ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 20 รายการ, 3 หน้า
จิตรกรรมฝาผนัง วัดทุ่งศรีเมือง
อุบลราชธานี
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนัง วัดทุ่งศรีเมือง

จิตรกรรมฝาผนังที่หอพระพุทธบาทนี้มีการเขียนทั้งบนผนัง บานแผละ และเสา ที่ผนังเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดก พระมาลัย และพุทธประวัติ ที่บานแผละเขียนเรื่องปาจิตตกุมารชาดก จุลปทมุชาดกและสินไซ ที่เสาเขียนเรื่องสินไซ ลายเครือเถาและลายพุ่มข้าวบิณฑ์ โดยภาพจิตรกรรมแสดงเทคนิคที่น่าจะได้รับถ่ายทอดมาจากช่างหลวงในกรุงเทพมหานคร เช่น การเขียนตัวพระ-ตัวนาง การเขียนปราสาทราชวัง วรรณะสีแต่ก็มีการแทรกภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านหรือภาพกากลงไปด้วย

พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ภายในพระอุโบสถเป็นแบบยุโรปผสมแบบไทย เพดานเป็นลายเครือเถาสีทอง ที่ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนเป็นรูปดอกไม้ร่วงสีทอง ระหว่างช่องหน้าต่างเป็นรูปอุณาโลมสลับด้วยรูปอักษร “จ”ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหนือซุ้มประตูกลางด้านในเป็นรูปตราแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกว่า ตราอาร์ม ประกอบด้วยสิ่งสำคัญต่างๆ ได้แก่ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ตราจักรีบรมราชวงศ์ รูปช้างเอราวัณ ช้างเผือก และกริชคด เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฉัตร 7 ชั้น ขนาบข้างโดยมีราชสีห์และคชสีห์ประคองผนังส่วนบนระหว่างเสาคูหาเขียนภาพพุทธประวัติ ซึ่งออกแบบโดยหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ช่างหลวงคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทำด้วยสำริดกะไหล่ทองเนื้อแปด ซึ่งเป็นทองคำจากเครื่องแต่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระเยาว์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี เบื้องบนเหนือองค์พระพุทธรูปมีนพปฎลมหาเศวตฉัตรซึ่งเคยกางกั้นพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใต้ฐานชุกชีของพระพุทธอังคีรสเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7

บานประตูประดับมุกลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมบานประตูประดับมุกลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์

บานประตูพระอุโบสถบานซ้ายและขวามีลวดลายประดับมุกเป็นแบบเดียวกันคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้ง 5 ตระกูล ได้แก่1.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์2.เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์3.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า4.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก5.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยลายทั้งหมดประกอบด้วยมุกที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เรียงกันเป็นรูปดวงตรา ล้อมด้วยสายสะพายและสายสร้อยมีอักษร จ.ป.ร. ไขว้ และมีตราจักรีคั่นไปเป็นระยะ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแต่ละสำรับ นอกจากนี้ยังมีลายอื่นประดับใกล้เคียง ตามลำดับจากด้านบนดังนี้ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 1 เป็นภาพเทพนม ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 2 เป็นภาพเทพธิดาฟ้อน ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 3 เป็นภาพกินนรรำ ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 4 เป็นภาพหนุมานเหาะ ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 5 เป็นภาพอินทรชิตเหาะ พื้นหลังทั้งหมดเป็นลายกระหนก ล้อมกรอบด้วยลายประจำยามก้ามปู

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระอุโบสถมีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังประดับกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เขียนลายเทพนม หลังคาทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ด้านหน้ามีมุขเด็จ หน้าบันหลักเป็นรูปช้าง 7 เศียร ทูนพานแว่นฟ้ารองรับพระจุลมงกุฎขนาบสองข้างด้วยฉัตรที่มีราชสีห์และคชสีห์ประคอง หน้าบันมุขเด็จเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นยอดแหลมอย่างปราสาทประดับลวดลายปูนปั้นปิดทอง ด้านในบานประตูหน้าต่างเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านนอกเป็นลายดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่หนึ่งรวม 5 ดวง คือ นพรัตน์ราชวราภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์มงกุฎไทย ภายในพระอุโบสถเป็นศิลปะตะวันตกแบบโกธิค ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานประธาน คือ พระพุทธอังคีรสพระเจดีย์ มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์เช่นเดียวกับผนังพระอุโบสถ โดยมีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบพระเจดีย์ หลังคาพระระเบียงมุงกระเบื้องเคลือบสี เสาระเบียงเป็นเสากลมทำด้วยหินอ่อนประดับบัวหัวเสา พระวิหารเป็นอาคารแบบไทยประเพณี รูปแบบใกล้เคียงกับพระอุโบสถแต่มีขนาดเล็กกว่า และต่างกันที่บานประตูและบานหน้าต่างของพระวิหารไม่ใช่งานประดับมุก แต่เป็นงานไม้แกะสลักเป็นลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลงรักปิดทองและระบายสี

พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังลาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังลาราม

พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เครื่องหลังคาแบบไทยประเพณี หน้าบันประดับเครื่องลำยอง ได้แก่ ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ปิดทองประดับกระจก รอบอุโบสถมีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไม่ประดับบัวหัวเสา พนักระเบียงรอบพระอุโบสถมีช่องสี่เหลี่ยมประดับประติมากรรมหินอ่อนแกะสลักนูนต่ำเรื่องรามเกียรติ์ บานประตูพระอุโบสถด้านนอกประดับมุกเป็นลวดลายภาพตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ ด้านในเขียนลายรดน้ำรูปพัดยศพระราชาคณะ พระครูสัญญาบัตร ฐานานุกรมเปรียญทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีในกรุงและหัวเมือง จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเหนือช่องหน้าต่างเขียนเรื่องมโหสถบัณฑิต ผนังระหว่างช่องประตูหน้าต่างเขียนเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ บานหน้าต่างด้านในเขียนลายรดน้ำเป็นรูปตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ในกรุงและหัวเมืองสมัยรัชกาลที่ 3 ด้านนอกแกะสลักเป็นลายแก้วชิงดวง

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์

จิตรกรรมแบบไทยประเพณีผสมผสานกับเทคนิคการเขียนภาพแบบสมัยใหม่ ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ได้แก่ ภาพบุคคลในเรื่องที่เป็นตัวละคนสำคัญแต่งกายยืนเครื่องเช่นเดียวกับการแต่งกายในการแสดงโขน กิริยาอาการอยู่ในท่านาฏลักษณ์ มีการปิดทองคำเปลวที่เครื่องทรงของตัวละครที่สำคัญ เป็นต้น ส่วนเทคนิคการเขียนภาพแบบใหม่ที่แตกต่างจากจิตรกรรมไทยประเพณี ได้แก่ การกำหนดเส้นขอบฟ้าและวางระยะของวัตถุในภาพทำให้เกิดมิติ การเขียนภาพเหมือนของอาคารสถานที่ที่มีอยู่จริง เช่น พระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง และการเขียนภาพทิวทัศน์ต่างๆ อย่างเหมือนจริง นอกจากนี้ ยังมีการสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตชาววัง ชาวบ้าน และอารมณ์ขันต่างๆ ผ่านตัวละครประกอบของเรื่อง จิตรกรรมฝาผนังมีทั้งสิ้น 178 ห้องภาพ ใต้ภาพมีโคลงเรื่องรามเกียรติ์ประกอบ รวมทั้งสิ้น 224 บท

พระพุทธรูปท่ามกลางพระอสีติมหาสาวก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปท่ามกลางพระอสีติมหาสาวก

พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิบนแท่นฐานบัวเตี้ยๆ แวดล้อมด้วยพระอสีติมหาสาวกจำนวน 80 รูป ซึ่งอยู่ในท่านั่งพับเพียบ พนมมือ นั่งเรียงเป็นแถวซ้ายขวาทางด้านหน้า และล้อมด้านหลังพระพุทธรูป พุทธลักษณะเป็นแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 กล่าวคือ ไม่มีอุษณีษะ โดยมีเพียงขมวดพระเกศาและต่อด้วยพระรัศมีเปลว ขนาดพระวรกายมีความสมจริงใกล้เคียงกับบุคคลโดยทั่วไป ใบพระกรรณหดสั้นคล้ายใบหูมนุษย์มากขึ้น ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ และมีสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่พาดผ่านพระอังสาซ้าย พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างวางพาดบนพระเพลาอย่างเป็นธรรมชาติอันหมายถึงการแสดงพระธรรมเทศนาโดยไม่แสดงวิตรรกมุทรา ระบายสีจีวรด้วยสีเหลือง และระบายสีพระพักตร์และพระฉวีด้วยสีเนื้อ พระขนงและพระเนตรเป็นสีดำตามแนวคิดแบบสมจริง รูปพระสาวกอยู่ในท่านั่งพนมมือ ครองจีวรห่มเฉียงระบายสีเหลือง โดยมีสังฆาฏิแผ่นใหญ่พาดทับบ่าซ้ายเช่นเดียวกันทั้งหมด ศีรษะโล้นเรียบระบายด้วยสีดำ แต่พระอสีติมหาสาวกทั้ง 80 รูปก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป เช่น สีผิว รายละเอียดบนใบหน้า รอยยับของจีวร

พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม

รูปแบบพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน เครื่องหลังคาแบบไทยประเพณี ประดับด้วยเครื่องลำยอง ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ หน้าบันประดับด้วยงานไม้แกะสลัก ปิดทอง ประดับกระจกสี โดยรอบอาคารใช้เสาพาไลสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ทึบตัน ไม่ประดับคันทวยและบัวหัวเสา รองรับน้ำหนักซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 พระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานสิงห์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซึ่งมีซุ้มประตูทางเข้า 8 แห่ง และเกยสำหรับโปรยทาน 8 แห่งซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่พบในพระอุโบสถแห่งอื่น รูปแบบซุ้มประตูเป็นแบบตะวันตกผสมผสานกับศิลปะไทย