ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 33 ถึง 40 จาก 47 รายการ, 6 หน้า
พระธาตุลำปางหลวง
ลำปาง
สถาปัตยกรรมพระธาตุลำปางหลวง

พระธาตุลำปางหลวงเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐหุ้มด้วยทองจังโก องค์ประกอบสำคัญลำดับจากส่วนฐานถึงส่วนยอดได้ดังนี้ ฐานบัวสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมขนาดใหญ่ ซึ่งออกแบบคล้ายฐานบัวซ้อนกันสองชั้นแบบที่นิยมในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลาซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะของสุโขทัย องค์ระฆังกลมซึ่งตกแต่งด้วยเส้นรัดอกดุนนูน ถัดขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร

เจดีย์หลวง
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมเจดีย์หลวง

เจดีย์หลวงเป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยปูนปั้น และหุ้มด้วยจังโกรูปแบบประกอบด้วยฐานทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ส่วนบนของฐานทักษิณประดับด้วยช้างล้อม มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน แต่บันไดเหล่านี้ได้รับการปรับเปลี่ยนขั้นบันไดให้เป็นทางลาดเมื่อภายหลัง ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบ ด้านทั้งสี่มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประดับอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งประกอบด้วยแนวชั้นหลังคาลาด แต่องค์ระฆังและส่วนเหนือขึ้นไปพังทลายลงมานานแล้ว

พระธาตุดอยสุเทพ
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมพระธาตุดอยสุเทพ

พระธาตุดอยสุเทพเป็นเจดีย์ก้ออิฐถือปูนหุ้มด้วยทองจังโก องค์ประกอบสำคัญจากด้านล่างสู่ด้านบน ได้แก่ ฐานบัวในผังเพิ่มมุมที่ออกแบบจนแลดูคล้ายกับฐานบัวซ้อนกัน 2 ชั้น ถัดขึ้นไปถัดขึ้นไปเป็นชุดบัวถลาในผังสิบสองเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันรับองค์ระฆัง องค์ระฆังอยู่ในผงสิบสองเหลี่ยมเช่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร

วิหารมหาโพธิ์
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมวิหารมหาโพธิ์

วิหารมหาโพธิ์หรือวิหารเจ็ดยอดก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูนและตกแต่งด้วยปูนปั้นวิหารอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าผนังวิหารประดับด้วยงานปูนปั้นรูปเทพชุนนุม มีทั้งอิริยาบถนั่งและยืน อีกทั้งยังมีลวดลายประดับอื่นๆ อาทิ ลายดอกไม้ร่วง วิหารหลังนี้มีประตูทางเข้าสู่ห้องคูหาภายในจากด้านตะวันออก จึงถือได้ว่าวิหารหันหน้าไปทางด้านนี้ปัจจุบันภายในประดิษฐานพระพุทธรูป มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นหลังคา ด้านบนหลังคามียอดศิขรประธานขนาดใหญ่หนึ่งยอด ที่มุมทั้งสี่ของยอดศิขรใหญ่มียอดศิขรขนาดเล็ก 4 ยอด ถัดมาเบื้องหน้ามีเจดีย์ทรงกลม 2 องค์ จึงเป็นที่มีของการเรียกวิหารหลังนี้อีกชื่อหนึ่งว่า วิหารเจ็ดยอด

เจดีย์กู่เต้า
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมเจดีย์กู่เต้า

เจดีย์กู่เต้าสร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน และตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นบางส่วนถือเป็นเจดีย์รูปทรงพิเศษซึ่งน่าจะพัฒนามาจากเจดีย์ทรงปราสาทซ้อนชั้น เช่น เจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน เจดีย์กู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์วัดตะโปทาราม จังหวัดเชียงใหม่รูปแบบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอดประกอบด้วยส่วนสำคัญดังนี้ ฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังเพิ่มมุมที่ออกแบบคล้ายเป็นฐานบัวซ้อนกัน 2 ชั้นถัดขึ้นไปเป็นทรงกลมซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ชั้นล่างใหญ่ที่สุดจากนั้นค่อยๆ ลำดับเล็กลง แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำประดับอยู่ที่ทิศทั้งสี่ เฉพาะชั้นที่ 2-5 ยังเห็นการประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ถัดขึ้นไปจากทรงกลมซ้อนลดหลั่นเป็นยอดแหลม

เจดีย์วัดอุโมงค์เถรจันทร์
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดอุโมงค์เถรจันทร์

เจดีย์วัดอุโมงค์เถรจันทร์เป็นเจดีย์ทรงกลม ก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน ตกแต่งด้วยปูนปั้น รูปแบบสำคัญลำดับจากส่วนล่างไปส่วนบนมีดังนี้ ฐานกลมที่ประดับด้วยปูนปั้นรูปกลีบบัว ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้ว 3 ชั้นซ้อนลดหลั่นกัน ท้องไม้ของแต่ละชั้นตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นช่องสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลม มีเส้นรัดอกตกแต่งองค์ระฆัง ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนซึ่งตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปเทวดา ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน ปลี และฉัตร

อุโมงค์
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมอุโมงค์

ช่องอุโมงค์ก่อด้วยอิฐ เพดานมีลักษณะเป็นวงโค้ง น่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเจดีย์ ภายในอุโมงค์แยกเป็นช่องทางเดินและช่องคูหาที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและเป็นห้องปฏิบัติสมาธิ ภายในอุโมงค์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังลักษณะภาพประกอบด้วยพระพุทธรูปประทับนั่งเรียงแถวและซ้อนกันหลายแถว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้า มีภาพพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีประภามณฑล พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาใหญ่ พระรัศมีเป็นดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภีซึ่งแสดงถึงอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ชำรุดมาก

วิหารพระสิงห์
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมวิหารพระสิงห์

วิหารพระสิงห์มีรูปแบบอาคารเช่นเดียวกับวิหารล้านนารุ่นเก่า มีหลังคาซ้อน 3 ชั้นที่ด้านหน้า และ 2ชั้น ที่ด้านหลัง โดยมีตับหลังคาด้านข้าง 2 ตับ โครงสร้างหลังคาเป็นการเข้าเครื่องไม้เพื่อรับน้ำหนักเรียกว่า ม้าต่างไหม โครงสร้างหลังคาประกอบด้วยหน้าจั่ว ป้านลมหรือตัวรวย ซึ่งมีการประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ส่วนหน้าบันประกอบด้วยรวงผึ้งหรือโก่งคิ้วมีลักษณะเป็นแผงไม้ประดับที่ด้านหน้าระหว่างเสา ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพิ่มมุม มีทางเข้าด้านหน้าเป็นทางเข้าหลัก และมีทางเข้าเล็กๆที่ด้านซ้ายและขวาของอาคาร ที่ทางเข้าหลักประดับราวบันไดด้วยปูนปั้นรูปนาคและตัวมอมซึ่งเป็นสัตว์ผสมในจินตนาการ ทำหน้าที่ดูแลศาสนสถาน