ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระธาตุเชิงชุม
พระธาตุเชิงชุมเป็นพระธาตุทรงบัวเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูนครอบทับปราสาทเขมรที่ก่อจากศิลาแลงพระธาตุเชิงชุมมีแผนผังสี่เหลี่ยม เรือนธาตุมีรูปแบบเป็นชุดฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ด้านทั้งสี่มีซุ้มประตูทรงปราสาท ซุ้มด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องคูหาที่ตั้งอยู่ภายใน โดยห้องดังกล่าวนี้ก็คือครรภคฤหะเดิมของปราสาทเขมรนั่นเอง ในขณะที่ซุ้มประตูด้านใต้ ตะวันตก และเหนือ แม้ว่าจะผลักบานประตูได้แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปภายในได้ เพราะเมื่อผลักเข้าไปจะพบกับผนังประตูหลอกของปราสาทศิลาแลง ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุเป็นองค์ประกอบคล้ายองค์ระฆังแต่อยู่ในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซึ่งอาจเทียบได้กับบัลลังก์ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดที่ประกอบจากบัวเหลี่ยมซ้อนกัน
สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุไชยา
พระบรมธาตุไชยาเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มียอดเป็นองค์ระฆัง ก่ออิฐถือปูน ด้านล่างสุดเป็นฐานไพที มีแผนผังสี่เหลี่ยมประดับด้วยเสาหลอกหรือเสาอิงเป็นระยะ มียกเก็จทางด้านตะวันออก มีบันไดทางขึ้นสู่เรือนธาตุอยู่ทางด้านตะวันออกนี้ ด้านบนของฐานไพทีนอกจากจะมีเจดีย์ทรงปราสาทยอดเป็นองค์ระฆังแล้ว ยังแวดล้อมด้วยเจดีย์ทรงกลมตั้งบนฐานบัวสี่เหลี่ยม 6 องค์เจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์ระฆังอันเป็นส่วนสำคัญที่สุดประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอด ส่วนฐานเป็นฐานบัวที่มีแผนผังยกเก็จล้อตามแผนผังของเรือนธาตุ โดยตัวเรือนธาตุมีแผนผังสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมทั้งสี่ เก็จที่กลางด้านทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นมุขยื่นยาว มุขด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องครรภคฤหะ ในขณะที่มุขอีก 3 ด้านทึบตัน เก็จที่มุมทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นเสาอิงหรือเสาหลอก ส่วนยอดถัดขึ้นไปจากส่วนเรือนธาตุ ประกอบด้วยชั้นซ้อน 2 ชั้น แต่ละชั้นมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมซึ่งมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบ จากนั้นเป็นบัวคลุ่ม องค์ระฆังแปดเหลี่ยม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลี อันเป็นระเบียบของเจดีย์ทรงกลม
สถาปัตยกรรมพระประโทณเจดีย์
พระประโทณเจดีย์เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ฐานซ้อนชั้นซึ่งสร้างขึ้นแต่ครั้งทวารวดี และปรางค์ซึ่งตั้งอยู่ด้านบนสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และซ่อมแซมครั้งใหญ่หรือสร้างใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ฐานซ้อนชั้นมีแผนผังด้านล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นที่ด้านทั้งสี่ ถัดขึ้นมาเป็นฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมรวม 3 เก็จ องค์ประกอบสำคัญของฐานนี้ คือ บัววลัย และผนังที่ตกแต่งด้วยเสาเป็นระยะ ทำให้พื้นที่ระหว่างเสากลายเป็นช่องสี่เหลี่ยม เสาหรือช่องสี่เหลี่ยมนี้ซ้อนกัน 2 ชั้น โดยชั้นล่างใหญ่กว่าชั้นบน ถัดขึ้นไปเป็นฐานอีกชั้นหนึ่งซึ่งองค์ประกอบหลักไม่ต่างไปจากฐานด้านล่างนัก ยกเว้นทำยกเก็จ 2 ชั้น ฐานชั้นสุดท้ายซึ่งเดิมทีอาจเป็นส่วนเรือนธาตุประดับด้วยซุ้มจระนำเรียงรายโดยรอบ สำหรับปรางค์ที่อยู่ด้านบนสุดมีฐานแปดเหลี่ยมซ้อนชั้นกันต่อด้วยเรือนธาตุเพิ่มมุม ยอดมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกตั้งตรงขึ้นไป
สถาปัตยกรรมพระปฐมเจดีย์
พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลมที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบองค์เจดีย์ โดยมีวิหารทิศทั้ง 4 คั่นจังหวะ ได้แก่ วิหารทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปตอนประสูติ วิหารทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนตรัสรู้ วิหารทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปฐมเทศนา และวิหารทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปรินิพพาน องค์พระปฐมเจดีย์ประกอบด้วยส่วนฐานซึ่งเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถารองรับองค์ระฆังขนาดใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนที่มีเสาหาร ปล้องไฉน และปลียอดที่มีลักษณะอ้วนป้อม
สถาปัตยกรรมพระธาตุพนม
พระธาตุพนมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน องค์ประกอบสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรือนธาตุ และยอดทรงบัวเหลี่ยมเรือนธาตุก่ออิฐไม่ฉาบปูน มีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส น่าจะตรงกับที่ตำนานอุรังคธาตุเรียกว่า อุโมงค์ (อูบมุง) ประดับตกแต่งกึ่งกลางแต่ละด้านด้วยซุ้มประตูหลอก ถัดออกมาสองข้างของซุ้มประตูตกแต่งด้วยเสาหลอกทรงกลม มุมทั้งสี่สลักภาพกนกพรรณพฤกษาและรูปบุคคลขี่พาหนะ ซึ่งได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับตำนานอุรังคธาตุว่าเป็นรูปพระยาทั้งห้าที่ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนมขึ้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 1 ชั้น ถัดไปจากนั้นเป็นยอดบัวเหลี่ยม ส่วนนี้นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านช้าง
สถาปัตยกรรมพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัยจัดเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ก่ออิฐ หุ้มทองจังโก องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอด ได้แก่ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม(หรือยกเก็จ) ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลมซึ่งมีลายประจำยามและภาพดุนนูนพระพุทธรูปประดับอยู่ จากนั้นเป็นบัลลังก์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร
สถาปัตยกรรมพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม
พระวิหารหลวงมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานไพทีสูง ด้านหน้าหันทางทิศเหนือ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้มสลับเขียวซ้อนชั้น กรอบหน้าบันประดับเครื่องลำยอง มีเสาพาไลย่อมุมรองรับเครื่องหลังคาโดยรอบพระวิหาร เสาพาไลประดับบัวหัวเสาปิดทองประดับกระจกและมีคันทวย หน้าบันเครื่องไม้ปิดทองประดับกระจกรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ด้านหน้าพระวิหารหลวงทางทิศเหนือมีมุขลด เครื่องหลังคาซ้อนชั้น ที่หน้าบันประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
สถาปัตยกรรมพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม
รูปแบบพระปรางค์วัดอรุณมีลักษณะที่พัฒนามาจากพระปรางค์ในศิลปะอยุธยา ส่วนฐานมีลักษณะผายกว้าง ประกอบด้วยชั้นซ้อนลดหลั่น แต่ละชั้นประดับด้วยประติมากรรมพลแบก ฐานลดหลั่นนี้ได้เอนสอบขึ้นไปรองรับเรือนธาตุซึ่งมีจระนำทั้งสี่ด้าน ประดิษฐานรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณแทนการประดิษฐานพระพุทธรูปที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งการประดับรูปพระอินทร์ที่เรือนธาตุนี้นักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าพระปรางค์มีความเกี่ยวข้องกับเจดีย์จุฬามณีหรืออาจสะท้อนให้เห็นว่าองค์พระปรางค์หมายถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาลส่วนยอดของพระปรางค์ประกอบด้วยกลีบขนุนซ้อนชั้น ที่ส่วนบนของจระนำทั้งสี่ด้านประดับด้วยยอดปรางค์ขนาดเล็ก เมื่อนับรวมยอดทั้งหมดจึงเป็น 5 ยอดซึ่งการประดับยอดบริวารเช่นนี้เป็นรูปแบบที่เคยมีมาก่อนในศิลปะอยุธยา