภายในองค์เจดีย์ แต่การขุดค้นนี้สามารถกระทำได้เฉพาะอุโมงค์ด้านทิศเหนือเท่านั้น ลักษณะของบันไดทั้ง 4 ด้านมีเจตนาทำเป็นบันไดนาคประดับเท่านั้น ยกเว้นฝั่งทิศตะวันออกที่พบร่องรอยการแก้ไขเป็นขั้นบันไดขึ้นไปสู่ระเบียงชั้นบน ส่วนเรือนธาตุด้านทิศเหนือยังปรากฏซุ้มคูหาและลวดลายปูนปั้นตกแต่ง ในการดำเนินการนี้มีการอนุรักษ์ลวดลายปูนปั้นและปั้นขึ้นใหม่ด้วยปูนตำเนื่องจากแต่เดิมเหลือเพียงด้านทิศเหนือด้านเดียว |
ลักษณะทางศิลปกรรม | เจดีย์หลวงเป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยปูนปั้น และหุ้มด้วยจังโก รูปแบบประกอบด้วยฐานทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ส่วนบนของฐานทักษิณประดับด้วยช้างล้อม มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน แต่บันไดเหล่านี้ได้รับการปรับเปลี่ยนขั้นบันไดให้เป็นทางลาดเมื่อภายหลัง ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบ ด้านทั้งสี่มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประดับอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งประกอบด้วยแนวชั้นหลังคาลาด แต่องค์ระฆังและส่วนเหนือขึ้นไปพังทลายลงมานานแล้ว |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | เจดีย์หลวงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ราชกูฏ ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่และเป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาณาจักรล้านนา ตามตำนานกล่าวว่าเริ่มสร้างโดยพระเจ้าแสนเมืองมา เพื่ออุทิศถวายพระราชบิดาคือพระเจ้ากือนา แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบเจดีย์ที่ปรากฏในปัจจุบันนักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชซึ่งมีหลักฐานในเอกสารว่าพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์โดยแปลงแบบเดิมให้ใหญ่ขึ้น เพิ่มช้างประดับบนลานประทักษิณและเปลี่ยนส่วนยอดให้เป็นยอดเดียว เจดีย์หลวงเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตเมื่อครั้งที่พระจเติโลกราชให้อัญเชิญมาจากลำปาง ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในจระนำซุ้มด้านทิศตะวันออก เจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาในสมัยพระมหาเทวีจิรประภาเมื่อ พ.ศ.2088 เนื่องจากแผ่นดินไหวและไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับสมบูรณ์ดังเดิมได้ ปัจจุบันจึงเหลือเพียงส่วนฐานถึงเรือนธาตุ ซึ่งกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะแล้ว |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ล้านนา |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 20-21 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานพระพุทธสิหิงค์ กล่าวถึงการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองกำแพงเพชรมายังเมืองเชียงใหม่โดยพระเจ้ามหาพรหม ว่าประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงภายในพระนคร ต่อมาพระเจ้ากือนาได้สร้างซุ้มจรนำด้านใต้ของเจดีย์หลวงขึ้นใหม่เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จพระเจ้ามหาพรหมได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปยังเมืองเชียงรายและเชียงแสน เมื่อพระเจ้ากือนาสวรรคต พระโอรสคือพระเจ้าแสนเมืองมาได้ขึ้นครองราชสมบัติแทน พระองค์ยกทัพไปยังเชียงรายและอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานยังซุ้มจระนำของเจดีย์หลวงที่พระเจ้ากือนาโปรดให้สร้างขึ้น |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | เจดีย์วัดเชียงมั่น เมืองเชียงใหม่ เนื่องจากมีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มียอดเดียวเช่นเดียวกับเจดีย์หลวง และยังมีช้างประดับรอบฐาน |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-07-08 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ตำนานมูลศาสนา. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557. ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557. รัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. กรงเพทฯ : กรมศิลปากร, 2552. ศิลปากร, กรม.การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549. |