ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระธาตุท่าอุเทน
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทมีเรือนธาตุ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นคูหา เรือนธาตุมีการทำประตูหลอกทั้ง 4 ทิศ มีการตกแต่งซุ้มลักษณะคล้ายใบไม้ขนาดใหญ่และตกแต่งที่เสาประดับผนังและเสามุมด้วยลายปูนปั้น ต่อด้วยเรือนธาตุจำลองอีกหนึ่งชั้นและองค์ระฆังสี่เหลี่ยมประดับลวดลาย ส่วนยอดเป็นทรงบัวเหลี่ยมยืดสูง
สถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยม ส่วนล่างเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ องค์ระฆังอยู่ในผังสี่เหลี่ยมตกแต่งด้วยลายกลีบบัวโดยรอบต่อด้วยบัลลังก์เป็นบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกได่และปล้องไฉนสี่เหลี่ยม
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธาน วัดเชียงงาสง่างาม
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนฐานเป็นบัวถลาในผังยกเก็จต่อด้วยบัวคลุ่ม องค์ระฆังในผังกลมมีการประดับบัวคอเสื้อ ส่วนยอดทำเป็นเจดีย์จำลอง
สถาปัตยกรรมโบราณสถานดงเมืองเตย
ปัจจุบันเหลือเพียงฐานอาคาร ก่ออิฐไม่สอปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอาคารประกอบด้วยฐานเขียง 4 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวอันประกอบด้วยหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้ ซึ่งมีการแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในมีลวดลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กซ้อนกัน 3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวหงาย ซึ่งเรียกว่าบัวรวน และหน้ากระดานบนอาคารหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 และ 2 มีการก่ออิฐเป็นแนวยื่นออกมาทางทิศตะวันออก และมีการย่อมุมโดยฐานเขียงชั้นที่ 1 ย่อมุม 3 ช่วง ฐานเขียงชั้นที่ 2 ย่อมุม 2 ช่วง บริเวณริมทั้ง 2 มีร่องรอยของหลุมเสากลม โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 มีรอยหลุมเสา 2 คู่ ฐานเขียงชั้นที่ 2 มีรอยหลุมเสา 1 คู่ทางด้านเหนือและตะวันออกของด้านข้างของฐานเขียงชั้นที่ 1 ที่ยื่นออกมาทางทิศตะวันออก มีลวดลายช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กอยู่ภายในช่องสี่เหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่เรียงกัน 1 แถวบริเวณทางขึ้นด้านทิศตะวันออกติดกับฐานเขียงชั้นที่ 1 มีอัฒจันทร์ก่อเป็นรูปปีกกา 1 ชั้น ต่อจากอัฒจันทร์มีการก่ออิฐเป็นลายทางเดินด้านหน้า ยาวประมาณ 28 เมตร ช่วงระหว่างกลางลานด้านหน้ามีการก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมหลายชั้น ตรงกลางจะสูงกว่าส่วนอื่น รายละเอียดส่วนฐานของโบราณสถานดงเมืองเตยที่กล่าวมานี้จึงมีลักษณะร่วมสามารถเทียบได้กับฐานของโบราณสถานในเมืองสมโบร์ไพรกุก ประเทศกัมพูชา และฐานเรือนธาตุของเจดีย์จุลประโทน นครปฐม ซึ่งเป็นโบราณสถานในศิลปะทวารวดี
สถาปัตยกรรมพระเจดีย์กลางน้ำ จ.ระยอง
เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว มีฐานประทักษิณที่มีพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับพนักระเบียงด้วยลูกถ้วยเคลือบ มีบันไดขึ้น 2 ข้าง มีกำแพงแก้วเตี้ยในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบ รองรับเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง แต่ละชั้นค่อนข้างยืดสูง ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหาน ปล้องไฉนและปลียอด ลานด้านล่างโดยรอบปูด้วยกระเบื้องดินเผาสีอิฐ
สถาปัตยกรรมเจดีย์อิสรภาพ จ.จันทบุรี
เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว มีฐานประทักษิณที่มีพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับพนักระเบียงด้วยกระเบื้องเคลือบปรุลายแบบจีน มีกำแพงแก้วเตี้ยในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบ รองรับเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง แต่ละชั้นค่อนข้างยืดสูง ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหาน ปล้องไฉนและปลียอด
สถาปัตยกรรมอลังกรณเจดีย์
เจดีย์ก่อด้วยศิลาแลงมีฐานประทักษิณที่มีพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน รองรับเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหาน ปล้องไฉนและปลียอด
สถาปัตยกรรมพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล
พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน และพระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร ล้วนเป็นเจดีย์ทรงเครื่องซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเป็นรูปแบบที่สืบเนื่องมาจากศิลปะอยุธยาตอนปลาย มีองค์ประกอบที่สำคัญจากส่วนฐานได้แก่ ชุดฐานสิงห์ บัวทรงคลุ่ม องค์ระฆังเพิ่มมุม บัวทรงคลุ่มเถา ปลี ลูกแก้ว และปลียอด ประดับกระเบื้องเคลือบและกระเบื้องเครื่องถ้วยลวดลายต่างๆ โดยพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณประดับกระเบื้องเคลือบสีเขียว พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทานประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขารประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ส่วนพระมหาเจดีย์ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้าง มีรูปแบบเป็นเจดีย์เพิ่มมุม ประดับกระเบื้องเคลือบสีขาบหรือสีน้ำเงิน ซึ่งเจดีย์เพิ่มมุมเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนกลางเป็นต้นมา