ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วิหารมหาโพธิ์
คำสำคัญ : วัดเจ็ดยอด, วิหารมหาโพธิ์, ศิลปะล้านนา, วัดโพธารามมหาวิหาร
ชื่อเรียกอื่น | วิหารเจ็ดยอด |
---|---|
ชื่อหลัก | วัดโพธาราม มหาวิหาร |
ชื่ออื่น | วัดเจ็ดยอด |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ช้างเผือก |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
ภาค | ภาคเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 18.80906 Long : 98.971712 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 497019.35 N : 2079700.91 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | แกนกลางวัด |
ประวัติการสร้าง | ตำนานทางล้านนา เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ให้ข้อมูลว่าวัดมหาโพธรามแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้าติโลกราช โดยพระองค์ได้สดับธรรมบรรยายถึงอานิสงส์ของการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ จึงโปรดให้สร้างวัดมหาโพธารามขึ้นเพื่อปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อ พ.ศ. 1999 นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดให้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้นอีก คือ สร้างเวทีให้เห็นเหมือนต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ผจญมาร และสัตตมหาสถาน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2020 โปรดให้สร้างมหาวิหารขึ้นในวัดนี้ ซึ่งอาจหมายถึงอาคารที่เรียกกันในปัจจุบันว่าวิหารเจ็ดยอดก็เป็นได้ ส่วนพงศาวดารโยนกเอ่ยถึงประวัติได้อย่างสังเขปว่า พ.ศ. 1998 พระเจ้าติโลกราชโปรดให้ปลูกโพธิ์ลังกาและสร้างมหาอาราม พร้อมทั้งผูกพัทธสีมา เรียกนามอารามว่า วัดโพธารามหาวิหาร |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะวิหารมหาโพธิ์ครั้งใหญ่ระหว่าง พ.ศ.2515-2518 การดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การอนุรักษ์ลวดลายปูนปั้นและปูนฉาบฝาผนัง ต่อยอดศิขรองค์ใหญ่เหนือคอระฆังเป็นบัลลังก์ย่อมุมและปล้องไฉนทรงกลม บูรณะยอดเจดีย์ขนาดเล็กด้านทิศตะวันออกของศิขรองค์ใหญ่จากเหนือคอระฆังถึงเม็ดน้ำค้าง ในปีพ.ศ. 2535 ได้มีการอนุรักษ์ประติมากรรมโดยทำความสะอาดและเสริมความแข็งแรง |
ลักษณะทางศิลปกรรม | วิหารมหาโพธิ์หรือวิหารเจ็ดยอดก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูนและตกแต่งด้วยปูนปั้น วิหารอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าผนังวิหารประดับด้วยงานปูนปั้นรูปเทพชุนนุม มีทั้งอิริยาบถนั่งและยืน อีกทั้งยังมีลวดลายประดับอื่นๆ อาทิ ลายดอกไม้ร่วง วิหารหลังนี้มีประตูทางเข้าสู่ห้องคูหาภายในจากด้านตะวันออก จึงถือได้ว่าวิหารหันหน้าไปทางด้านนี้ปัจจุบันภายในประดิษฐานพระพุทธรูป มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นหลังคา ด้านบนหลังคามียอดศิขรประธานขนาดใหญ่หนึ่งยอด ที่มุมทั้งสี่ของยอดศิขรใหญ่มียอดศิขรขนาดเล็ก 4 ยอด ถัดมาเบื้องหน้ามีเจดีย์ทรงกลม 2 องค์ จึงเป็นที่มีของการเรียกวิหารหลังนี้อีกชื่อหนึ่งว่า วิหารเจ็ดยอด |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | วิหารเจ็ดยอดเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบพิเศษที่มีเจดีย์ทรงศิขรประดับเป็นส่วนยอดของวิหารและยังมีสัตตมหาสถานหรือสถานที่สำคัญ 7 แห่งที่แสดงพุทธประวัติตลอด 7 สัปดาห์ภายหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอยู่โดยรอบวิหาร สถาปัตยกรรมในลักษณะนี้มีอยู่เพียงแห่งเดียวในล้านนา และเป็นการจำลองแบบมาจากวิหารพุทธคยาในประเทศอินเดีย เพราะมีรูปแบบและแผนผังแบบเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าติโลกราชผู้สร้าง วัดมหาโพธารามเป็นสถานที่กระทำสังคายนาพุทธศาสนาครั้งที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2020 |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ล้านนา |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 21 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1.วิหารมหาโพธิ์ พุทธคยา ประเทศอินเดียเพราะเป็นต้นแบบให้แก่วิหารเจ็ดยอด วัดมหาโพธาราม 2.ประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดาและลวดลายประดับมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะลังกาและจีน |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-07-09 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ธวัชชัย ปุณณลิมปกุล.วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ . กรุงเทพฯ: ฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี, 2537. ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557. รัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. กรงเพทฯ : กรมศิลปากร, 2552. ศิลปากร, กรม.การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549. |