ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม

คำสำคัญ : ปรางค์, วัดอรุณราชวราราม , วัดแจ้ง, วัดมะกอก

ชื่อหลักวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ชื่ออื่นวัดแจ้ง, วัดมะกอก
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลวัดอรุณ
อำเภอเขตบางกอกใหญ่
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.743715
Long : 100.488953
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 660986.04
N : 1519879.85
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

พระมหาธาตุเจดีย์องค์เดิมมีมาแต่สมัยอยุธยา เริ่มก่อสร้างให้มีขนาดสูงใหญ่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492

มีการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์ครั้งใหญ่เมื่อพ.ศ.2542โดยกรมกรมศิลปากรและกรมศาสนาและมีการบูรณะใหญ่อีกครั้ง เมื่อพ.ศ.2556-2558
ขนาดสูง 1 เส้น 13 วา ศอกคืบ 1 นิ้ว ฐานวัดโดยรอบ 5 เส้น 17 วา
ลักษณะทางศิลปกรรม

รูปแบบพระปรางค์วัดอรุณมีลักษณะที่พัฒนามาจากพระปรางค์ในศิลปะอยุธยา ส่วนฐานมีลักษณะผายกว้าง ประกอบด้วยชั้นซ้อนลดหลั่น แต่ละชั้นประดับด้วยประติมากรรมพลแบก ฐานลดหลั่นนี้ได้เอนสอบขึ้นไปรองรับเรือนธาตุซึ่งมีจระนำทั้งสี่ด้าน ประดิษฐานรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณแทนการประดิษฐานพระพุทธรูปที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งการประดับรูปพระอินทร์ที่เรือนธาตุนี้นักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าพระปรางค์มีความเกี่ยวข้องกับเจดีย์จุฬามณีหรืออาจสะท้อนให้เห็นว่าองค์พระปรางค์หมายถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาลส่วนยอดของพระปรางค์ประกอบด้วยกลีบขนุนซ้อนชั้น ที่ส่วนบนของจระนำทั้งสี่ด้านประดับด้วยยอดปรางค์ขนาดเล็ก เมื่อนับรวมยอดทั้งหมดจึงเป็น 5 ยอดซึ่งการประดับยอดบริวารเช่นนี้เป็นรูปแบบที่เคยมีมาก่อนในศิลปะอยุธยา

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ปรางค์วัดอรุณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระราชดำริจะสร้างเสริมให้สูงใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร แต่เมื่อเริ่มเตรียมพื้นที่เพื่อสร้างส่วนฐานก็เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นจนสำเร็จเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ทรงปรางค์ ซึ่งเป็นพระปรางค์ที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อการก่อสร้างพระปรางค์เสร็จสิ้นลง รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อยอดนภศูลประดับยอดพระปรางค์ และโปรดเกล้าฯ ให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องวัดนางนองมาประดิษฐานเหนือนภศูลนั้น

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-26
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

คณะกรรมการดำเนินงานจัดทำหนังสือสมุดภาพวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร.สมุดภาพวัดอรุณราชวราราม.กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฯ , 2534.

ศิลปากร,กรม.ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2532.

สันติ เล็กสุขุม. ข้อมูลกับมุมมอง : ศิลปะรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548.