ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุมหาเจดีย์
เจดีย์ทรงระฆังในผังกลมขนาดใหญ่ ส่วนฐานประกอบด้วยช่องประตูวงโค้งสลับคั่นด้วยเสาหลอกอย่างตะวันตก บานประตูประดับเหล็กดัด มีบันไดทางขึ้นสู่ฐานประทักษิณด้านบน ซึ่งมีช่องประตูที่สามารถเข้าสู่บริเวณภายในองค์เจดีย์ได้ 4 ทิศ รูปแบบภายนอกของเจดีย์ประกอบด้วยส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นชุดมาลัยเถาซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา แต่ได้เพิ่มมาลัยเถาให้เป็น 7 ชั้น ส่งผลให้องค์ระฆังมีขนาดเล็กลงกว่าเจดีย์ทรงระฆังในสมัยอยุธยา ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม ก้านฉัตรหรือแกนปล้องไฉนที่มีเสาหารล้อมรอบ ปล้องไฉน ปลียอดและลูกแก้ว รอบพระเจดีย์มีระเบียงคดในผังกลม หลังคาตัดเรียบแบบดาดฟ้า ประดิษฐานเจดีย์รายซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังจำนวน 18 องค์ ล้อมรอบเจดีย์ประธาน
สถาปัตยกรรมพระเจดีย์หลวง
รูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 กล่าวคือ เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณในผังสี่เหลี่ยม ส่วนฐานประทักษิณเจาะช่องวงโค้ง ที่พนักระเบียงประดับด้วยช่องวงโค้งเช่นกัน มีบันไดทางขึ้นทางด้านตะวันออกและตะวันตก ลักษณะเป็นบันไดประชิด องค์เจดีย์ประกอบด้วยส่วนฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ชุดมาลัยเถาและบัวลูกแก้วอกไก่รองรับองค์ระฆัง มีบัลลังก์สี่เหลี่ยม ปล้องไฉนและปลียอด ปัจจุบันได้รับการปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพสมบูรณ์
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดช่องแสมสาร
เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีลักษณะเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้น องค์เจดีย์ทรงระฆังในผังกลมประกอบด้วยชุดฐานเขียง มีชุดมาลัยเถาเป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง ถัดขึ้นมาเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ ปล้องไฉน ปลี และปลียอดโดยมีลูกแก้วคั่น รูปแบบที่เป็นเจดีย์ทรงระฆังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนตำแหน่งสูงสุดของเนินเขา ซึ่งทำให้มองเห็นได้ชัดเจนเมื่อเดินเรือผ่านช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
ประติมากรรมพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท
พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทองค์นี้ผ่านการบูรณะครั้งใหญ่มาแล้ว ครองจีวรห่มเฉียง บางแนบพระวรกาย ไม่มีริ้ว พระหัตถ์ขวาทำปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่เหนือพรเพลา มีดอกบัวรองรับพระบาทไว้ พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงนูนและต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์ใหญ่ ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะสูง และมีพระรัศมีรูปลูกแก้ว
ประติมากรรมภาพสลักพระพุทธรูป
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิแบบหลวม ไขว้ซ้อนกันเพียงข้อพระบาท พระหัตถ์ปางสมาธิ มีฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียร เบื้องขวาของพระองค์มีธรรมจักรวางตั้งอยู่บนเสา ส่วนเบื้องซ้ายของพระองค์เป็นเจดีย์ทรงกลม
ประติมากรรมพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี
พระพุทธเจ้ายืนอยู่เหนือพาหนะ ขนาบข้างด้วยบุคคลข้างละ 1 คน พระหัตถ์ทั้งสองข้างทำปางแสดงธรรม มีรูเจาะทะลุปรากฏอยู่บริเวณพระชงฆ์ พาหนะทำเป็นรูปบุคคลขนาดใหญ่เห็นครึ่งตัว มีปีก สวมมงกุฎทรงกระบอก ถือดอกบัวในมือข้างละดอก บางท่านเรียกพาหนะแบบนี้ว่า พระอรุณาทิตย์ หรือพระอาทิตย์ เหนือดอกบัวแต่ละดอกเป็นรูปบุคคลยืน แม้จะชำรุดเสียหายแต่สังเกตได้ว่าบุคคลข้างหนึ่งถือแส้ สันนิษฐานว่าอาจเป็นรูปพระอินทร์และพระพรหม
ประติมากรรมฐานธรรมจักร
ฐานรับธรรมจักรนี้ชำรุดเสียหายมาก ทำจากหิน มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมที่เจาะทะลุจากตรงกลางจากบนลงล่าง ทำหน้าที่ยึดตรึงองค์ธรรมจักรกับเสาไว้ด้วยกัน ด้านทั้งสี่สลักภาพพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาเหมือนกัน แต่แตกหักเสียหายมาก มีเพียงด้านเดียวที่เหลือรายละเอียดมากพอจะศึกษาได้ พระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ พระหัตถ์ขวาทำปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลา เบื้องล่างด้านซ้ายของพระองค์เป็นนักบวชพราหมณ์ 5 คน เชื่อว่าเป็นปัญจวัคคีย์ก่อนบวช ด้านขวาของพระองค์เป็นพระสงฆ์ 5 รูป เชื่อว่าเป็นปัญจวัคคีย์หลัง ถัดขึ้นไปทั้งด้านขวาและซ้ายเป็นภาพบุคคลที่เชื่อว่าเป็นเทวดาและพรหม
ประติมากรรมธรรมจักร
ธรรมจักรวงกลมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุมอยู่ตรงกลาง มีรูเจาะทะลุที่เหนือดุม ซี่หรือกำ ระหว่างซี่แต่ละซี่ไม่เจาะทะลุทำให้ธรรมจักรองค์นี้แลดูทึบ นอกสุดเป็นกงซึ่งตกแต่งด้วยลายก้านขด เบื้องล่างสลักรูปบุคคลนั่งขัดสมาธิและถือดอกบัว สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระสุริยเทพ