ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 12 รายการ, 2 หน้า
พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล

บุษบกทุกองค์ทำด้วยโลหะปิดทองประดับกระจก มีลักษณะเป็นบุษบกโถง ประกอบด้วยเสาย่อมุมทั้ง 4 มุม รับเครื่องหลังคาที่เป็นยอดแหลม ซุ้มสาหร่ายทุกด้านออกลายเทพนม ส่วนฐานบุษบกประดับชั้นเทพนมบุษบกด้านทิศเหนือประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ 1-3 ดังนี้พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นรูปพระมหามงกุฎไม่มีกรรเจียก พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุดนาค พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระวิมาน บุษบกด้านทิศใต้องค์หนึ่งประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระมหามงกุฎมีกรรเจียกประดับ และอีกองค์หนึ่งประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระจุลมงกุฎ หรือพระเกี้ยว บุษบกด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประดิษฐานประบรมราชสัญลักษณ์ 4 รัชกาล ดังนี้พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปวชิราวุธ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนิวาต เหนือราวพาดพระแสงเป็นดวงตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ เป็นรูปดุสิตเทพบุตรประทับนั่งห้อยพระบาทขวาบนบัลลังก์ดอกบัว พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ มีอุณาโลมล้อมด้วยจักรและรัศมีอยู่เหนือพระที่นั่ง ด้านบนมีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระบรมราชสัญลักษณ์ทั้งหมดประดิษฐานภายในบุษบกเหนือฐานหินอ่อน รอบฐานมีประติมากรรมรูปช้างทำด้วยสำริด หมายถึงพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญในรัชกาลนั้นๆ

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอาคารแบบไทยประเพณีก่ออิฐถือปูน เครื่องหลังคาทำด้วยไม้มุงกระเบื้องเคลือบสี หลังคาซ้อนชั้น หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ปิดทองประดับกระจก ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์ มีเสาพาไลที่เป็นเสาย่อมุมปิดทองประดับกระจก มีบัวแวงประดับหัวเสา และมีคันทวยรองรับชายคา ผนังภายนอกพระอุโบสถปิดทองประดับกระจกสีเป็นลายพุ้มข้าวบิณฑ์ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรบนบุษบกสูง ที่ด้านหน้ายังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายองค์ เช่น พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระสัมพุทธพรรณี เป็นต้น ที่ฝาผนังภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องไจรภูมิโลกสัณฐาน พุทธประวัติ และกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค สถาปัตยกรรมที่สำคัญอื่นๆ ภายในวัด เช่น บริเวณด้านทิศเหนือของพระอุโบสถเป็นฐานไพทีสูง ประดิษฐานพระศรีรัตนเจดีย์ มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังซึ่งถ่ายแบบมาจากเจดีย์ประธานของวัดพระศรีสรรเพชญ ประดับด้วยกระเบื้องสีทองตลอดทั้งองค์ ถัดมาเป็นพระมณฑปประดิษฐานพระไตรปิฎก อาคารอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาซ้อนชั้นเป็นทรงกรวยยอดแหลม ที่บานประตูประดับมุก มียักษ์ทวารบาลที่ด้านหน้า บันไดทางขึ้นประดับด้วยนาคที่มีหน้าเป็นมนุษย์ ถัดมาคือปราสาทพระเทพบิดรซึ่งมีรูปแบบเป็นอาคารทรงปราสาทจตุรมุขที่มียอดปรางค์ หน้าบันทั้ง 4 ประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 1-4 บานประตูหน้าต่างประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 1-5 ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1-8

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์

จิตรกรรมแบบไทยประเพณีผสมผสานกับเทคนิคการเขียนภาพแบบสมัยใหม่ ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ได้แก่ ภาพบุคคลในเรื่องที่เป็นตัวละคนสำคัญแต่งกายยืนเครื่องเช่นเดียวกับการแต่งกายในการแสดงโขน กิริยาอาการอยู่ในท่านาฏลักษณ์ มีการปิดทองคำเปลวที่เครื่องทรงของตัวละครที่สำคัญ เป็นต้น ส่วนเทคนิคการเขียนภาพแบบใหม่ที่แตกต่างจากจิตรกรรมไทยประเพณี ได้แก่ การกำหนดเส้นขอบฟ้าและวางระยะของวัตถุในภาพทำให้เกิดมิติ การเขียนภาพเหมือนของอาคารสถานที่ที่มีอยู่จริง เช่น พระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง และการเขียนภาพทิวทัศน์ต่างๆ อย่างเหมือนจริง นอกจากนี้ ยังมีการสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตชาววัง ชาวบ้าน และอารมณ์ขันต่างๆ ผ่านตัวละครประกอบของเรื่อง จิตรกรรมฝาผนังมีทั้งสิ้น 178 ห้องภาพ ใต้ภาพมีโคลงเรื่องรามเกียรติ์ประกอบ รวมทั้งสิ้น 224 บท

ยักษ์วัดพระแก้ว
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมยักษ์วัดพระแก้ว

ประติมากรรมรูปยักษ์ทั้ง 12 ตน ทำด้วยปูนปั้น เครื่องแต่งกายประกอบขึ้นจากกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ทำเป็นมงกุฎที่มียอดแตกต่างกันเช่นเดียวกับหัวโขน สวมเสื้อแขนยาว สนับเพลา ชายไหว รองเท้าปลายแหลม ลักษณะเดียวกับเครื่องแต่งกายโขน ระบายสีผิวพรรณแตกต่างกันโดยใช้สีเช่นเดียวกับหัวโขนของยักษ์แต่ละตน ยักษ์ทั้ง 6 คู่ ประกอบด้วยคู่ที่ 1. สุริยาภพ และอินทรชิต คู่ที่ 2. มังกรกัณฐ์ และวิรุฬหก คู่ที่ 3. ทศคีจันธร และทศคีรีวัน คู่ที่ 4. จักรวรรดิ์ และอัศกรรณมาราสูร คู่ที่ 5. ทศกัณฐ์ และสหัสสเดชะ คู่ที่ 6. ไมยราพ และวิรุฬจำบัง

ปราสาทนครวัดจำลอง
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมปราสาทนครวัดจำลอง

ปราสาทนครวัดจำลองอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปราสาทประธานอยู่กึ่งกลางของแผนผังโดยมีความสูงมากที่สุด ล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่มีความสูงลดหลั่นลงมา 3 ชั้น ระเบียงคดแต่ละชั้นประกอบด้วยเสาและหลังคาที่ทอดยาวเชื่อมต่อกัน โดยมีโคปุระหรือประตูทางเข้าที่กลางด้าน และที่มุมทั้ง 4 มีหน้าบันซ้อนชั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการจำลองแบบ ดังนั้นสัดส่วนและรายละเอียดต่างๆ จึงแตกต่างจากปราสาทนครวัดในศิลปะเขมร โดยจะพบว่าส่วนยอดของปราสาทประธานและบริวารมีลักษณะคล้ายส่วนยอดของปรางค์ในศิลปะไทย

พระบรมรูป 4 รัชกาล
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระบรมรูป 4 รัชกาล

พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3 มีขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยสำริดเคลือบทองในพระราชอิริยาบถยืนตรง ทรงพระภูษาจีน มีสายรัดพระองค์และมีหัวพระปั้นเหน่งทับ ไม่ทรงฉลองพระองค์ ทรงพระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบเวียต และพระแสงดาบญี่ปุ่นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงใช้วิธีการผสมผสานรูปลักษณ์ตามคติไทยลงไปในรูปเหมือนตามคติตะวันตก คือเน้นความเหมือนจริงของพระพักตร์ แต่พระวรกายในพระราชอิริยาบถยืนนั้นยังคงความเกลี้ยงเกลากลมกลืนดูสงบนิ่งแต่แฝงความศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใสศรัทธาตามแบบพระพุทธรูป ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 นั้นเดิมหลวงเทพรจนา (พลับ) เป็นผู้ปั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ แก้ไขและเพิ่มรายละเอียด เช่น รอยย่นบนพระพักตร์ รอยยับของพระภูษาโจง และลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้ดูเหมือนจริงกว่าพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ พระพักตร์สงบนิ่งอย่างหุ่น พระขนงโก่ง มีอุณาโลมบนพระนลาฏ ทรงมงกุฎประกอบด้วยกรรเจียกจร พระพุทธรูปแสดงปางห้ามสมุทร หรือประทานอภัย 2 พระหัตถ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สวมกรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ สายรัดพระองค์มีปั้นเหน่งรูปดอกไม้แปดเหลี่ยม ด้านล่างมีสุวรรณกระถอบห้อยอยู่เบื้องหน้า มีทั้งชายไหวชายแครง ทรงทองพระบาทและฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเหนือฐานสิงห์มีสิงห์แบก ครุฑแบกและเทวดาแบกลดหลั่นกัน

พระสัมพุทธพรรณี
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสัมพุทธพรรณี

พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา พระขนงโก่ง มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง พระเนตรเหลือบต่ำ ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วตามริ้วผ้าธรรมชาติ ชายสังฆาฏิใหญ่ปลายตัดตรงยาวถึงพระนาภี ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยงเหนือขาสิงห์ตกแต่งด้วยพรรณพฤกษาและลายเครือเถาแบบฝรั่ง ผ้าทิพย์ทำเป็นรูปม่านแหวกออก มีคำจารึกอักษรมอญภาษาบาลีด้านหน้ากล่าวถึงพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้พระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ไม่ทำอุษณีษะและเริ่มมีริ้วจีวรยับย่นอย่างสมจริง ซึ่งแนวความคิดในการสร้างพระพุทธรูปเช่นนี้มีการอธิบาย 3 แนวทาง คือ 1. เพื่อให้มีลักษณะถูกต้องตามพุทธลักษณะที่ปรากฏในอรรถกถาบาลี2. เพื่อให้พระพุทธรูปมีรูปแบบที่เข้ากับวิธีคิดตามแนวสัจนิยมให้สมจริงเหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น 3. เป็นการมองพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์มากขึ้นตามบริบทสังคมที่เริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีความเป็นมนุษย์นิยมมากขึ้น