ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์กู่เต้า

คำสำคัญ : เจดีย์กู่เต้า, กู่เต้า, วัดกู่เต้า

ชื่อเรียกอื่นกู่เต้า
ชื่อหลักวัดเวฬุวนาราม
ชื่ออื่นวัดกู่เต้า
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลช้างเผือก
อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 18.802317
Long : 98.988464
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 498784.42
N : 2078954.56
ตำแหน่งงานศิลปะกลางวัด

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์กู่เต้าสร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน และตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นบางส่วนถือเป็นเจดีย์รูปทรงพิเศษซึ่งน่าจะพัฒนามาจากเจดีย์ทรงปราสาทซ้อนชั้น เช่น เจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน เจดีย์กู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์วัดตะโปทาราม จังหวัดเชียงใหม่

รูปแบบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอดประกอบด้วยส่วนสำคัญดังนี้ ฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังเพิ่มมุมที่ออกแบบคล้ายเป็นฐานบัวซ้อนกัน 2 ชั้นถัดขึ้นไปเป็นทรงกลมซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ชั้นล่างใหญ่ที่สุดจากนั้นค่อยๆ ลำดับเล็กลง แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำประดับอยู่ที่ทิศทั้งสี่ เฉพาะชั้นที่ 2-5 ยังเห็นการประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ถัดขึ้นไปจากทรงกลมซ้อนลดหลั่นเป็นยอดแหลม

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เจดีย์กู่เต้าเป็นเจดีย์รูปแบบพิเศษในศิลปะล้านนา จัดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่น่าจะมีวิวัฒนาการมาจากเจดีย์วัดตะโปทาราม ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีหลักฐานกำหนดอายุได้ในพุทธศตวรรษที่ 21 โดยส่วนที่มีความสัมพันธ์กับอย่างยิ่งคือเรือนธาตุซ้อนชั้นซึ่งอยู่ในผังกลมและมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป แต่เจดีย์กูเต้าได้พัฒนาส่วนเรือนธาตุให้มีลักษณะเป็นทรงกลมมากยิ่งขึ้น เจดีย์ในรูปแบบนี้นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะมีสายวิวัฒนาการมาจากเจดีย์กู่กุดในสมัยหริภุญชัยเพียงแต่ปรับเปลี่ยนให้อยู่ในผังกลม

พงศาวดารโยนกได้ให้ข้อมูลว่า วัดนี้เคยเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งเป็นราชบุตรของกษัตริย์อยุธยา มีนามว่า สุริยวงษ์ พระรูปนี้สนิทกับท้าวเอื้อย ซึ่งเป็นราชบุตรของพระเจ้าติโลกราช ได้ช่วยกันออกอุบายลักขโมยพระแก้วไปยังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ายอดเชียงรายต้องแต่งทัพไปทวงคืนพระแก้วกลับมา
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านนา
อายุพุทธศตวรรษที่ 21
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

เจดีย์วัดตะโปทาราม , วัดพวกหงส์ และวัดเจดีย์ปล่อง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผังกลมเช่นเดียวกัน

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-07-09
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557.

ศิลปากร, กรม.การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี.กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549.